โจรขโมยเวลา ปัญหาที่คนทำงานคาดไม่ถึง โดย อนิรุทธ์ ตุลสุข

อันที่จริง เมื่อโลกของเราเข้าสู่ยุคดิจิทัล เทคโนโลยีต่างๆ ที่ถูกคิดขึ้นมาทำให้ คนเราสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต หรือ โปรแกรมการบริหารจัดการ ฯลฯ
สารพัดสิ่งเหล่านี้ ควรช่วยให้คนทำงานในแต่ละวันได้รวดเร็วจนเวลาเหลือเฟือสำหรับ Work Life Balance ได้สบาย
แต่ทำไมหลายคน ยังรู้สึกว่า “เวลาไม่เคยพอ” เหมือนเวลาในแต่ละวันหายไปไหนหมด ทั้งที่รู้สึกว่าทำงานตลอดเวลา
บางคนถึงกับลิสรายการสิ่งที่ต้องทำก็แล้ว ตั้งใจว่าวันนี้จะทำให้เสร็จ แต่สุดท้ายก็ทำได้ไม่ถึงครึ่งของที่ตั้งใจไว้
นั่นเป็นเพราะว่า คุณกำลังถูก “โจรขโมยเวลา” เอาเวลาแต่ละวันของคุณไปแล้วล่ะครับ
ในยุคก่อนดิจิทัล เจ้า “โจรขโมยเวลา” นี้ มักจะปลอมตัวมาในรูปแบบของงานต่างๆ ที่คุณต้องทำในแต่ละวัน และคอยใช้อุบายหลอกล่อให้คุณตกเป็นเหยื่อโดยไม่เอะใจว่า “กำลังถูกขโมยเวลาอย่างแยบยล”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
แตกต่างอย่างเข้าใจ เมื่อใช้ Empathy ในการทำงาน โดย อนิรุทธ์ ตุลสุข
อีเมล์ คือ หัวขโมยที่พบบ่อยที่สุด ที่คนทำงานมักจะเจอเป็นลำดับแรกๆ ครับ แน่นอนว่าการเช็คอีเมล์ตอนเช้า อาจยังไม่ใช่วายร้ายที่แท้จริง เพราะ หัวขโมยตัวจริง คือ การแจ้งเตือนให้เราต้องเปิดอีเมล์อยู่ตลอดเวลา จนรบกวนสมาธิในการทำงานของคุณ จนต้องมาเริ่มต้นทำงานแบบนับหนึ่งใหม่เสมอ
การประชุม เป็นอีกหนึ่งจอมโจรที่คนทำงานต้องพบบ่อยๆ โดยเฉพาะ การประชุมที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเกิดจากการไม่วางระบบการเตรียมตัวล่วงหน้า Agenda ที่ไม่ชัดเจน หรือ ไม่ได้สรุปผลลัพธ์ที่ต้องการหลังจบประชุม
อีกรูปแบบการประชุมที่ร้ายไม่แพ้กัน คือ การประชุมแบบ FYI (For Your Infomation) นั่นคือ เข้าไปทำไมก็ไม่รู้ เหมือนต้องการแค่สักขีพยาน ว่า วันนี้มีการประชุมเกิดขึ้น
งานฝาก เป็นรูปแบบหนึ่งของหัวขโมยเวลาที่มาในแบบงานบุญ แต่หากเราทำหน้าบอกบุญไม่รับ ปฏิเสธไปก็อาจจะดูเป็นคนแล้งน้ำใจ ไม่ช่วยเหลือ ไม่ให้ความร่วมมือในการทำงาน จนทำลายความสัมพันธ์ได้ หลายคนจึงต้องรับมาทั้งๆ ที่ไม่มีเวลาจะทำงานของตัวเอง
ปัจจุบันในยุคดิจิทัล โจรขโมยเวลาอัพเกรดแล้วครับ ความสร้างสรรค์ในการการลักทรัพย์ (เวลา) ล้ำกว่าเดิมเยอะ ซึ่งเป็นผลพวงจากเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ที่เรียกว่า สมาร์ทโฟน นั่นเอง
ซึ่งหัวโจกที่มาเป็นลำดับแรก คือ
โซเชียลมีเดีย ทั้งหลายที่ล่อลวงให้คุณรู้สึกว่าต้องทันสมัย ไม่อยากตกข่าว เพราะจะคุยกับคนอื่นเขาไม่รู้เรื่อง (FOMO) หลายคนกระสับกระส่าย กดเข้าดู ทุกๆ นาที ไถฟีดอีกหลายนาที และอ่านเนื้อหาอีกหลายสิบนาที (หลังจากนี้ จะอ่านคอมเม้นต์อีก จนนานกว่าเนื้อหาซะด้วย) แน่นอนว่า หลายแอพก็คูณเวลาเข้าไปอีกครับ
แอพแชท อันนี้ มีทั้งโจรแบบงานราษฎร์และงานหลวงครับ ในงานราษฎร์ หรือการแชทส่วนตัวกับเพื่อนฝูง ครอบครัวนั้น ทุกท่านคงเห็นเวลาที่สูญเสียไปของแต่ละกลุ่มแชทชัดเจนอยู่แล้ว
แต่ที่อยากจะชี้ให้เห็นเพิ่ม คือ การแชทคุยงานบางอย่าง อาจไม่เหมาะสมกับประเด็นการสนทนาต่างหากที่อาจขโมยเวลาของคุณไปอย่างน่าเสียดาย เพราะหลายๆ ครั้ง การพิมพ์โต้ตอบกันไปมาอาจไม่ชัดเจน ลดประสิทธิภาพในการสื่อสาร และทำให้ไม่เกิดความต่อเนื่องในการสนทนาได้ จนทำให้ใช้เวลาในการประสานงานมากกว่าที่ควรเป็นครับ
โจรขโมยเวลาแบบดิจิทัลมีอีกมากมาย เช่น แอพช้อปปิ้ง ดูหนัง ฯลฯ แต่ส่วนใหญ่เทคนิคการชิงเวลา ก็คล้ายๆ กัน คือ การส่งการเตือน ให้คุณว่อกแว่ก หากเคลิ้มๆ หน่อย ก็เข้าแอพไปดูยาวๆ รู้สึกตัวอีกที ก็ถูกชิงเวลาไปเสียแล้ว
ตอนนี้ พอเห็นไหมครับว่า เวลาทำงานของเรา ถูกโจรตัวไหนขโมยไปบ้าง?
เวลาที่สูญเสียไปกับโจรขโมยเวลาแต่ละตัว อาจดูเล็กน้อย แต่เมื่อทุกตัวผสมโรงกัน มันจะยิ่งส่งผลกระทบต่อทั้งตัวคุณและงานของคุณมากโขเลย เช่น อาจทำให้คุณยุ่งทั้งวัน แต่ไม่ได้ผลลัพธ์ในงาน คุณภาพงานลดลง เกิดความเครียดสะสม เบิร์นเอ้าท์ ภาพลักษณ์เสียหายจากการทำงานล่าช้า และอาจลามไปปถึงความก้าวหน้าในอาชีพได้
ดังนั้น ผมแนะนำว่า ให้เริ่มจับ “โจรขโมยเวลา” ด่วนครับ โดยเริ่มจากตัวหลักๆ ก่อน แล้วค่อยขยายผลไปยังตัวอื่นๆ
ผมอาจยังให้คำแนะนำแบบลงลึกในโพสนี้ไม่ได้ แต่แนวทางกว้างๆ ก็คือ ขอให้มองสิ่งที่สำคัญที่ต้องทำในแต่ละวันเป็นหลัก ลิสมันออกมา พยายามกันเวลา เพื่อจดจ่อและปกป้องงานที่สำคัญเหล่านั้นไว้ให้ได้ บางครั้งอาจต้องหักห้ามใจตัวเอง หรือ ปฏิเสธคนอื่นๆ บ้าง ก็ตาม
อ้อ! หากเป็นโจรขโมยเวลาทางสมาร์ทโฟนนั้น ก็ปิดการตั้งเตือนเสียด้วย
แล้วคุณก็จะทวงเวลาทำงานกลับมาเป็นของคุณได้ ไม่มากก็น้อยครับ