‘รัฐบาล’ ลดกดดัน ‘แบงก์ชาติ’ เปิดทาง ‘พิชัย’ คุย ‘เศรษฐพุฒิ’ เคลื่อนเศรษฐกิจ
คีย์แมนระดับสูงพรรคเพื่อไทย ส่งสัญญาณรัฐบาลและคนในพรรคลดแรงกดดันแบงก์ชาติ เปิดทางให้ "พิชัย" หารือกับผู้ว่าการธปท.ได้ มั่นใจการเปิดประเด็นให้สังคมเห็นปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาในการเคลื่อนนโยบายว่า ธปท.มีส่วนสำคัญได้ผลแล้ว ส่วนอนาคตต้องดูการทำงานร่วมกันต่อไป
เป็นเวลาไล่เลี่ยกันระหว่างการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ กับการที่คนจากฟากฝั่งรัฐบาล รวมทั้งพรรคเพื่อไทยออกมากดดันธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ต่อเนื่อง ตั้งแต่เรื่องของการเรียกร้องให้ลดดอกเบี้ย ไปจนถึงการที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แพรทองธาร ชินวัตร กล่าวบนเวทีปราศรัยของพรรคเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่ากฎหมายที่ให้ความเป็นอิสระกับแบงก์ชาตินั้นเป็นอุปสรรคกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะทำให้นโยบายการคลังทำหน้าที่หนักมากเกินไปจนการขาดดุลงบประมาณเกิดขึ้นต่อเนื่อง
จากเหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การออกมาวิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามอย่างกว้างขวางว่ารัฐบาลจะเข้าไปลดความเป็นอิสระของแบงก์ชาติหรือไม่ ควบคู่ไปกับการมีกระแสข่าวออกมาถึงการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย การแยกหน่วยงานกำกับสถาบันการเงินออกมาจากการดูแลของ ธปท. การโยกหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน. Financial Institutions Development Fund (FIDF) ที่อยู่ในบัญชีหนี้สาธารณะไปอยู่ในบัญชีของ ธปท.เพื่อลดหนี้สาธารณะและเปิดพื้นที่ทางการคลัง
พลิกเกมให้ "พิชัย" คุยแบงก์ชาติแทนนายกฯ
จะเห็นว่าประเด็นต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและร้อนแรงภายในระยะเวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์ และค่อยๆซาลงหลังจากที่มีการปรับ ครม.เศรษฐา 2 พร้อมกับการเข้ามาของ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ที่เข้ามาเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล และเดินหน้านัดหมายหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธินาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเบื้องต้นนัดหมายกันวันที่ 16 พ.ค.นี้
ทั้งนี้แม้จะมีคำถามมาตลอดว่า “รอยร้าว” ระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติจะสามารถผสานกันได้หรือไม่ ผู้สื่อข่าวมีการสอบถามไปยังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยตรงซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ยอมรับว่าขณะนี้ข่องทางในการพูดคุยกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับ ผู้ว่าฯธปท.นั้นมีข้อจำกัดเพราะว่าผู้ว่าฯธปท.ระบุว่าหากมีอะไรต้องพูดคุยให้ผ่านกระทรวงการคลัง และตนเองก็จะติดตามงานผ่านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และการพพูดคุยระหว่างรัฐบาลกับ ธปท.ก็เป็นหน้าที่ที่นายพิชัยรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังจะต้องพูดคุยกัน
คีย์แมนระดับสูง สั่งลดโทนกดดันแบงก์ชาติ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าขณะนี้มีสัญญาณที่ชัดเจนจากแกนนำระดับสูงในพรรคเพื่อไทยที่สั่งการให้ทุกคนในพรรคลดการกดดัน ธปท.ลงเพื่อเปิดโอกาสให้การพูดคุยกันระหว่าง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กับผู้ว่าฯธปท.เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด
ซึ่งแกนนำในพรรคเพื่อไทยมองว่าที่ผ่านมาการที่คนในพรรคเพื่อไทยทั้งที่มีตำแหน่งในรัฐบาล และไม่ได้มีตำแหน่งในรัฐบาลออกมากดดัน ธปท.ทั้งเรื่องการลดดอกเบี้ย รวมทั้งการตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระของ ธปท.นั้นถือว่าได้ผลดีแล้ว ซึ่งแม้จะทำให้กระแสสังคมตีกลับมาที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยบ้างว่าไปล้วงลูกและพยายามแทรกแซงแบงก์ชาติแต่สิ่งที่พรรคทำสำเร็จก็คือเปิดประเด็นให้คนในสังคมเห็นว่าปัญหาทางเศรษฐกิจในขณะนี้เกิดจาก ธปท.ด้วย เช่นเดียวกับการที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงินคนละ 10,000 บาทต้องล่าช้าออกไปนั้นก็ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย หากแต่เนื่องมาจากมีการคัดค้านขององค์กรต่างๆ ซึ่ง ธปท.ก็เป็นองค์กรหนึ่งที่มีการคัดค้านโครงการนี้ โดยเฉพาะการคัดค้านครั้งล่าสุดที่ส่งเอกสารมายัง ครม.และมีการแนะนำให้รัฐบาลเอาเงิน 5 แสนล้านบาทไปลงทุนโครงการอื่นๆที่มีประโยชน์กับประเทศมากกว่า
“ตอนนี้ถือว่าทำได้สำเร็จแล้วในการที่ชี้ให้สังคมเห็นว่าปัญหาอยู่ตรงไหน อะไรที่เป็นอุปสรรคกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ตอนนี้ไม่จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์แบบนี้แล้ว เพราะสังคมเข้าใจปัญหามากขึ้น มีคำสั่งมาจากผู้ใหญ่ในพรรคว่าให้หยุดพูด หยุดวิจารณ์แบงก์ชาติชั่วคราวก่อน และผู้ใหญ่มีการกำชับเป็นรายบุคคล เพราะรัฐมนตรีคลังได้นัดหารือกับผู้ว่าแบงก์ชาติอันนี้มีหลายเรื่องที่ต้องคุยกันเรื่องเศรษฐกิจจริงๆ หากมีแรงกดดันจากการเมืองเหมือนที่ผ่านมาคงยากที่จะมีการหารือกันได้ ”
ขณะที่ในส่วนของการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ธปท.นั้นแม้จะมีบางส่วนในพรรคที่เสนอเรื่องนี้แล้วเห็นด้วยที่จะทำแต่ส่วนใหญ่ก็มองว่ายังไม่ถึงเวลา เพราะยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่พรรคต้องเดินหน้าเพื่อตอบโจทย์ทางการเมืองและนโยบายเร่งด่วนของพรรค ตอนนี้แนวทางระหว่างรัฐบาลและ ธปท.จึงเน้นการพูดคุยกับ ธปท.ก่อน เกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และนโยบายเศรษฐกิจที่จะขับเคลื่อนไปด้วยกัน
ส่วนในอนาคต “รัฐบาล” จะหันมากดดัน “แบงก์ชาติ” อีกหรือไม่ คงบอกล่วงหน้าได้ยาก ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา นอกจากการนัดหารือกันในครั้งนี้ระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กับผู้ว่าฯธปท.ในครั้งนี้แล้ว ยังต้องดูการทำงานร่วมกันระหว่างสองฝ่ายที่ต้องมีการประชุมในบอร์ดเศรษฐกิจร่วมกันอีกหลายคณะไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ชุดใหญ่ รวมทั้งการกำหนดกรอบเป้าหมายและประมาณการอัตราเงินเฟ้อร่วมกัน ซึ่งต้องจับตาการทำงานร่วมกันต่อไปว่าจะราบรื่น หรือสะดุดเหมือน10 เดือนที่ผ่านมา