Google-L'Oreal ให้สิทธิคอนเสิร์ตฟรี ดูแลสัตว์เลี้ยง ดึงคนกลับเข้าบริษัท

Google-L'Oreal ให้สิทธิคอนเสิร์ตฟรี ดูแลสัตว์เลี้ยง ดึงคนกลับเข้าบริษัท

ปี 2024 บริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกใช้กลยุทธ์ใหม่ดึงพนักงานกลับเข้าออฟฟิศ Google-L'Oreal ให้สิทธิพิเศษทั้งคอนเสิร์ตฟรี-ช่วยดูแลสัตว์เลี้ยง ขณะที่ Amazon-Tesla ใช้ไม้แข็ง หากไม่กลับเข้าออฟฟิศจะตัดสิทธิเลื่อนขั้น

เมื่อเร็วๆ นี้ สื่อนอกอย่าง Fortune ได้เผยแพร่รายงานของสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจ Glassdoor Research ผู้ให้บริการข้อมูลเชิงลึกด้านตลาดแรงงานระดับโลก ที่ชี้ถึง “เทรนด์และแนวโน้มสถานที่ทำงานปี 2024” ไว้ว่า ในปีหน้าบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกยังคงใช้กลยุทธ์ต่างๆ ในการดึงพนักงานให้กลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศอย่างหนัก 

เนื่องจากบริษัทอยากให้เกิดการทำงานแบบเห็นหน้ากัน เพื่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ (ผู้เชี่ยวชาญมองว่าตอนนี้ Work From Home เริ่มลดประสิทธิภาพงาน) รวมถึงเกิดการใช้ทรัพยากรในออฟฟิศอย่างคุ้มค่า 

 

  • ใช้ทั้งไม้อ่อนไม้แข็ง บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างดึงพนักงานกลับเข้าออฟฟิศต่อเนื่องในปี 2024

บางบริษัทก็ใช้ “กลยุทธ์ไม้อ่อน” ที่เน้นให้สิทธิพิเศษเพื่อดึงดูดใจพนักงาน ยกตัวอย่างเช่น Google ได้ให้สิทธิ์พนักงานที่กลับเข้าออฟฟิศสามารถชมคอนเสิร์ตได้ฟรี! บริการเครื่องเล่นพินบอลฟรี! ไปพร้อมๆ กับการบริการอาหารฟรี! ในออฟฟิศด้วย ด้าน L'Oreal ก็มอบสิทธิพิเศษแก่พนักงานที่กลับเข้าออฟฟิศสามารถใช้บริการช่วยดูแลสัตว์เลี้ยงได้ในราคาถูกเพียง 5 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง 

แต่ขณะเดียวกันบางบริษัทก็ใช้ “กลยุทธ์ไม้แข็ง” เน้นการใช้บทลงโทษ ยกตัวอย่างเช่น Amazon และ Tesla ประกาศว่าหากพนักงานคนใดไม่กลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศก็จะตัดสิทธิ์การโปรโมตเลื่อนขั้น รวมถึงอาจติดป้ายติดตามไว้ที่รายชื่อของผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง เป็นต้น

ด้านทีมวิจัยจาก Glassdoor Research มองว่า สถานการณ์ในลักษณะดังกล่าวจะยังเกิดขึ้นกับตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่องในปี 2024 ทั้งนี้ มีข้อแนะนำถึงเหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ว่า น่าจะลองใช้แนวทางการดึงพนักงานกลับเข้าออฟฟิศอย่างระมัดระวังมากขึ้นในปีหน้า โดยผสมผสานทั้งแบบไม้แข็งและไม้อ่อนเข้าด้วยกัน เลือกใช้ให้เหมาะกับพนักงานแต่ละกลุ่ม เพื่อรักษาพนักงานที่มีคุณค่าเอาไว้ด้วยการช่วยดูแลจิตใจพวกเขาให้ดีที่สุด

 

  • เปิดกลยุทธ์ Unspoken Rules ช่วยให้พนักงานกลับเข้าบริษัทอย่างเต็มใจ

หนึ่งในวิธีการผสมผสานกลยุทธ์แบบไม้แข็งและไม้อ่อนเข้าด้วยกัน คือ ใช้วิธีการที่เรียกว่า "Unspoken Rules" หรือการให้เหตุผลดีๆ ของการกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศเชิงรูปแบบที่จับต้องได้ (ไม่มีบอกไว้ในคู่มือบริษัท) ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากทุกคนทำงานจากระยะไกล เช่น

- ช่วยส่งเสริมให้เกิดการปรึกษาแบบเห็นหน้ากัน
- การยกย่องการมีส่วนร่วมโดยสมัครใจในกิจกรรมทางสังคมของพนักงาน
- การเสริมอำนาจให้พนักงานระดับ “ผู้จัดการ” ให้พวกเขามีโอกาสก้าวหน้าในสายงานมากยิ่งขึ้น
- ช่วยส่งเสริมคนรุ่นใหม่อายุน้อยได้มีโอกาสฝึกทักษะและก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ อาจต้องแจ้งพนักงานอย่างตรงไปตรงมาว่าการยืนกรานที่จะทำงานจากระยะไกลแบบ 100% อาจหมายถึงการเสี่ยงต่อการ “เลิกจ้าง” ทั้งในองค์กรภายในประเทศ และในองค์กรต่างประเทศด้วย เพราะไม่ว่าทางใดทางหนึ่งมันย่อมส่งผลต่อ Productivity โดยรวมของบริษัท

 

  • การดึงพนักงานกลับเข้าออฟฟิศ อาจไม่เวิร์กกับทุกองค์กร ผู้นำต้องปรับให้เหมาะสมกับบริษัทของตน

อย่างไรก็ตามทีมวิจัย Glassdoor Research รายงานอีกด้วยว่า หลายๆ บริษัทที่ยังคงหาวิธีสร้างสมดุลระหว่าง “ข้อดีของการทำงานแบบเจอหน้ากัน” กับ “พนักงานที่อยากทำงานจากระยะไกล” ทำให้ในปีหน้า 2024 หลายบริษัทจะยังคงทดลองหาวิธีต่างๆ มาใช้จัดการให้เหมาะสม และมันอาจจะยังไม่มีข้อยุติ

อารอน เทอร์ราซาส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Glassdoor บอกกับ Fortune ว่า การสั่งให้พนักงานกลับเข้าทำงานในออฟฟิศ อาจไม่ได้เหมาะกับสถานการณ์ของทุกบริษัท

ขณะนี้บริษัทขนาดใหญ่ได้ผลักดันให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศมาได้สักพักแล้ว ซึ่งปีหน้าก็ยังจะเห็นภาพแบบนี้ต่อเนื่อง แต่การทำงานจากระยะไกลยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ไม่ว่าพวกเขาจะเพิ่งก่อตั้งใหม่หรือก่อตั้งมานานแล้วก็ตาม