เราควร "เกษียณ" เมื่อไหร่? เมื่อการยึดติดกับงานอาจไม่ใช่คำตอบของชีวิต

เราควร "เกษียณ" เมื่อไหร่? เมื่อการยึดติดกับงานอาจไม่ใช่คำตอบของชีวิต

วัยทำงานควร "เกษียณอายุ" เมื่อไรจึงจะเหมาะสม? หากเกษียณช้าไป (ต่ออายุงาน) ก็อาจเสียดายเวลาที่จะได้พักและใช้ชีวิตบั้นปลาย แต่ถ้าเกษียณเร็วไป (Early retirement) ก็อาจว่างมากไปจนซึมเศร้า

Key Points: 

  • ผลสำรวจจาก Gallup ชี้ว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เกษียณช้าลง จากปี 1991 อายุเกษียณเฉลี่ยอยู่ที่ 57 ปี แต่ในปี 2023 พบว่าผู้คนเกษียณอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 62 ปี
  • เหตุผลที่ทำให้คนยุคนี้เกษียณช้าลง คือ ไม่มีเหตุผลดีพอให้หยุดทำงานและยังมีภาระทางการเงิน บางคนมีเงินเก็บเพียงพอแล้วแต่ก็ยังรู้สึกว่าตัดขาดจากหน้าที่การงานไม่ได้
  • นักจิตวิทยา เผย “การยึดติดกับงานตลอดไปไม่ใช่คำตอบของชีวิต” วัยใกล้เกษียณควรปรับวิถีชีวิตเพื่อค้นหาอิสรภาพและการพักผ่อนในชีวิตบ้าง ไม่ใช่ยึดติดจนเกิด Identity Crisis

ใครที่ทำงานมานานหลายปีจนกลายเป็นรุ่นซีเนียร์ หัวหน้า ผู้นำ หรือเป็นผู้บริหารระดับสูง เมื่อทำงานต่อไปสักระยะจนถึงวัยใกล้เกษียณในช่วง 50-55 ปีขึ้นไป หลายคนคงกำลังชั่งใจว่าจะต่ออายุงานและยังคงทำงานต่อไป หรือว่าควรเกษียณอายุงานเสียที?

เรเชล ไฟน์เซก รายงานผ่าน The Wall Street Journal ไว้ว่า ปัจจุบันวัยทำงานรุ่นซีเนียร์หลายคนกำลังสับสนว่า ตนเองควรจะ “เกษียณอายุงาน” ตอนไหนกันแน่? ยกตัวอย่างกรณีของ “เคธี เดวิส” พนักงานให้บริการทางการเงินของบริษัทแห่งหนึ่งในสหรัฐ ที่มีอายุ 67 ปีแล้ว แต่เธอก็ยังคงทำงานอยู่ 

ด้วยเหตุผลว่า หน้าที่การงานคือทุกอย่างของชีวิต แม้อีกใจหนึ่งก็รู้สึกอยากพักและหยุดทำงานเสียที (เพื่อนวัยเดียวกันต่างก็เกษียณหรือไม่ก็ลาโลกไปแล้ว) แต่แม้ว่าจะพยายามโน้มน้าวตัวเองให้ออกจากระบบงาน แต่ก็รู้สึกว่าส่วนหนึ่งของชีวิตกำลังจะหายไป เธอจึงยังตัดสินใจไม่ได้เสียที 

 

  • คนยุคนี้เกษียณช้าลง เพราะมีภาระทางการเงิน ขณะที่บางคนเกิด "วิกฤติการดำรงอยู่ของชีวิต" จนกลัวการใช้ชีวิตที่ไม่มีงานให้ทำ

ขณะที่มีผลสำรวจจาก Gallup ชี้ว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ขยายอายุงานนานขึ้นกว่าที่เคย จากเดิมในปี 1991 อายุเกษียณของวัยทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 57 ปี แต่พอมาถึงปี 2023 พบว่าวัยทำงานเกษียณอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 62 ปี โดยเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้คนยุคนี้เกษียณช้าลงก็คือ ไม่มีเหตุผลดีพอให้หยุดทำงานและยังคงมีภาระทางการเงิน (ออกจากงานแล้วจะเอาอะไรกิน?) บางคนก็ไม่มีเงินเก็บเพียงพอที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณในวัย 60-65 ปีเป็นต้นไป

ส่วนบางคนแม้จะมีเงินเก็บเพียงพอสำหรับใช้ในวัยเกษียณแล้ว แต่การที่จะตัดสินใจ “จบชีวิตการทำงาน” ก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ เพราะบางกรณีอาจนำมาซึ่ง “วิกฤติการดำรงอยู่ (Existential Crisis)” เกิดภาวะความขัดแย้งภายใน รู้สึกว่าชีวิตขาดความหมาย เครียด วิตกกังวล สิ้นหวัง และภาวะซึมเศร้า

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่วัยทำงานรุ่นซีเนียร์หลายคนจะยังสับสนเรื่องช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเกษียณอายุ เพราะหากเกษียณช้าไป (ต่ออายุงาน) ก็อาจรู้สึกเสียดายเวลาที่จะได้พักและใช้ชีวิตบั้นปลาย แต่ถ้าเกษียณเร็วไป (Early retirement) ก็อาจรู้สึกหลงทางกับชีวิตใหม่หลังเกษียณที่ไม่มีงานให้ทำ

เราควร \"เกษียณ\" เมื่อไหร่? เมื่อการยึดติดกับงานอาจไม่ใช่คำตอบของชีวิต

 

  • นักจิตวิทยา ชี้ การยึดติดกับงานตลอดไปไม่ใช่คำตอบของชีวิต

หลุยส์ เอช. พรีมาเวรา ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ Touro University ผู้ซึ่งศึกษาเรื่องการเกษียณอายุระบุว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ “วัยซีเนียร์” (บางคนเป็นผู้บริหารระดับสูง) ทำใจเกษียณอายุงานไม่ได้สักที เป็นเพราะหน้าที่การงาน-ตำแหน่งงาน เป็นตัวกำหนดว่าคุณเป็นใครในสังคม หากเกษียณออกไปแล้ว คุณก็จะแค่ “เคยเป็น” คนในตำแหน่งนั้น 

คนทำงานในยุคหนึ่งมักเชื่อว่า “งานเป็นรากฐานของชีวิต” และการสิ้นสุดของงานก็เตือนว่าจุดจบของทุกสิ่งก็กำลังมา เช่น การเผชิญกับความแก่ ความเจ็บป่วย และการจากลาโลกนี้ไป แต่พอมาถึงยุคสมัยนี้ ผู้คนมีอายุขัยที่ยืนยาวมากขึ้น เมื่อคำนวณอายุคนและอายุงานแล้วพบว่า ตอนนี้เราอาจขยายอายุงานได้มากขึ้นถึง 3 ทศวรรษ และนั่นสามารถเปลี่ยนแปลงเป้าหมายวัยเกษียณไปจากเดิมทั้งในด้านการเงินและจิตใจ 

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์หลุยส์ ย้ำว่า “การยึดติดกับงานของคุณตลอดไปไม่ใช่คำตอบของชีวิต” วัยใกล้เกษียณควรทดลองและปรับวิถีชีวิตเพื่อค้นหาช่วงเวลาที่จะได้มีอิสรภาพและการพักผ่อนในชีวิตบ้าง ไม่ใช่ยึดติดจนเกิด Identity Crisis กับตัวเอง (ความสงสัยใคร่รู้ในบทบาทของตัวเองในสังคม สงสัยว่าเราคือใคร เกิดมาทำไม เกิดมาเพื่ออะไร) 

เราควร \"เกษียณ\" เมื่อไหร่? เมื่อการยึดติดกับงานอาจไม่ใช่คำตอบของชีวิต

 

  • ข้อแนะนำก่อนจะตัดสินใจ "เกษียณ" ต้องสำรวจความพร้อมตนเองก่อน

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์หลุยส์ยังมีข้อแนะนำให้กับคนทำงานรุ่นซีเนียร์ในการสำรวจจิตใจของตนเองว่า พร้อมหรือยังที่จะเกษียณอายุ? โดยมีวิธีง่ายๆ ดังนี้ 

1. ก่อนที่จะตัดสินใจเกษียณอายุงาน ให้ลองทำกิจกรรมใหม่ๆ เช่น เล่นกีฬาที่ชอบ, การศึกษาธรรมระยะสั้น, ทำงานอาสาสมัคร ฯลฯ เพื่อดูว่าอะไรทำให้คุณรู้สึกอยากเกษียณจากงานประจำ เนื่องจากมีงานวิจัยบางชิ้นชี้ว่า การมีชั่วโมงว่างมากเกินไปในแต่ละวันอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้

2. ลองค่อยๆ ก้าวเข้าสู่บทบาทใหม่หรือการแสวงหาความคิดสร้างสรรค์และพูดคุยกับครอบครัวของคุณ (กรณีที่มีคู่ชีวิตอายุใกล้เคียงกัน) ในบางครั้งการเกษียณพร้อมกับคู่ของคุณ จะช่วยให้คุณสามารถกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันในการใช้ชีวิตหลังเกษียณได้

3. ทำงานในบทบาทหน้าที่นั้นๆ ให้เต็มที่ที่สุด แล้ววันหนึ่งคุณจะพร้อมเริ่มต้นบทต่อไปของชีวิตได้ด้วยตัวเอง

เราควร \"เกษียณ\" เมื่อไหร่? เมื่อการยึดติดกับงานอาจไม่ใช่คำตอบของชีวิต

 

  • ไม่ว่าจะ "เกษียณอายุ" ช้าหรือเร็วก็ตาม ขอแค่ให้เหมาะกับชีวิตตนเอง

ขณะที่ ดร.เทเรซา แอมมาบิล ศาสตราจารย์จาก Harvard Business School และนักวิจัยด้านจิตวิทยาและสังคมของการเปลี่ยนผ่านหลังเกษียณ ก็ให้คำแนะนำในทิศทางเดียวกันว่า ก่อนที่จะตัดสินใจเกษียณอายุงาน ให้ลองกำหนดตัวตนของคุณใหม่ เริ่มต้นด้วยการเขียน 6 คำที่อธิบายตัวคุณได้ดีที่สุด เช่น คุณเป็นปู่ เป็นผู้นำ ชอบเข้าสังคม ฯลฯ จากนั้นให้พิจารณาว่าหลังการเกษียณไปแล้วมันจะเปลี่ยนแปลงคำอธิบายตัวตนเหล่านั้นอย่างไร

“ควรทำซ้ำแบบฝึกหัดดังกล่าวทุกๆ 2-3 เดือน เพื่อดูว่าความรู้สึกของตัวเองเริ่มเปลี่ยนไปหรือไม่? หากการเป็นพนักงานขายคือตัวตนที่คุณหวงแหนที่สุด คุณอาจยังไม่พร้อมที่จะเกษียณอายุ” ดร.เทเรซา กล่าว 

จากนั้นให้ร่าง “แผนที่ชีวิต” โดยระบุถึงผู้คนและกิจกรรมในแวดวงต่างๆ ในแต่ละวันของคุณ (ลองคิดถึงเรื่องจิตวิญญาณ ครอบครัว การออกกำลังกาย และการงาน มีเรื่องใดบ้างที่ขัดแย้งกัน?) ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่อ่อนโยนที่จะทำให้คนเราตระหนักได้ว่า ชีวิตนี้เหมาะสมกับเราและเป็นชีวิตที่ดีที่สุดสำหรับเรา ไม่ว่าตอนนี้จะมีอายุ 35 ปีหรือ 45 ปีก็ตาม 

เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้นและเรามีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาในชีวิตที่นอกเหนือจากงาน เช่น มีหลานที่อยากดูแล หรือไม่สามารถขึ้นเหนือล่องใต้เพื่อคุยงานได้บ่อยเหมือนเดิมเพราะร่างกายเสื่อมลงตามวัย เป็นต้น ดังนั้น การปรับวิถีชีวิตให้เหมาะสมตามช่วงวัยและเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง (ไม่ว่าจะเกษียณอายุเร็วหรือช้า) ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว