ขุดทองต่างแดน!เรื่องเล่าจากชีวิตจริง ‘แรงงานไทยในอิสราเอล’

ขุดทองต่างแดน!เรื่องเล่าจากชีวิตจริง ‘แรงงานไทยในอิสราเอล’

‘ขุดทอง’ เป็นคำที่เปรียบเปรยถึงคนไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ เพื่อแสวงหาโชคที่มีค่าตอบแทนเป็นสิ่งล่อใจ เพราะเมื่ออยู่เมืองไทยรายจ่ายเยอะกว่ารายได้ แถมมีหนี้สินและภาระให้ต้องรับผิดชอบ

Keypoint:

  • เปิดชีวิตแรงงานคนไทยที่เดินทางไปเป็นเกษตรกรในประเทศอิสราเอลมากกว่าที่จะเลือกเป็นเกษตรกรในประเทศไทย ทั้งที่ไทยเป็นเมืองแห่งเกษตรกร 
  • รายได้ เงินเดือนที่สูงกว่าไทย 3-4 เท่า เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนไทยไปขุดทองที่ต่างแดน แม้จะต้องเสี่ยง แต่หากมีโอกาสก็จะลองอีกครั้ง
  • ไปทำงาน ใช้ชีวิตต่างประเทศไม่ใช่เรื่องสนุก ทุกคนต่างไปเพื่อรายได้ที่เพิ่มขึ้น ปลดหนี้ ช่วยเหลือครอบครัวของตนเองให้สุขสบาย อยากให้ช่วยดูแลแรงงานไทยที่บาดเจ็บ ครอบครัวของผู้สูญเสีย 

ในแต่ละปี จะมีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศหลายหมื่นคน ช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 – มีนาคม 2566) กรมการจัดหางานมีการอนุญาตให้แรงงานไทย 29,395 คน เดินทางไปทำงานต่างประเทศ ส่งเงินกลับประเทศผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย มูลค่ารวมกว่า 120,070 ล้านบาท  

ปี 2566 ประเทศไทยมีเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศโดยภาครัฐ ใน 3 ประเทศหลัก คือ สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) อิสราเอล และญี่ปุ่น รวม 11,300 คน แบ่งเป็นเกาหลีใต้ เป้าหมาย 4,400 คน อิสราเอล เป้าหมาย 6,500 คน และญี่ปุ่น เป้าหมาย 400 คน  โดยวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงานในประเทศ และนำเงินตราเข้าประเทศได้จำนวนมาก

ขณะที่เป้าหมายหลักของแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ เนื่องจากเงินเดือนที่มากกว่าทำงานในประเทศ 3-4 เท่า อีกทั้งสวัสดิการขณะทำงานที่นั้นก็ดีกว่า แม้จะไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองแต่ด้วยเทคโนโลยี การขนส่งทำให้การใช้ชีวิตไม่ได้ยากลำบากเหมือนเช่นในอดีต จึงเป็นหนทางของคนไทยหลายคนที่ยอมเสี่ยงไปขุดทองที่ต่างประเทศ

ขุดทองต่างแดน!เรื่องเล่าจากชีวิตจริง ‘แรงงานไทยในอิสราเอล’

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

คลัง มอบ ธ.ก.ส. หามาตรการช่วยเหลือแรงงานไทยกลับจากอิสราเอล พักหนี้-ลดดอก

รมว.แรงงาน เผยความคืบหน้าช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอลกลับบ้าน

 

กลับไทย ไม่อยากทิ้งชีวิตไว้ต่างแดน

ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ ‘นายธนศักดิ์ จันทร์ดำ’ชาวหนองบัวลำภู อายุ 47 ปี แรงงานไทยที่กลับจากประเทศอิสราเอล เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น  เล่าว่าการเดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาได้มีโอกาสไปทำงานในต่างประเทศ แต่เป็นครั้งแรกที่เขาต้องกลับมาก่อนสัญญาที่กำหนด เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่เขาทำงานอย่างมาก

การสู้รบกันครั้งนี้ ไม่มีการแจ้งล่วงหน้าว่าเหตุจะเกิดขึ้นตอนไหน จะมีการยิงกัน หรือระเบิดที่ไหน เมื่อเจอเหตุการณ์ดังกล่าว และดูแล้วไม่น่าจะเหมือนการสู้รบอย่างที่ผ่านมา ก็กรอกแบบฟอร์มกลับประเทศไทยทันที

“ผมเริ่มทำงานในต่างประเทศตั้งแต่อายุ 20 กว่าปี ซึ่งตอนนั้นเมื่อเรียนจบสายช่างเชื่อมโลหะ และเห็นญาติพี่น้องเขาไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน ได้เงินเดือนสูง เราเป็นเด็กจบสายช่างได้ไปหางานทำในไทย พบว่า เงินเดือนต่ำมาก ได้ไม่กี่พันบาท แต่ถ้าไปไต้หวัน ได้เงินเดือนหลายหมื่นบาท  จึงไปสมัครผ่านกรมการจัดหางาน เพื่อขอไปทำงานที่ไต้หวัน เสียค่าดำเนินการต่างๆ ไปหลายหมื่นบาท และเมื่อได้ไปทำงานโรงเหล็กที่ไต้หวัน ก็ทำมาตลอดเป็นระยะเวลา 10 กว่าปี จนอายุ 36 ปี ได้กลับไทยมาอีกครั้ง”นายธนศักดิ์ กล่าว

ขุดทองต่างแดน!เรื่องเล่าจากชีวิตจริง ‘แรงงานไทยในอิสราเอล’

พอกลับมาอยู่เมืองไทย ‘นายธนศักดิ์’ ได้ช่วยงานครอบครัว และทำอาหารกลางวันส่งโรงเรียน รวมถึงทำไร่ทำนาตามที่ทางที่มี แต่ด้วยความต้องการหาประสบการณ์เพิ่ม และต้องการรายได้ที่สูงขึ้น ได้ไปลองค้นหางานในต่างประเทศอีกครั้ง ซึ่งขณะนั้น ทางกรมการจัดหางาน เปิดรับสมัครไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล ได้ตัดสินใจสมัครทันที

 

ควรไปทำงานต่างแดนอย่างถูกกฎหมาย

นายธนศักดิ์ เล่าต่อว่า ได้ทำไปงานที่ประเทศอิสราเอล ประมาณอายุ 30 ปลายๆ ทำงานในโรงงานคอยแพคผลไม้ แพคสินค้าการเกษตร เพื่อการจัดส่ง ซึ่งได้เงินเดือนประมาณ 45000-55000 บาท จะเก็บไว้ใช้เพียงไม่กี่บาท และที่เหลือจะจัดส่งให้ที่บ้าน เพราะที่นั่นก็ใช้ชีวิตเหมือนกับอยู่เมืองไทย มีสินค้า ร้านค้าไทยขาย ทำให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น

อีกทั้งโชคดีที่ได้นายจ้างที่มีอะไรก็คอยแจ้ง ประสาน สื่อสารกันตลอด ทำให้ใช้ชีวิตได้ง่ายเหมือนเมืองไทย ส่วนภาษา ก็พอสื่อสารมีทักษะพื้นที่ ต้องปรับตัวแต่ประเทศเหล่านี้มักจะไม่เน้นการใช้ภาษา จะดูจากการทำงาน อยากคุยอะไรก็จะมีล่ามให้

“หลังจากนี้คงไม่ได้กลับไปแล้ว เพราะด้วยอายุ และจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เราไม่เคยเจอมาก่อน จุดที่มีระเบิดใกล้ที่พัก ที่ทำงานของเรามาก เราคงอยู่ไทยและช่วยครอบครัวทำอาหารกลางวันส่งโรงเรียน การไปทำงานต่างประเทศ ผมมองว่าเป็นหนทางที่ช่วยให้คนๆ หนึ่งมีรายได้ที่มากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี ปลดหนี้ และสร้างที่ทำมาหากินได้ แต่การจะไปประเทศไหน ไปทำงานที่ไหน สิ่งสำคัญ ควรไปอย่างถูกกฎหมาย เพราะหากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เราสามารถติดต่อไปยังสถานกงสุลหรือมีล่าม มีบริษัท มีนายจ้าง และมีประเทศที่ดูแลอย่างชัดเจน ไม่ต้องหลบซ่อน” นายธนศักดิ์ กล่าว

ขุดทองต่างแดน!เรื่องเล่าจากชีวิตจริง ‘แรงงานไทยในอิสราเอล’

เพิ่มรายได้ ปลดหนี้ สร้างโอกาส

เช่นเดียวกับ นายสมพร คาระบุตร ชาวหนองบัวลำภู อายุ 38 ปี ได้เดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล เล่าว่า เป็นครั้งแรกที่ได้ไปทำงานต่างแดน และไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล ซึ่งมันเป็นจังหวะของชีวิต ตอนนั้นตนเปิดอู่ซ่อมรถ มีรายได้พออยู่พอกิน แต่ไม่พอเก็บ แถมพอเกิดโควิด-19 รายจ่ายมากกว่ารายได้ เริ่มมีหนี้สินมากขึ้น และอยากไปหาประสบการณ์ ช่องทางสร้างรายได้ใหม่ๆ เพราะถ้าอยู่ที่เดิม ใช้ชีวิตแบบเดิมๆ จะลำบากมากขึ้น จึงตัดสินใจค้นหางาน และกรมการจัดหางานก็เปิดรับแรงงานไปประเทศอิสราเอล

“ผมไปเป็นเกษตรกร ปลูกกล้วย อะโวคาโด ถั่วลิสง ที่ประเทศอิสราเอล มันเหมือนตอนอยู่ไทย ทำเกษตรมันเหนื่อย แต่รายได้แตกต่างกันมาก ทำงานอิสราเอล รายได้เดือนละ  56,000-57,000 บาท (ทั้งนี้ขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยนเงิน)ส่วนการใช้ชีวิตก็ไม่ได้แตกต่างจากตอนอยู่ไทย เพราะมีสินค้าไทย ร้านค้าไทยมาขาย การสื่อสารก็ใช้แอปพลิเคชั่นที่นายจ้างอิสราเอลกำหนดไว้ เขาจะพูดภาษาฮิบรู ซึ่งเราพอจะเข้าใจ และสื่อสารได้บ้างจากการใช้ชีวิตประจำวัน ให้ล่ามสอน และให้ล่ามแปลให้”นายสมพร กล่าว

ตอนอยู่เมืองไทย ไม่ได้ลำบากมาก แต่อยากมีเงินเก็บ มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ‘นายสมพร’ เล่าต่อไปว่า เหตุผลหลักที่เลือกไปทำงานต่างแดน เพราะรายได้สูงกว่า สวัสดิการในบางเรื่องดีกว่า แต่ตอนอยู่ไทยแม้จะมีอู่ซ่อมรถของตัวเอง รายได้กลับน้อยมาก แต่เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น และพื้นที่ที่ทำงาน ที่อาศัยอยู่เป็นโซนเสี่ยง ตนอยู่ตรงจุดที่เขาระเบิด สู้รบกันวันแรกของเหตุการณ์ หมู่บ้านต่างๆ ที่ใกล้ๆ ถูกระเบิดไปหมดแล้ว เหลืออยู่หมู่บ้านเดียว

“พอเกิดเหตุความรุนแรง ผมรีบติดต่อไปยังนายจ้าง บริษัทที่ดูแล  และสถานกงสุลไทย ซึ่งตอนนั้น พวกคนไทยด้วยกันต้องดิ้นรนดูแลกันเอง ล่ามก็ไม่ได้โทรหา ต้องโทรหาสถานกงสุลอย่างเดียว แต่สถานกงสุลไทยอาจจะไม่ได้รับรายงานหรือข้อมูลอะไร ก็ไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือ ผมก็กรอกแบบฟอร์มขอกลับไทยเป็นกลุ่มแรกๆ ตามที่มีคนมาแจก โดยโควตากลับไทยล็อตแรกได้ 15 คน แต่โควตาจากคนในหมู่บ้านผมได้ 7 คน จากแรงงานทั้งหมด 19 คน แต่หลายคนก็อยู่ต่อไม่ได้ขอกลับ แต่ผมรู้สึกกังวล และกลัว เพราะมันใกล้ที่เราอยู่มากแม้จะมีทหารเต็มไปหมดก็ตาม” นายสมพร กล่าว

หลังจาก ‘นายสมพร’ กลับไทย แรงงานที่เหลืออยู่ต้องย้ายไปหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งมีทั้งหมู่บ้านที่เป็นจุดประสานงาน แจ้งเหตุ และหมู่บ้านที่แรงงานอาจจะต้องดูแลกันเอง เนื่องจากแต่ละหมู่บ้านจะแตกต่างกัน แล้วแต่เขาจะอพยพแรงงานไปไหน และการต่อสู้ครั้งนี้ เป้าหมายของเขา คือ เขาเจอใครเขายิงหมด เขาไม่สนว่าเราจะเป็นคนชาติไหน มาจากประเทศอะไร

ขุดทองต่างแดน!เรื่องเล่าจากชีวิตจริง ‘แรงงานไทยในอิสราเอล’

ติดตามข่าวสาร ติดต่อนายจ้าง บริษัทที่ดูแล

นายสมพร กล่าวอีกว่า สิ่งที่แรงงานทุกคนต้องมี คือการติดตามข่าวสารต่างๆ ในประเทศนั้นๆ และต้องติดต่อกับนายจ้าง หรือคนไทย หรือบริษัทที่ดูแลเรา เพราะบางครั้งเวลาการติดต่อไปสถานกงสุลไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างตอนจะออกมา เพื่อนๆ แรงงานหลายคนบอกว่าติดต่อกงสุลไปไม่ได้แล้ว ไม่มีใครรับ และไม่มีใครดูแล ทุกคนต้องเตรียมพร้อม ดูแลตัวเอง ดูสถานการณ์ในประเทศ ในพื้นที่ที่เราจะไปทำงาน

“เมื่อกลับมาถึงไทย การเยียวยาที่ได้รับตอนนี้ มีเพียงเงิน 15,000 บาท และเงินเดือนก้อนล่าสุดที่ทางนายจ้างจ่ายมาให้ ส่วนการดูแลอื่นๆ นั้นยังไม่มีอะไร ขณะที่ทางอิสราเอล มีเพียงบริษัท ที่ดูแลเรา แจ้งมาว่าจะเคลียร์เงินเดือนที่ไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลให้ หลังจากสงครามจบ แต่ไม่ได้บอกว่าจะให้ตอนไหน สิ่งที่ทำตอนนี้ คงต้องดูแลตัวเอง และหางานทำ ซึ่งกรมการจัดหางานบอกให้ไปสมัครผ่านเว็บจัดหางานไว้ ก็สมัครไว้แล้ว”นายสมพร กล่าว

ไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล ไม่ยุ่งยาก

การจัดส่งแรงงานไปในแต่ละประเทศนั้น จะมีกฎระเบียบ กฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งประเทศอิสราเอล จะดูเพียงสุขภาพ ไม่ได้ดูวุฒิการศึกษา ไม่ต้องกังวลเรื่องภาษา เพราะเขาไม่ได้สนใจเรื่องเหล่านี้ อีกอย่างไปประเทศอิสราเอล ไปทำการเกษตร จึงอาจจะไม่ต้องใช้วุฒิ หรือภาษา แต่ถ้าไปทำงานที่ประเทศ ไต้หวัน เกาหลี หรือประเทศที่เน้นการใช้ภาษา อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากต้องไปเรียนภาษาเพิ่ม

เวลามาสมัครงานไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล การสัมภาษณ์จะต้องขึ้นมาที่ก.แรงงาน ซึ่งกว่าจะได้ไปทำงานต่างประเทศ หากเป็นคนต่างจังหวัดอาจต้องมาเสียค่าที่พัก ค่าเดินทางในกรุงเทพฯ เพิ่มเติม ดังนั้น ก่อนจะไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล ‘นายสมพร’ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด ไปประมาณ 2 แสนกว่าบาท แต่มันก็คุ้มหากได้ไปทำงาน เพราะผ่านไปครึ่งปีก็ปลดหนี้ได้เกินครึ่งที่มี แถมไม่ยุ่งยาก

ขุดทองต่างแดน!เรื่องเล่าจากชีวิตจริง ‘แรงงานไทยในอิสราเอล’

มาตรการเยียวยาแรงงานไทยทำงานในอิสราเอล

สำหรับมาตรการในการช่วยเหลือมีดังนี้ 

  • เงินเยียวยาจากกองทุนช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ คนละ 15,000 บาท 
  • กรณีที่มีการรับรองจากแพทย์ว่าทุพพลภาพ จะได้รับการสงเคราะห์ เป็นจำนวน 30,000 บาท
  • กรณีเสียชีวิตในต่างประเทศ จะสงเคราะห์จำนวน 40,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดการศพในต่าง ประเทศเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาทด้วย
  • นอกจากนี้ประเทศอิสราเอลยังมีสวัสดิการตามกฎหมาย (ประกันการทำงาน + นายจ้างจ่าย) กรณีบาดเจ็บ/ พิการตามการรับรองของแพทย์ แบ่งเป็น
  • บาดเจ็บ 10-19% ได้รับเงินก้อนเดียว ประมาณ 1,440,000 บาท
  • บาดเจ็บเกิน 20% ได้รับเงินเดือนทุกเดือน จนกว่าจะเสียชีวิต
  • โดยประเมินจากความสูญเสีย กรณีเสียชีวิต ภรรยาและบุตร ได้รับเงินเดือนทุกเดือน จนกว่าภรรยาจะแต่งงานใหม่ และบุตรอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ (ภรรยาเป็นเงิน 34,560 บาทต่อเดือน /บุตร เป็นเงิน 5,760-11,520 บาทต่อเดือน)
  • กรมการจัดหางานพร้อมช่วยหางานใหม่ทั้งในประเทศที่มีตำแหน่งว่างกว่า 4 แสนอัตรา หรืองานในต่างประเทศ เช่นภาคการเกษตรที่กระทรวงแรงงานเพิ่มทำเอ็มโอยูกับเมืองอินชอบประเทศเกาหลีใต้ รับคนงานกว่า 8 พันคน หรือหากจะฝึกทักษะอาชีพทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็พร้อมให้เข้าร่วมโครงการ

แรงงานคนไทยอยากกลับไปทำงานในอิสราเอล เมื่อสงครามยุติ ก็สามารถกลับไปได้ โดยไม่ต้องขอวีซ่าใหม่ เนื่องจากสำนักงานประชากรและตรวจคนเข้าเมือง หรือ PIBA ของอิสราเอล แจ้งว่า แรงงานไทยในภาคเกษตรกรรมของอิสราเอลที่มีอายุงานไม่เกิน 5 ปี 3 เดือน และเดินทางกลับประเทศไทยในช่วงสงครามครั้งนี้ สามารถเดินทางกลับไปทำงานในอิสราเอลได้โดยไม่ต้องขอ re-entry visa

"สิ่งที่อยากขอให้ช่วยเหลือแรงงานไทยที่กลับมาจากประเทศอิสราเอล ในตอนนี้ คงไม่ขออะไรมาก เพราะเข้าใจข้อจำกัดของภาครัฐ แต่อยากให้ช่วยดูแลแรงงานที่บาดเจ็บ และครอบครัวของแรงงานที่เสียชีวิต ทุกคนที่ยอมให้คนในครอบครัวไปทำงานต่างแดน ต่างรู้ข้อเสีย แต่การที่เขาเลือกไปก็เพื่อต้องการให้ครอบครัวมีรายได้ที่ดีขึ้น จุนเจือครอบครัว ปลดหนี้ และอยากให้ครอบครัวสุขสบาย"นายสมพร กล่าว

ขุดทองต่างแดน!เรื่องเล่าจากชีวิตจริง ‘แรงงานไทยในอิสราเอล’

เช็กคุณสมบัติ ไปทำเกษตรกรรม @ อิสราเอล

กรมการจัดหางานประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อสุ่มคัดเลือกให้ไปทำงานภาคเกษตรในรัฐอิสราเอลภายใต้โครงการ 'ความร่วมมือไทย-อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน' (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers: TIC) ครั้งที่ 16 ในตำแหน่ง คนงานภาคเกษตร โดยมีคุณสมบัติ ดังนี้

1. มีสัญชาติไทย

2. เพศชาย และต้องพ้นภาระการรับราชการทหาร ตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร

3. เกิดระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน 2525 ถึง วันที่ 25 พฤศจิกายน 2541

4. ไม่มีประวัติอาชญากรรม

5. ไม่มีคู่สมรส บุตร หรือบิดา และมารดาพำนักอยู่ในประเทศอิสราเอล

6. ไม่เคยทำงานในประเทศอิสราเอล

  ทั้งนี้ รัฐบาลอิสราเอลมีประวัติของคนงานที่เคยได้รับการจ้างงานในรัฐอิสราเอล และหรือกรณีที่ตรวจพบว่าผู้สมัครมีคู่สมรสที่จดทะเบียนหรืออยู่กินกันฉันท์สามี - ภรรยา หรือมีบุตร บิดาหรือมารดาพำนักอยู่ในประเทศอิสราเอล ผู้สมัครจะถูกส่งตัวกลับประเทศไทยทันที ซึ่งเป็นไปตามข้อกฎหมายแห่งรัฐอิสราเอล โดยไม่สามารถเรียกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานในรัฐอิสราเอลคืนได้

7. มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและมีสุขภาพจิตที่พร้อมสำหรับการทำงาน  และสมัครใจไปทำงานภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล ตาไม่บอดสี และไม่เป็นโรคต่างๆ ได้แก่ วัณโรค โรคไวรัสตับอักเสบบีหรือซี โรคเอดส์ หนองใน ซิฟิลิส โรคเบาหวาน และไม่มีนิ้วมือกุด คดงอ ขาด ด้วน หรือ เกิน

8. ไม่เสพสารเสพติด (หากทราบว่ามีการเสพสารเสพติดไม่ว่าผู้สมัครจะอยู่ระหว่างกระบวนการขั้นตอนใด ก่อนเดินทางออกจากประเทศไทย ผู้สมัครผู้นั้นจะขาดคุณสมบัติและถูกถอนชื่อออกจากโครงการฯ ทันที โดยไม่สามารถเรียกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานในรัฐอิสราเอลคืนได้)

9. ต้องมีประสบการณ์ทำงานภาคการเกษตร (ปลูกพืช/เลี้ยงสัตว์)

โดยคนหางานที่ประสงค์จะสมัคร สามารถสมัครได้ทางอินเตอร์เน็ต มีรายละเอียดดังนี้

1. ให้ผู้สมัครเข้าไปที่เว็บไซต์ https://toea.doe.go.th ลงทะเบียนระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรอกข้อมูลเพื่อลงทะเบียนคนหางาน

2. รูปถ่ายสีครึ่งตัวพื้นหลังสีฟ้า หน้าตรง ไม่สวมหมวกและไม่สวมแว่นตา ขนาด 2 นิ้ว โดยถ่ายครั้งเดียวกันและถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 1 รูป

3. สำเนาหนังสือเดินทาง (ถ้ามี) โดยถ่ายสำเนาเท่าขนาดจริง จำนวน 1 ฉบับ

4. บัตรประจำตัวประชาชนที่ยังไม่หมดอายุ จำนวน 1 ฉบับ

5. สำเนาสูติบัตร หรือ สำเนาทะเบียนบ้าน ณ ปีที่เกิดของผู้สมัคร หรือ ท.ร.1/ก หรือ หลักฐานแสดงผลการเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (ป.05) ที่มีคำนำหน้าชื่อเป็นเด็กชาย (ด.ช.) จำนวน 1 ฉบับ

6. สำเนาใบเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล จำนวน 1 ฉบับ (ถ้ามี)

7. สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ฉบับ

8. สำเนาหลักฐานการพ้นภาระการรับราชการทหาร ได้แก่ หนังสือสำคัญติดสมุดประจำตัว ทหารกองหนุนประเภทที่ 1 (สด.8) หรือใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ (สด.43) หรือหนังสือรับรองการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร จำนวน 1 ฉบับ

9. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของภรรยา ที่จดทะเบียนหรืออยู่กินกันฉันท์สามี – ภรรยา จำนวน 1 ฉบับ

10. สำเนาเอกสารแสดงสถานภาพการสมรสทั้งด้านหน้าและด้านหลัง (ถ้ามี) เช่น ใบสำคัญการสมรส หรือ ใบสำคัญการหย่า จำนวน 1 ฉบับ

11. สำเนาใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ รถบรรทุก จำนวน 1 ฉบับ (ถ้ามี)

12. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของบุคคลที่ติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉิน จำนวน 1 ฉบับ

13. เตรียมข้อมูลบิดา มารดา ภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อใช้ในการกรอกใบสมัคร

ขุดทองต่างแดน!เรื่องเล่าจากชีวิตจริง ‘แรงงานไทยในอิสราเอล’

อ้างอิง :กรมการจัดหางาน