อนาคตของ Work From Home | ธราธร รัตนนฤมิตศร

อนาคตของ Work From Home | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ในปีนี้ หลายบริษัทได้ยกเลิกนโยบายการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) เพื่อให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศมากขึ้น แม้แต่บริษัท Zoom แพลตฟอร์มการสื่อสารสำหรับการทำงานทางไกลชั้นนำ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็เรียกพนักงานให้กลับมาเช้าออฟฟิศอีกครั้ง

องค์กรต่างๆ ใช้แนวคิด WFH (Work From Home) เป็นแนวทางหลักในที่ทำงานยุคใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ภายใต้สถานการณ์บังคับในวิกฤติที่เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องให้พนักงานทำงาน WFH และประชุมกันผ่านแพลตฟอร์มการสื่อสารทางไกล

งานวิจัยในช่วงต้นระบุว่า WFH เป็นทางเลือกที่มีประสิทธิผลมากกว่าการทำงานที่ออฟฟิศ ซึ่งเป็นสาเหตุสนับสนุนให้การทำงานจากที่บ้านเป็นความปกติใหม่ของสังคม เช่น การศึกษาวิจัยของ Natalia Emanuel และ Emma Harrington ชี้ให้เห็นถึงผลิตภาพที่เพิ่มขึ้น 7.6% สำหรับคนทำงานจากที่บ้าน

ตัวเลขดังกล่าวจากงานวิจัยกระตุ้นให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Apple, Google และ Meta และอื่นๆ ยอมรับรูปแบบการทำงานทางไกล

อย่างไรก็ตาม การวิจัยที่ได้รับการปรับปรุงในปัจจุบันเริ่มให้ภาพที่แตกต่างจากเดิม งานวิจัยที่ได้วิเคราะห์ข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้นบ่งชี้ว่า ประสิทธิภาพในการทำงาน WFH ลดลง 4% พนักงานต้องรับสายมากขึ้น แต่คุณภาพของบริการลดลง ทำให้ต้องพักสายนานขึ้นและโทรกลับมากขึ้น

นักวิจัย MIT พบว่าพนักงานป้อนข้อมูลที่บ้านในอินเดียมีประสิทธิผลน้อยกว่าพนักงานที่ทำงานในสำนักงานถึง 18% การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งจาก University of Chicago ชี้ให้เห็นถึงการลดลงของประสิทธิภาพการทำงาน 19% ของผู้ปฏิบัติงานด้านไอทีจากระยะไกล

สาเหตุของปัญหาด้านประสิทธิภาพเหล่านี้มีหลายแง่มุม โดยเฉพาะความยากลำบากในการทำงานร่วมกัน คนที่ทำงาน WFH มักจะพลาดความช่วยเหลือในทันทีที่จะได้รับจากเพื่อนร่วมงานในสำนักงาน,

WFH มีส่วนขัดขวางการเติบโตของทุนมนุษย์ของคนทำงาน คำติชมหรือข้อแนะนำ (feedback) ในหมู่เพื่อนร่วมงานลดลง ทำให้ขาดการทบทวนตนเองและปรับปรุงงานอย่างสม่ำเสมอเมื่อทำงานจากที่บ้าน นอกจากนี้ คนทำงานที่ทำงานในสำนักงานมักได้รับทักษะเร็วกว่าคนทำงาน WFH

ก่อนเกิดโรคระบาด การศึกษาโดย Nicholas Bloom แห่ง Stanford ในปี 2556 ได้เน้นย้ำถึงประโยชน์ของการทำงานจากระยะไกล โดยพบว่าประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น 13% (อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มักเกิดจากชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานขึ้น) 

การทำงานจากระยะไกลยังมีข้อได้เปรียบที่ไม่อาจปฏิเสธได้ คือทำให้พนักงานส่วนหนึ่งพึงพอใจมากขึ้น เนื่องจากเวลาเดินทางที่ลดลง ความยืดหยุ่นที่เพิ่มขึ้น และความสามารถในการโฟกัสกับงานบางอย่างได้ดีขึ้นจากที่บ้าน สะท้อนให้เห็นจากแบบสำรวจที่พนักงานแสดงความเต็มใจที่จะลดค่าจ้างลงส่วนหนึ่งเพื่อแลกทำงานจากที่บ้านแทน

ขณะที่ความน่าสนใจของ WFH ยังคงมีอยู่ แต่การวิจัยแสดงให้เห็นชัดเจนว่าอนาคตการทำงานจะไปในรูปแบบไฮบริดที่มีความโน้มเอียงไปทางการทำงานในสำนักงานในสัดส่วนมากกว่าการทำงานจากที่บ้าน 

แม้ว่าการทำงานจากที่บ้านจะมอบความยืดหยุ่นและความสมดุลในชีวิตการทำงานที่ดีขึ้น แต่ก็มาพร้อมกับความท้าทายโดยธรรมชาติ เส้นแบ่งที่พร่ามัวระหว่างพื้นที่ส่วนบุคคลและพื้นที่ทำงาน อาจนำไปสู่ความเหนื่อยหน่ายของคนทำงาน

โดยพนักงานที่ทำงาน WFH มักจะรู้สึกว่าพวกเขาทำงานอยู่ตลอดเวลา หากไม่มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีแบบแผน มีสิ่งรบกวนที่บ้าน ตั้งแต่ความรับผิดชอบในครอบครัวไปจนถึงงานบ้านต่างๆ ก็สามารถลดสมาธิและผลงานลงได้

เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม สำนักงานจึงไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่สำหรับทำงานเท่านั้น แต่เป็นที่พื้นที่สำหรับการสร้างความผูกพัน การทำงานร่วมกัน และการได้รับประโยชน์จากการระดมความคิดที่เกิดขึ้นเองระหว่างวัน การไม่มีปฏิสัมพันธ์เหล่านี้ในสภาพแวดล้อมระยะไกล อาจนำไปสู่ความรู้สึกโดดเดี่ยวและความสามัคคีในทีมที่ลดลง

แพลตฟอร์มการทำงานทางไกลอย่าง Zoom และ Teams ยังไม่สามารถเลียนแบบการโต้ตอบแบบตัวต่อตัวได้ทั้งหมด ปัญหาทางเทคนิคอื่นๆ ที่พนักงานอาจเผชิญ เช่น การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียรหรือความผิดพลาดของซอฟต์แวร์ อาจทำให้ขั้นตอนการทำงานหยุดชะงักได้

นอกจากนี้ สำหรับพนักงานใหม่ การแยกตัวไปทำงานที่บ้านอาจทำให้การเข้าสู่กระบวนการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรไม่ราบรื่นนัก จึงอาจรู้สึกแยกตัวออกจากทีมและขาดการฝึกการทำงานแบบ on the job ทำให้ช่วงการเรียนรู้งานนานขึ้น รวมถึงขาดการฝึกทักษะการสื่อสารและการเข้าสังคม ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญสูงในยุคปัญญาประดิษฐ์

เมื่อโควิดจบลงไป องค์กรล้วนพยายามดึงจุดแข็งของการทำงานที่สำนักงานและการทำงานจากที่บ้าน หลายบริษัทหันไปใช้รูปแบบไฮบริด เพื่อให้พนักงานได้รับสิ่งที่ดีที่สุดจากทั้งสองรูปแบบ

ประเด็นสำคัญคือ ผลิตภาพของงานไม่ได้เป็นเพียงการสร้างผลผลิตในเชิงปริมาณเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคุณภาพของงาน นวัตกรรมที่เกิดขึ้น ความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน ประสบการณ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน และการเติบโตของทุนมนุษย์ในระยะยาว 

ดังนั้น อนาคตจึงหมายถึงการหาสมดุลระหว่างการทำงานสองรูปแบบให้เหมาะสมกับลักษณะของงาน องค์กรและสังคมโดยรวม.