3S กับโครงการ OAP Award | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

3S กับโครงการ OAP Award | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ในเรื่องของการกำกับดูแลการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างปลอดภัยนั้น เราจะพูดกันด้วยหลัก “3S” ซึ่งถูกพูดพถึงครั้งแรกในการประชุมกลุ่ม G8 (กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก) ที่เมือง Toyako จังหวัด Hokkaido เมื่อเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ. 2008

จุดประสงค์หลักเพื่อให้ทุกประเทศที่ใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพิจารณาองค์ประกอบสามด้านที่อาจมีผลต่อความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

อันประกอบด้วย  (1) ความปลอดภัย (Safety)  (2) ความมั่นคงปลอดภัย (Security)  และ(3) การพิทักษ์ความปลอดภัย (Safeguards) 

หลักการ 3S นี้ถือ เป็นพื้นฐานสำคัญ ก่อนที่จะสามารถใช้งานพลังงานนิวเคลียร์ได้อย่าง “ปลอดภัย” และมั่นใจได้ว่าเป็นไปในทาง “สันติ”

 

ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ (Safety) คือการดำเนินการที่เหมาะสมและได้มาตรฐานเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์

รวมทั้งป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและหลีกเลี่ยงผลกระทบร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อปกป้องผู้ปฏิบัติงาน ประชาชน และสิ่งแวดล้อมจากการได้รับรังสีมากเกินความจำเป็น

โดยแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก คือความปลอดภัยในการออกแบบและดำเนินการของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และรังสี และความปลอดภัยในการครอบครองหรือใช้วัสดุนิวเคลียร์หรือวัสดุกัมมันตรังสี

3S กับโครงการ OAP Award | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

เหตุการณ์ร้ายแรงที่เคยเกิดขึ้นจากการขาดการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ที่ดี คืออุบัติเหตุนิวเคลียร์เกาะทรีไมล์ในประเทศสหรัฐอเมริกา (Three Mile Island incident, 1979)

ภัยภิบัตินิวเคลียร์เชอร์โนบิลในประเทศยูเครน (Chernobyl disaster, 1986) และภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชีในประเทศญี่ปุ่น (Fukushima Daiichi disaster, 2011) ซึ่งสร้างความเสียหายแก่สิ่งมีชีวิตและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล

ความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ (Security)  คือการมีมาตรการป้องกัน (Prevention) ตรวจจับ (Detection) และตอบสนอง (Response) ต่อการกระทำผิดต่างๆ

เช่น การขโมย การทำลายล้าง การเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต ลักลอบเคลื่อนย้าย หรือการกระทำอันไม่พึงประสงค์อื่นใดที่เกี่ยวข้องกับวัสดุนิวเคลียร  วัสดุกัมมันตรังสี หรือสถานประกอบการทางนิวเคลียร์

ความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ในปัจจุบันเป็นประเด็นที่ประเทศส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ  โดยเฉพาะกรณีหลังจากเหตุการณ์ก่อการร้าย 9-11 ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ.2001 ทำให้มีการตื่นตัวกันทั่วโลกเรื่องการป้องกันภัยจากการก่อการร้ายด้วยวัสดุนิวเคลียร์ ซึ่งหลักๆ แล้ว

ภัยที่มีผลต่อความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ คือ

(1) การลอบขโมยวัสดุนิวเคลียร์ 

(2) ระเบิดนิวเคลียร์ซึ่งผลิตมาจากวัสดุนิวเคลียร์ที่ถูกลอบขโมย 

(3) ระเบิดแพร่กระจายสารกัมมันตรังสี (dirty bomb) 

(4) การก่อวินาศกรรมต่อสถานประกอบการทางนิวเคลียร์หรือในระหว่างการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสี

การพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ (Safeguards)  คือการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ขยายการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ด้วยการควบคุมการใช้งานวัสดุนิวเคลียร์และอุปกรณ์ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ 
 

การดำเนินการหลักในปัจจุบัน คือการทำข้อตกลงระหว่าง IAEA และประประเทศสมาชิก  เพื่อให้สามารถยืนยันได้ว่าประเทศที่มีการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ

จะไม่นำวัสดุนิวเคลียร์ที่มีอยู่ไปพัฒนาต่อเพื่อใช้เป็นอาวุธในทางทหาร  ซึ่งเป็นการให้สิทธิของ IAEA เพื่อตรวจสอบว่าประเทศนั้นๆ ได้ทำตามข้อตกลงหรือไม่

จุดประสงค์หลักทางเทคนิค  จึงเป็นความสามารถในการตรวจจับการนำวัสดุนิวเคลียร์ที่ใช้ในทางสันติไปใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ทันเวลา

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (Office of Atoms For Peace) ชื่อย่อว่า “OAP” ที่มีภารกิจหลักในการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์และรังสีของประเทศทั้ง 3 ด้าน (หลักการ 3S)  จึงเล็งเห็นความสำคัญของการกำกับดูแลให้สถานประกอบการใส่ใจในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น

ปส. จึงจัดตั้ง “โครงการรางวัลเชิงคุณภาพมาตรฐานครบถ้วน (OAP Award)” เพื่อสร้างแรงจูงใจ ความตระหนัก ส่งเสริม และสนับสนุนในสถานประกอบการหรือหน่วยงานที่ใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์และรังสี

มีมาตรฐานด้านความปลอดภัย และความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีอย่างเข้มงวดและจริงจัง

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกหน่วยงานเพื่อเข้ารับรางวัล OAP Award นั้น มุ่งเน้นไปด้านความปลอดภัยและความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี การบริหารความปลอดภัยที่ประกอบไปด้วยแผนฉุกเฉินทางรังสี 

โดยหลักเกณฑ์ทั้งหมดจะเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ที่สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยและความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA

ในปีงบประมาณ 2566 นี้  จึงเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจัด “โครงการ OAP Award ” ขึ้น มีหน่วยงานหรือสถานประกอบการที่ให้ความสนใจและสมัครรับรางวัล OAP Award นี้ จำนวน 112 หน่วยงาน 

มีผู้ที่ได้รับรางวัลระดับดีเลิศ 13 หน่วยงาน ระดับดีเด่น 18 หน่วยงาน  นอกจากนั้นทาง “คณะกรรมการตัดสินรางวัล” ยังให้รางวัลระดับดีมากเพิ่มเติมให้กับหน่วยงานที่ได้คะแนนโดยคิดเป็นร้อยละมากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด อีก 77 หน่วยงาน (ทุกรางวัลจะต้องได้คะแนน มากกว่า70 คะแนน) รางวัลทั้งหมดนี้ได้มอบแล้วเมื่อ 26 เมษายน 2566 นี้เอง

เรื่องรางวัลนี้ ปส. ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาตัดสินรางวัล ก่อนเกิดกรณี “ซีเซี่ยม-137” ครับผม !