สู่ยุคการแย่งชิงแรงงานทักษะสูง | กษิดิศ สื่อวีระชัย

สู่ยุคการแย่งชิงแรงงานทักษะสูง | กษิดิศ สื่อวีระชัย

ในยุคปัจจุบันที่การระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มเพลาลง รัฐบาลสิงคโปร์หวังที่จะดึงดูดแรงงานที่มีทักษะสูงเพื่อช่วยกระตุ้นการเติบโตของประเทศ

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลี เซียนลุง ได้กล่าวในระหว่างการปราศรัยระดับชาติเมื่อวันที่ 21 ส.ค.2565 ว่า "ความสามารถของทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญสูงสุดในการกำหนดความสำเร็จของประเทศ" หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน สิงคโปร์ได้ประกาศวีซ่ารูปแบบใหม่ที่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าวโดยเฉพาะ

ทั้งนี้ สิงคโปร์ไม่ใช่เพียงประเทศเดียวที่แสดงความต้องการที่จะดึงดูดทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะสูง แต่ยังมีอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ที่ได้ออกมาแสดงเจตจํานงคล้ายกัน

ประเภทวีซ่าล่าสุดที่สิงคโปร์ประกาศใช้ มีชื่อว่า Overseas Network and Expertise Pass เป็นวีซ่ารูปแบบใหม่ที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อดึงดูดแรงงานทักษะสูงที่มีรายได้ประมาณ 780,000 บาทต่อเดือน ผู้ที่ได้รับวีซ่าดังกล่าวสามารถใช้ชีวิตในสิงคโปร์อย่างน้อย 5 ปี และทำงานให้กับหลายๆ องค์กรได้

สู่ยุคการแย่งชิงแรงงานทักษะสูง | กษิดิศ สื่อวีระชัย

นอกจากสิงคโปร์แล้ว ประเทศมาเลเซียก็เพิ่งได้มีการประกาศประเภทวีซ่ารูปแบบใหม่สำหรับนักลงทุนที่มีฐานะดี มีชื่อว่า Premium Visa Program วีซ่าดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อดึงดูดนักลงทุนที่สามารถฝากเงินจำนวน 7.8 ล้านบาท

และมีรายได้จากนอกประเทศ 3.6 ล้านบาทต่อปี ผู้ที่ได้รับวีซ่าดังกล่าวสามารถอยู่ในมาเลเซียได้นานถึง 20 ปี และสามารถลงทุน ดูแลธุรกิจ และทำงานในประเทศได้ การที่ประเทศต่างๆ ได้ประกาศใช้วีซ่าในรูปแบบที่ได้กล่าวมา แสดงให้เห็นถึง

  1. ความตระหนักของรัฐบาลทั่วโลกในการแข่งขันเพื่อแย่งชิงทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะสูงรวมถึงนักลงทุนต่างประเทศ
  2. วิวัฒนาการของธุรกิจและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในช่วงสองปีที่ผ่านมา ที่ได้สร้างความต้องการแรงงานที่มีทักษะใหม่ๆ
  3. ความยากลำบากในการค้นหาแรงงานที่มีทักษะสูงเฉพาะในประเทศในยุคปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทย ซึ่งมุ่งเน้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและมีจำนวนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับสิงคโปร์ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการหยุดชะงักในการเดินทางเนื่องจากการระบาดของโควิด-19

จากการคาดการณ์โดย Asian Development Bank พบว่าเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เศรษฐกิจสิงคโปร์จะโตขึ้น 3-4% ในปีนี้ ในขณะที่อัตราการเติบโตของประเทศไทยคาดว่าจะอยู่ที่ 2.9% ซึ่งต่ำกว่าอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ที่คาดว่าจะโตขึ้น 5.4% 6% และ 6.5% ตามลำดับ

สู่ยุคการแย่งชิงแรงงานทักษะสูง | กษิดิศ สื่อวีระชัย

นอกจากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่น่าเป็นห่วงแล้ว สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้รายงานว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมายังประเทศไทยมีมูลค่า 1.3 แสนล้านบาท ในช่วงหกเดือนแรกของปี 2565 ลดลง 53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการต่อเนื่อง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณเกือบ 20% ของจีดีพี ได้เป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมาช้านาน อย่างไรก็ดี การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ทุกคนตระหนักว่าประเทศไทยไม่สามารถพึ่งพาแค่นักท่องเที่ยวระยะสั้นได้เหมือนแต่ก่อน

แต่จำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงให้มาอยู่อาศัย ลงทุน และทำงานในประเทศไทยในระยะยาว

ทั้งนี้ เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่จะมีความสำคัญต่อประเทศในอนาคต ในวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้เปิดตัววีซ่าระยะยาว (Long-Term Resident visa) โดยแรงงานทักษะสูงที่ได้รับวีซ่าดังกล่าวสามารถมาอยู่ในประเทศไทยได้นานถึง 10 ปี และจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราพิเศษที่ 17% 

โดยมีความหวังว่าวีซ่าดังกล่าวจะช่วยดึงดูดแรงงานทักษะสูงเป็นจำนวน 1 ล้านคน ในยุคที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาภาวะขาดแรงงานทักษะสูง ซึ่งถือได้ว่าเป็นอุปสรรคสำคัญในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

นอกจากการออกแบบวีซ่าระยะยาว เพื่อดึงดูดแรงงานทักษะสูงและการลงทุนจากต่างประเทศแล้ว ประเทศไทยยังมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาสู่ “รัฐบาลดิจิทัล” อย่างสมบูรณ์ ลดกฎระเบียบและกระบวนการที่ไม่จำเป็น และขจัดคอร์รัปชัน ค่าน้ำร้อนน้ำชา

เพื่อให้การดำเนินธุรกิจในประเทศมีความสะดวก เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งน่าลงทุนสำหรับนักธุรกิจทั้งภายในและต่างประเทศ ในเวลาที่ประเทศเพื่อนบ้านกำลังแซงประเทศไทยในเกือบทุกมิติ 

ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การยกระดับการศึกษาของประเทศอย่างเร่งด่วน เพื่อเพิ่มทักษะระดับสูงให้กับนักเรียนนักศึกษารุ่นใหม่ให้มีศักยภาพในการทำงานที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21