8 ชุดทักษะการทำงานให้รอดในโลกปัจจุบัน | จตุรงค์ นภาธร

8 ชุดทักษะการทำงานให้รอดในโลกปัจจุบัน | จตุรงค์ นภาธร

โลกการทำงานในยุคปัจจุบันภายหลังการระบาดของโควิด 19 มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้กับการทำงานในองค์กรมากขึ้น ในโลกปัจจุบัน

  รวมถึงการที่องค์กรเหล่านั้นหันมาใช้ระบบการทำงานทางไกลหรือการประชุมทางไกลจากที่บ้านหรือจากที่ใด ๆ ก็ได้ในโลกเพื่อความสะดวกรวดเร็วและความต่อเนื่อง บริบทดังกล่าว ส่งผลให้องค์กรต้องการแรงงานยุคใหม่ ที่จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นและความสามารถที่จะปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว 

จากประเด็นดังกล่าว งานวิจัยของผู้เขียนและคณะเรื่อง “ความสามารถในการมีงานทำ ความสามารถที่จะทำงาน และความต้องการทักษะการทำงานที่จำเป็นตามอุปสงค์ของตลาดแรงงานไทย”  สรุปได้ว่า ทักษะการทำงานที่เป็นทักษะทางเทคนิคหรือ Technical Skill ไม่เพียงพอสำหรับแรงงานในโลกการทำงานยุคปัจจุบันอีกต่อไป

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ แรงงานในโลกการทำงานยุคปัจจุบันจำเป็นต้องมีชุดทักษะที่สำคัญ (Essential Skill Set) 8 ชุดทักษะด้วยกัน เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ให้สำเร็จ และเพื่อให้สามารถปรับตัวกับโลกของการทำงานได้เสมอไม่ว่าจะเกิดการปฏิวัติโลกของการทำงานอีกกี่ครั้งก็ตาม 


    ชุดทักษะ 8 ชุดทักษะดังกล่าว ประกอบด้วย

(1) ชุดทักษะการออกแบบและจัดระบบความคิด (Ideation and System Thinking) มุ่งเน้นการคิดเชิงวิเคราะห์ การคิดเชิงเหตุผล การคิดเป็นระบบเพื่อแก้ไขปัญหา และการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ

(2) ชุดทักษะการคัดสรรจัดการข้อมูลและการใช้เทคโนโลยี  (Information and Digital Literacy) ให้ความสำคัญกับการคัดแยกข้อมูลที่ถูกต้องและนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้เหมาะสมกับสถานการณ์ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลและในการทำงานแบบผสมผสาน (Hybrid Work) ได้อย่างดี

(3) ชุดทักษะทางสังคมและความสามารถในการทำงานท่ามกลางความหลากหลาย เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Social Skills and Diversity with Inclusiveness) เน้นให้แรงงานยุคใหม่รู้จักเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง (Empathy) และมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเพื่อให้งานสำเร็จ (Accountability)

8 ชุดทักษะการทำงานให้รอดในโลกปัจจุบัน | จตุรงค์ นภาธร

(4) ชุดทักษะการสื่อสารและภาษา (Communication and Language) ช่วยส่งเสริมให้แรงงานยุคใหม่รู้จักการตั้งคำถามอย่างเหมาะสม สื่อสารและนำเสนองานได้ดี ใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารได้ถูกต้องตามสถานการณ์ สามารถเจรจาต่อรอง รวมถึงจัดการความขัดแย้งกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ ได้

(5)  ชุดทักษะการสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity and Innovation) เพื่อให้แรงงานยุคใหม่กล้าคิดและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์/บริการใหม่ ๆ รวมถึงนวัตกรรมต่าง ๆ ออกสู่ตลาด สามารถพัฒนาเนื้อหาเพื่อการตลาด (Content Creation for Marketing) ได้อย่างช่ำชอง

(6) ชุดทักษะความสามารถทางอารมณ์เพื่อการจัดการและพัฒนาตนเอง (EQ for Self-management and Development) เพื่อให้แรงงานยุคใหม่มีระเบียบวินัย บริหารความเครียดและบริหารเวลาได้ดี จัดการกับความผิดหวังได้ รู้จักเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

(7) ชุดทักษะวิธีคิด/กรอบความคิดสำหรับโลกการทำงานเพื่อความก้าวหน้าเติบโต (Growth/Outward Mindset) ช่วยพัฒนาให้แรงงานยุคใหม่เรียนรู้จากความล้มเหลว สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยความรวดเร็ว เต็มใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ กล้ายอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ และบริหารความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิผล 

(8) ชุดทักษะความรู้ตามบทบาทงาน  (Cognitive Skills for Job Role) เน้นการยกระดับให้แรงงานยุคใหม่ทำความเข้าใจและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง รวมถึงมีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ที่ตนเองได้รับมอบหมายได้สำเร็จ
  

 ทั้งนี้ ชุดทักษะที่ 3, 6 และ 7 ถือเป็นชุดทักษะที่นายจ้างมีแนวโน้มต้องการจากแรงงานยุคใหม่เป็นอย่างมาก เพราะชุดทักษะดังกล่าวมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้แรงงานปรับตัวได้กับบริบทและสถานการณ์การทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

8 ชุดทักษะการทำงานให้รอดในโลกปัจจุบัน | จตุรงค์ นภาธร

แน่นอนว่า สถาบันการศึกษาต้องหันมาให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบ/วิธีการเรียนการสอน ที่จะช่วยเสริมสร้างและสอดแทรกชุดทักษะเหล่านี้ให้กับผู้เรียนผ่านบทเรียนต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบุคคลที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตมีทักษะเหล่านี้สำหรับการปฏิบัติงาน

อีกทั้งองค์กรหรือบริษัทในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็ควรหันมาให้ความสำคัญกับการนำเครื่องมือ/วิธีการต่าง ๆ มาใช้ในการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะดังกล่าว

เครื่องมือ/วิธีการที่สำคัญมักอยู่ในรูปแบบของการโค้ชชิ่ง (Coaching) การประยุกต์ใช้ระบบพี่เลี้ยง (Mentoring) การกำหนดให้ผู้บริหารระดับสูงปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง (Role Model) และการกำหนดให้พนักงานติดตามการปฏิบัติงานของผู้บริหารระดับสูงที่มีทักษะและประสบการณ์อย่างใกล้ชิด (Job Shadowing)

แน่นอนว่าเครื่องมือแต่ละเครื่องมือดังกล่าวมีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป ดังนั้น องค์กรจึงควรประยุกต์ใช้เครื่องมือหลาย ๆ เครื่องมือประกอบกันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด.