'I LAN YOR'ยกระดับขีดความสามารถการท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน

'I LAN YOR'ยกระดับขีดความสามารถการท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน

“I LAN YOR” นวัตกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ไอเดียคนรุ่นใหม่ ชนะเลิศ Sustainable Tourism Innovation 2024 ยกระดับขีดความสามารถการท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน

“เกาะยอ” หนึ่งในแลนด์มาร์คสำคัญของจังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ทางตอนล่างของพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เกาะยอเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ ด้วยธรรมชาติที่สมบูรณ์ผสานเข้ากับวัฒนธรรมได้อย่างลงตัว จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของผลงานนวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ “I LAN YOR” จากพลังของคนรุ่นใหม่ ในนามทีม I LAN YOR ซึ่งประกอบด้วย นายสรยุทธ หวังโส๊ะ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง น.ส.กันยากร คำพิทูล นักศึกษาชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น.ส.ศุภาพิชญ์ ศรีดอนเมือง นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ น.ส.อภิชญา วิวัฒนะวัฒนาการ นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภทนักเรียน/นักศึกษา จากการแข่งขันนวัตกรรมระดับชาติ Sustainable Tourism Innovation 2024 ภายใต้โจทย์ "นวัตกรรมเพื่อการยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา" จัดโดย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

DAA เปิดอบรม 9 หลักสูตร ด้านการรักษาความปลอดภัยด้านการบิน ปี 68

เจาะ 4 นโยบายการศึกษาต่างชาติ เตรียมเด็ก Back to School

'I LAN YOR' การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ 

กันยากร คำพิทูล ตัวแทนทีม I LAN YOR เล่าว่า ผลงานนวัตกรรม I LAN YOR เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) ที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของเกาะยอผ่านเส้นทางท่องเที่ยวที่ผสมผสานธรรมชาติ วัฒนธรรม และกิจกรรมสร้างสรรค์อย่างลงตัว ด้วย 3 แนวคิด คือ  

1. อยู่แต่สวน คือการได้มาสัมผัสชีวิตชาวสวนบนเกาะยอแบบใกล้ชิด เรียนรู้เคล็ดลับตั้งแต่การปลูก การบ่ม ไปจนถึงการแปรรูปผลไม้ในแบบต่างๆ เช่น ผลไม้กวน ผลไม้อบแห้ง หรือขนมหวาน

2. กวนในร่ม คือกิจกรรมที่ชวนให้ทุกคนสนุกไปกับการทำกิจกรรมเวิร์กช็อปภายในสวน ลองลงมือทำผลิตภัณฑ์เองแบบแฮนด์เมด ไม่ว่าจะเป็นขนม ของฝาก หรือของที่ระลึก

3. ห่มกลับบ้าน คือการนำเสนอความงามของผ้าทอเกาะยอที่ได้ผสานความร่วมมือระหว่างสวนผลไม้กับกลุ่มผ้าทอพื้นเมือง โดยเฉพาะลาย “ราชวัตถ์” ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ผ้าทอเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ในกิจกรรม หรือรังสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่น่าสนใจให้นักท่องเที่ยวซื้อเป็นของที่ระลึกกลับไป ส่วน I LAN YOR มีที่มาจากคำว่า “Island Yor” หรือแปลตรงตัวคือ “เกาะยอ” นั่นเอง

\'I LAN YOR\'ยกระดับขีดความสามารถการท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน

\'I LAN YOR\'ยกระดับขีดความสามารถการท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน

สร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับท้องถิ่น

สรยุทธ หวังโส๊ะ อีกหนึ่งตัวแทนของทีม I LAN YOR บอกว่า หากนำนวัตกรรม I LAN YOR ไปประยุกต์ใช้ จะเป็นการเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่เชิงเกษตรให้กับพื้นที่นั้นๆ ซึ่งในปัจจุบันการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่นี้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ และยังเปิดโอกาสให้ชุมชนได้เชื่อมร้อยผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นการสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับท้องถิ่นได้ในอนาคต

“กิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ด้านนวัตกรรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ถือว่าเป็นโครงการที่ดีโครงการหนึ่ง ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาได้คิดและโชว์ไอเดีย หรือทำงานร่วมกับคนต่างเจเนอเรชันที่จะก่อเกิดเป็นไอเดียใหม่ๆ ที่น่าสนใจ และสามารถทำให้ชุมชนเกิดแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ขึ้นได้” สรยุทธ สรุป

ผลงานนวัตกรรม I LAN YOR จึงไม่เพียงแค่กระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ แต่การผสานเสน่ห์ของแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและผลิตภัณฑ์จากเกาะยอเข้าด้วยกัน ยังช่วยยกระดับเกาะเล็กๆ แห่งนี้ให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวต้องแวะมาเยี่ยมเยือนด้วยสักครั้งหนึ่ง

\'I LAN YOR\'ยกระดับขีดความสามารถการท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน

ตัวแทนชุมชนเกาะยอ ร.ต.ทวี ชาตะวิทยากูล เจ้าของสวนลุงวี สวนสมรมเกษตรผสมผสาน ในฐานะรองประธานชมรมท่องเที่ยวเกาะยอ ได้แสดงความเห็นต่อรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ I LAN YOR หลังกลุ่มนิสิต-นักศึกษานำผลงานนวัตกรรมลงทดสอบในพื้นที่ว่า เกาะยอมีความพร้อมในการพัฒนาตามแนวทางที่เสนอภายใต้คอนเซ็ปต์ I LAN YOR แต่ต้องกระตุ้นให้ชุมชนเปิดรับแนวคิดใหม่ สร้างความเข้าใจเพื่อให้เกิดความร่วมมือในชุมชน และถือเป็นเรื่องดีที่ อพท. สามารถเข้ามาเป็นหน่วยงานกลางในการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในการผลักดันให้เกิดการปฏิบัติจริงที่สามารถต่อยอดการท่องเที่ยวของเกาะยอได้

ขณะที่ วิชัย มาระเสนา ประธานกลุ่มทอผ้าราชวัตถ์แสงส่องหล้า 1 เสริมเรื่องการพัฒนาผ้าทอเกาะยอว่า การนำผ้าทอเกาะยอลาย “ราชวัตถ์” ไปทำเป็นบรรจุภัณฑ์ห่อขวดแยมหรือผลิตภัณฑ์อื่นนั้น นับเป็นการแสดงเอกลักษณ์ของลายผ้าเกาะยอ ที่จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติในการซื้อกลับไปเป็นของฝากของที่ระลึก และหากโปรโมตผ่านสื่อโซเชียลจะช่วยสร้างการรับรู้ในวงกว้างได้รวดเร็ว และช่วยต่อยอดผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น

ด้าน นาวาอากาศเอก ดร.อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ  อพท. กล่าวว่า อพท. เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหน่วยงานต้นน้ำด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศ มีภารกิจสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

โดย อพท. ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของคนรุ่นใหม่ และการพัฒนานวัตกรรมซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จึงได้จัดกิจกรรมแข่งขันระดับชาติเพื่อนำเสนอนวัตกรรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประจำปี 2567 (Sustainable Tourism Innovation 2024) เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ด้านนวัตกรรม และยกระดับขีดความสามารถทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในมิติการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผลิตภัณฑ์และการบริการของชุมชนในพื้นที่พิเศษของ อพท. อีกด้วย

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามบรรยากาศกิจกรรมแข่งขันระดับชาติเพื่อนำเสนอนวัตกรรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประจำปี 2567 (Sustainable Tourism Innovation 2024) และการนำผลงานนวัตกรรมลงทดสอบจริงในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ของงอพท. ได้ที่เว็บไซต์ https://www.dasta.or.th/th/article/4662 หรือ YouTube DASTA THAILAND https://www.youtube.com/watch?v=VhkBNaSVYe0&t=59s

\'I LAN YOR\'ยกระดับขีดความสามารถการท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน

\'I LAN YOR\'ยกระดับขีดความสามารถการท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน

\'I LAN YOR\'ยกระดับขีดความสามารถการท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน