ส่งลูกหลานไปอินเทิร์นชิพกับบริษัทไฮเทคชั้นนำ

ส่งลูกหลานไปอินเทิร์นชิพกับบริษัทไฮเทคชั้นนำ

ถ้าไปร่วมงานรับปริญญา แล้วได้ยินเรื่องที่มาอวดกันเกี่ยวกับการที่ได้ฝึกประสบการณ์ หรืออินเทิร์นชิพที่บริษัทไฮเทค อาจคิดว่าเป็นที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐ

แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ และกำลังจะเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีในเมืองโฮจิมินห์ในอนาคตอันใกล้

อินเทิร์นชิพ กับบริษัทไฮเทคชั้นนำที่กล่าวถึง ไม่ได้หมายถึงการฝึกงานกับสาขาของบริษัทเหล่านั้นในประเทศของตน แต่หมายถึงการได้ไปฝึกงานในที่ตั้งจริงของบริษัทเหล่านั้นในอเมริกา ยุโรป อาจรวมถึงในเมืองจีน ที่บริษัทไฮเทคมาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา

การที่อินเทิร์นชิพกับบริษัทไฮเทคเป็นที่สนใจในหมู่บัณฑิตและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยชั้นนำ เพราะผลงานที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าอินเทิร์นชิพนี้ สร้างโอกาสในความก้าวหน้าในอาชีพการงานระดับโลกขึ้นได้จริง

เริ่มจากการได้รับความรู้และทักษะชั้นสูงทางเทคนิคที่มีอยู่ในบริษัทชั้นนำเหล่านั้น ถ้าไม่ได้เข้าร่วมงานก็รู้ไม่ลึก เข้าไม่ถึง อ่านตำราก็ไม่ทันความก้าวหน้า แล้วยังเติมเต็มด้วยทักษะอาชีพต่างๆ ที่จำเป็นในการทำงานใหญ่ให้ประสบความสำเร็จ

เช่น ทักษะการสื่อสาร และการทำงานร่วมกันภายใต้สภาพแวดล้อมการแข่งขันทำงานที่สูงมาก จากการที่ต่างคนต่างเก่งมาจากทุกทิศทุกทาง ทักษะการเรียนรู้ในสภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ต้องรู้ว่าอะไรควรเติม อะไรควรตัด

รู้ว่าอะไรคือความท้าทายใหม่ที่ต้องเอาชนะให้ได้ แถมมาด้วยทักษะชีวิตที่ทำให้อยู่รอดได้ท่ามกลางการทำงานที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง และทำงานกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คิดเรื่องเดิมยังไม่เสร็จ เรื่องใหม่ก็มาแล้ว

ต้องรู้วิธีที่จะคิดใหม่ทำใหม่โดยตลอด รู้วิธีที่จะให้กำลังใจตนเองและสร้างความมุ่งมั่นในการทำงานให้สำเร็จท่ามกลางอุปสรรคนานาประการ และแน่นอนว่าที่จะได้แน่ๆ คือได้เห็นแนวโน้มอนาคตว่าวันหน้า ไฮเทคนั้นจะเป็นอย่างไร

อินเทิร์นชิพแบบนี้ไม่ง่ายที่จะผ่านการคัดเลือกเข้าไป แต่ละบริษัทมีความต้องการแตกต่างกัน และไม่ได้คัดเลือกเพียงแค่จากชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย และความรู้ทางเทคนิค

แต่ให้ความสำคัญอย่างสูงกับทักษะชีวิตอื่นๆ โดยเฉพาะความคิดสร้างสรรค์ และการทำงานร่วมกับคนอื่น ดังนั้น ต้องเตรียมตัวกันเป็นอย่างดี ถ้าให้ต่างคนต่างเตรียมตัวกันเองคล้ายๆ ที่ทำอยู่ในบ้านเรา ผลที่เกิดขึ้นก็เห็นอยู่ว่าประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด

มหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์ แม้ว่าจะมีการเรียนการสอนติดระดับนำของโลกแล้วก็ตาม ยังต้องมีหน่วยงานตระเตรียมนักศึกษาของเขาให้พร้อมสำหรับการอินเทิร์นชิพกับบริษัทไฮเทค และเขาทำสำเร็จจริงๆ

แต่ละปีมีหนุ่มสาวจากมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ไปอินเทิร์นชิพกับบริษัทไฮเทคในที่ตั้งของบริษัทนั้น ทั้งๆ ที่บ้านเขามีสำนักงานภูมิภาคของบริษัทไฮเทคมากมายที่จะฝึกงานได้

สำนักงานภูมิภาคเหล่านั้นฝึกงานให้หนุ่มสาวจากประเทศรอบบ้านเขา แต่หนุ่มสาวของสิงคโปร์ได้อินเทิร์นชิพกับสำนักงานใหญ่ตัวจริง ซึ่งคงบอกได้ว่าเพดานการงานของคนของเขากับคนของรอบบ้านเขาต่างกันแค่ไหน ใครนำใครตาม

มหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์มี Global Internship Programme (GIP) ช่วยตระเตรียมความพร้อมสำหรับการอินเทิร์นชิพ และสนับสนุนทางการเงินที่จำเป็น

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากคณาจารย์และเครือข่ายศิษย์เก่า คณาจารย์มีเส้นสายความสัมพันธ์กับบริษัทไฮเทค ในระดับที่เข้าถึงผู้บริหารในสำนักงานใหญ่ได้ ไม่ใช่แค่รู้จักคนทำงานในสำนักงานสาขาในประเทศเท่านั้น

ศิษย์เก่าที่ทำงานในต่างประเทศรวมตัวตั้งเป็นสมาคมกระจายอยู่ในหลายประเทศชั้นนำ มีบทบาทสำคัญในการช่วยชี้แนะและแนะนำการสมัคร รวมถึงช่วยออกหนังสือรับรองที่ดูน่าเชื่อถือให้อีกด้วย คนของเขาเก่งพอจะได้งานระดับโลก เขาเลยมีสมาคมที่จะสนับสนุนงานนี้ได้

“เวียดนาม” กำลังทำตามตัวอย่างความสำเร็จนี้ โดยที่เขาก็มีชุมชนนักวิชาชีพไฮเทคเวียดนามกระจายอยู่ในประเทศชั้นนำอยู่ไม่น้อย

คณาจารย์รุ่นใหม่ๆ ก็สำเร็จการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก และได้รับการสนับสนุนจากรัฐให้สร้างความสัมพันธ์กับผู้นำระดับสูงของบริษัทไฮเทค

คงเป็นเรื่องที่ไม่น่าสบายใจนัก หากวันหน้าลูกหลานของเรา ถ้าอยากได้อินเทิร์นชิพกับบริษัทไฮเทคต้องไปเรียนที่บ้านเขา เหมือนกับที่นานมาแล้วลูกหลานบ้านเขาต้องมาเรียนที่บ้านเรา