สู่ยุคการเรียนรู้ตลอดชีวิต | ธราธร รัตนนฤมิตศร

สู่ยุคการเรียนรู้ตลอดชีวิต | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ในห้วงเวลาที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวินาที แนวคิดของการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้กลับมาทวีความสำคัญมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

 รูปแบบการศึกษาแบบดั้งเดิมซึ่งเน้นการเรียนรู้เฉพาะวัยเด็กใน 20 ปีแรกของชีวิตไม่เพียงพอที่จะทำให้คนเราอยู่รอดในยุคนี้ได้อีกต่อไป อีกทั้งเมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารโลกได้รายงานพบว่า วัยผู้ใหญ่ประมาณ 2 ใน 3 ของคนไทยมีทักษะการอ่านต่ำกว่าระดับพื้นฐานและมีทักษะต่ำในการใช้เครื่องมือดิจิทัล

งานวิจัยนี้เป็นเหมือนเสียงเตือนครั้งสำคัญว่า เราจะปล่อยให้ความสามารถของคนไทยตกต่ำอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ เพราะเรากำลังเผชิญกับความท้าทายในอนาคตที่สำคัญหลายประการ โดยเฉพาะความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ สังคมสูงวัย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

คนที่จะอยู่ได้ในโลกอนาคต จำเป็นต้องมีทักษะความสามารถและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง

เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็ว ทำให้ “ครึ่งชีวิตของทักษะและความรู้” กำลังลดลงอย่างรวดเร็วตามไปด้วย ซึ่งหมายความว่า สิ่งที่เรียนรู้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันอาจล้าสมัย หรือหมดอายุในเวลาอันสั้น ดังนั้น ความสามารถของคนยุคนี้ที่จะเรียนรู้ ละทิ้งความรู้เก่า และเรียนรู้เรื่องใหม่จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

    ในส่วนของปัจเจกบุคคล การที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิตได้นั้น จำเป็นต้องปลูกฝัง “ความอยากรู้อยากเห็น” ให้เกิดขึ้นในหัวใจ เพื่อกระตุ้นให้คนเราสำรวจวิชาใหม่ๆ และท้าทายให้เจาะลึกในเรื่องสำคัญหรือเรื่องที่น่าสนใจ การรู้จักตั้งคำถาม แสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ และเปิดรับสิ่งที่ไม่รู้ ตลอดจนมองทุกประสบการณ์เป็นโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นสิ่งสำคัญ

ยุคดิจิทัลและเอไอช่วยทำให้การเข้าถึงข้อมูลและความรู้เป็นเรื่องง่าย เปิดโอกาสให้คนเราสามารถเรียนรู้ทุกสิ่งได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งจากหลักสูตรออนไลน์ การสัมมนาผ่านเว็บ พอดแคสต์ แอปการศึกษา และการพูดคุยกับปัญญาประดิษฐ์ เช่น ChatGPT ซึ่งทำให้ขอบฟ้าของการเรียนรู้ของคนยุคนี้ไร้ขีดจำกัด

แพลตฟอร์มอย่าง Coursera, edX, Youtube, Udemy และ Khan Academy และอื่นๆ อีกมากมาย เปิดสอนหลักสูตรจากมหาวิทยาลัยและสถาบันชั้นนำฟรีหรือในราคาประหยัด 

การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้จะช่วยให้บุคคลตามทันการพัฒนาใหม่ๆ ในสาขาของตน รวมถึงสำรวจพื้นที่ใหม่ๆ ที่น่าสนใจ

    ในประเทศชั้นนำหลายประเทศ การเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องปัจเจกบุคคล แต่รัฐบาลได้เข้ามามีบทบาทสำคัญเพื่อเอื้อให้พลเมืองในประเทศมีขีดความสามารถที่เหมาะสมกับยุคใหม่

สู่ยุคการเรียนรู้ตลอดชีวิต | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ประเทศสิงคโปร์ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านโครงการริเริ่มต่างๆ โดยเฉพาะโปรแกรม “SkillsFuture” เน้นการส่งเสริมการศึกษาอย่างต่อเนื่องสำหรับบุคคลทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุหรือช่วงอาชีพการงาน  

ภายใต้โปรแกรม SkillFuture ชาวสิงคโปร์ที่เป็นผู้ใหญ่ทุกคนจะได้รับเครดิตมูลค่า 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (หรือ 13,400 บาท) ที่สามารถนำไปใช้เพื่อชำระค่าเรียนหลักสูตรต่างๆ ที่ได้รับอนุมัติได้ ซึ่งช่วยกระตุ้นให้ชาวสิงคโปร์เป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเอง 

นอกจากนี้ ยังมีเงินอุดหนุนด้านการศึกษาและการฝึกอบรมจำนวนมากสำหรับหลักสูตรต่างๆ มากมาย ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ รวมถึงคำแนะนำด้านอาชีพที่ออกแบบมาโดยเฉพาะให้เรียนรู้และวางแผนเส้นทางอาชีพ ที่สำคัญคือโปรแกรมนี้ทำงานใกล้ชิดกับนายจ้างและอุตสาหกรรมเพื่อให้แน่ใจว่าทักษะที่ได้รับการสอนมีความเกี่ยวข้องและเป็นที่ต้องการ

ประเทศเกาหลีใต้เป็นอีกตัวอย่างที่ดีของนโยบายการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เกาหลีใต้มีกฎหมายการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นการเฉพาะ  มีการใช้ “ระบบธนาคารเครดิตเพื่อการศึกษา” (Academic Credit Bank System) และ “ระบบบัตรกำนัลการศึกษาตลอดชีวิต” (Lifelong Education Voucher System) เพื่อสนับสนุนบุคคลจากกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง 

ล่าสุดเกาหลีใต้ยังมี “ระบบบัญชีการเรียนรู้ตลอดชีวิต” (Lifelong Learning Account System) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์แบบรวมศูนย์ที่ช่วยให้บุคคลสามารถตรวจสอบและบันทึกประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลายของตนในการศึกษาตลอดชีวิต โดยเข้ามาเสริมระบบธนาคารเครดิตเพื่อการศึกษา (ACBS) ทำให้บุคคลสามารถติดตามความพยายามและความสำเร็จทางการศึกษาของตนได้ 

สู่ยุคการเรียนรู้ตลอดชีวิต | ธราธร รัตนนฤมิตศร

นอกจากนี้ เกาหลียังมีโครงการมหาวิทยาลัยการเรียนรู้ตลอดชีวิต สถาบันการศึกษาตลอดชีวิต และระบบการเรียนรู้ออนไลน์ เพื่อให้การศึกษาก้าวข้ามอุปสรรคด้านเวลาและพื้นที่แบบดั้งเดิม

 โดยเกาหลีใต้ได้ออก “แผนส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต” ซึ่งแผนฉบับปัจจุบันได้มุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและความท้าทายของสังคมสูงวัยของประเทศ 

ภาคเอกชนไทยเริ่มมีแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่น่าสนใจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Skooldio, Skilllane, FutureSkill, Cariber และน่าจะมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

รัฐบาลควรส่งเสริมผ่านการอุดหนุนการศึกษาตลอดชีวิตผ่านทางอุปสงค์ (Demand) โดยการแจกเครดิตให้กับประชาชนที่สามารถนำไปใช้จ่ายในการศึกษาตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อคอร์สออนไลน์ที่ตนเองสนใจหรือสมัครเรียนคอร์สการศึกษา การฝึกอบรม เวิร์คช็อปต่างๆ ไปจนถึงซื้อหนังสือตำรับตำรา เพื่อให้คนไทยได้มีทักษะความรู้เท่าทันกับโลกยุคใหม่ที่หมุนเร็วขึ้นทุกวัน.

สู่ยุคการเรียนรู้ตลอดชีวิต | ธราธร รัตนนฤมิตศร