อย่ารื้อรั้วก่อนศึกษา | วรากรณ์ สามโกเศศ

อย่ารื้อรั้วก่อนศึกษา | วรากรณ์ สามโกเศศ

ตอนเป็นวัยรุ่น ผมพบประโยคหนึ่งที่ประทับใจมาก เป็นการพบโดยบังเอิญในนิยายฝรั่ง ถึงเวลาจะผ่านมาหลายทศวรรษแล้วก็ยังไม่เคยลืม ประโยคนี้ทำให้ผมเกิดสนใจคำพูดต่างๆ ที่มีการคัดสรรอ้างอิงกันมา เพราะเห็นว่ามันคือตะกอนทางความคิด

หรือปัญญาของผู้คนมากมายจากหลากหลายสังคมที่ได้มาจากประสบการณ์ ที่มีค่าอย่างยิ่งอันสมควรถ่ายทอดไปยังคนรุ่นต่อๆ ไป โลกดิจิทัลทำให้เราสามารถสะสมและเผยแพร่ได้มากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

ประโยคนี้ก็คือ “Man is the only animal that laughs and weeps; for he is the only animal that is struck with the difference between what things are, and what they ought to be.”

(มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวเท่านั้นที่หัวเราะและร้องไห้ เพราะเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่ตื่นตะลึงกับความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นอยู่กับสิ่งที่ควรจะเป็น) William Hazlitt ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 2321-2373 เป็นนักปรัชญาชาวอังกฤษ เป็นเจ้าของ แต่ผมจำชื่อหนังสือไม่ได้

ไม่มีคนที่พอมีสติปัญญาคนไหนที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมที่ตนเองอยู่ให้ดีขึ้น คนไทยจำนวนหนึ่งอาจเห็นว่าผู้ใหญ่เป็นพวกอนุรักษนิยม หัวโบราณ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง หัวไม่ก้าวหน้าเอาเสียเลย ฯลฯ แต่ความจริงก็คือเมื่อยามเป็นหนุ่มเป็นสาวนั้น คนเหล่านี้อาจหัวรุนแรง ปรารถนาเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างร้าวลึก 

 แต่หลายปีผ่านไปด้วยประสบการณ์ชีวิต จึงเป็นไปตามข้อความในโปสเตอร์ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยตะวันตก ในสมัยผมเป็นหนุ่มนิยมติดกันไว้ในห้องนอนมากกว่าติดรูปดาราในสมัยปัจจุบัน 

 นั่นก็คือ God grant me the Serenity to accept the things I cannot change, the Courage to change the things I can, and the Wisdom to know the difference.(ขอพระเจ้าได้โปรดให้ความสงบแห่งจิตใจในการยอมรับสิ่งที่ผมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ให้ความกล้าหาญในการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ผมสามารถทำได้ และให้ปัญญาเพื่อรู้ข้อแตกต่าง)

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อนำไปสู่สองข้อคิดที่น่าสนใจ เพราะเกี่ยวพันกับทุกเรื่องที่อยู่รอบตัวเรา Chesterton’s Fence เป็น “อาหารสมอง” อย่างแรกที่ขอกล่าวถึงโดยมีความหมายว่าไม่ควรทำลายรื้อ หรือเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ หรือยกเลิกขนบธรรมเนียมประเพณีใดก็ตาม จนกว่าจะเข้าใจว่าเหตุใดมันถึงอยู่ตรงนั้นในเบื้องต้น

ข้อคิดนี้ช่วยสนับสนุนการแก้ไขสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ ไม่บุ่มบ่ามแก้ไขหรือยกเลิกอย่างไม่รู้ที่มาที่ไป ตัวอย่างเช่นการห้ามขายเหล้าเวลาอื่นนอกจาก 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2551 หรือพิธีไหว้ครู ข้อเสนอให้เลิกควรพิจารณาว่าเหตุใดมันจึงเกิดมีขึ้นมาแต่แรก และทำไมมันคงอยู่ถึงปัจจุบัน 

 การเข้าใจการอยู่ตรงนั้นของมันจะทำให้ “ความกล้าหาญในการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่สามารถทำได้” เป็นไปอย่างมีเหตุมีผล มีความหมาย ไม่ไร้สาระ เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงเพียงเพราะรู้สึกว่าไม่เข้าท่าเท่านั้น ทุกอย่างในโลกผมว่าล้วนมีเหตุมีผลในการเกิดขึ้นมาทั้งนั้น แม้แต่สิ่งที่เราคิดว่าไม่มีเหตุไม่มีผลก็ตาม

Chesterton มาจากชื่อของ G. K. Chesterton (พ.ศ.2417-2479) นักปรัชญาและนักเขียนชาวอังกฤษ Chesterton’s Fence ก็คือหลักการที่ว่าไม่ควรปฏิรูปสิ่งใด จนกว่าจะเข้าใจความเป็นเหตุเป็นผลของสิ่งที่อยู่เบื้องหลังสถานการณ์ที่เป็นอยู่ 

ทำไมถึงเป็นรั้ว? เข้าใจว่าการใช้รั้วเป็นการอุปมาอุปไมยที่ทำให้เห็นภาพได้ชัดกว่าการรื้อกำแพงหรือรื้อบ้านในสำนวนภาษาอังกฤษก็มีเรื่องรั้วอยู่แล้วเช่น “sitting on the fence” ซึ่งหมายความว่า “ตัดสินใจไม่ได้”

อีกข้อเสนอทางความคิดก็คือ G.I.Joe Fallacy ผู้ประดิษฐ์คำคือ Laurie Santos และ Tamar Gendler แห่งมหาวิทยาลัย Yale โดยมีความหมายว่ามีความเชื่อซึ่งเกิดจากความเข้าใจผิดของมนุษย์ (fallacy) ว่าการรู้ก็เพียงพอแล้วซึ่งโดยแท้จริงเป็นเพียงสงครามที่ชนะเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

เหตุที่เรียกว่า G.I.Joe Fallacy ก็เพราะในทศวรรษ 1980 ของทีวีสหรัฐ มีซีรีส์การ์ตูนสอนบทเรียนชีวิตชื่อ G.I.Joe ที่จบทุกตอนด้วยเสียงประกาศว่า “now you know” (ตอนนี้คุณรู้แล้วนะ) ซึ่งเด็กๆ ชอบตะโกนออกมาพร้อมกันตามเสียงประกาศอย่างสนุกสนาน

ประเด็นของเรื่องก็คือ การรู้และคิดว่ารู้เพียงพอแล้วนั้นผิดพลาดเพราะมนุษย์มีความเอนเอียงในใจเสมอ ตัวอย่างเช่น ของที่ชอบติดราคา 19.99 หรือ 199.99 ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นวิธีการทางการตลาดให้เห็นว่าไม่แพงเพียง 10 กว่าๆ หรือ 100 กว่าๆ เท่านั้นเอง ซึ่งที่จริงแล้วก็คือ 20 และ 200 นั่นแหละ แต่มนุษย์เป็นคนตัดสินใจด้วยสมองและหัวใจปนกันเสมอ จึงซื้อกันสนุกอย่างเป็นไปตามที่คนตั้งราคาตั้งใจด้วยความรู้สึกว่าไม่แพง

อีกตัวอย่างได้แก่ อกหักมาแล้วหนหนึ่งก็ผยอง คิดว่ารู้ทันผู้ชายไม่มีวันถูกเทอีกแล้วเพราะจะเป็นคนเทก่อน แต่แล้วก็ช้ำใจไม่รู้จบ เพราะหลงเชื่อมั่นตัวเองเกินไปว่าสามารถใช้สมองในการเลือกได้เสมอและเข้มแข็งกว่าหัวใจด้วยซ้ำ

อีกตัวอย่างคือในยุคปัจจุบันถึงจะมั่นใจว่ารู้ทันหมดว่าไอ้พวกมิจฉาชีพมีเรื่องแต่งมาหลอกอย่างไรแต่ก็ไม่ควรประมาท มั่นใจในตัวเองจนเกินไป เพราะ G.I.Joe Fallacy สอนว่า “การรู้มิได้ทำให้ชนะสงครามทั้งหมด” ดังนั้น จึงพึงระวังตนเสมอ

ความหวือหวา หรือวู่วาม โดดเข้าสู่ความคิดใดตามอารมณ์ที่ถูกปลุกเร้าคือความเขลาโดยแท้ เพราะคนมีปัญญานั้นสามารถรับฟังและเรียนรู้ทุกสิ่งได้โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อหรือคล้อยตาม 

การมีความคิดเป็นของตนเองอย่างชาญฉลาดนั้น เป็นคุณสมบัติที่พึงปรารถนาอย่างมากของคนมีคุณภาพในโลกปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยการถูกชักนำให้คล้อยตามเพื่อประโยชน์ของคนอื่น.