ประเด็นทางกฎหมายของ ‘สัญญารับทุนรัฐบาล’ | พรรณพิสุทธิ์ คงจันทร์

ประเด็นทางกฎหมายของ ‘สัญญารับทุนรัฐบาล’ | พรรณพิสุทธิ์ คงจันทร์

ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญารับทุนมีจำนวนมากและหลายกรณีก็เป็นข่าวดัง จนทำให้สังคมมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับสัญญารับทุนอย่างแพร่หลาย

สัญญารับทุนรัฐบาล” มีหลากหลายประเภทและเงื่อนไขของสัญญาก็อาจจะแตกต่างกันในรายละเอียด โดยทั่วไปสัญญารับทุนรัฐบาลเป็นสัญญาที่รัฐบาลไทย หรือหน่วยงานของรัฐ ให้ทุนการศึกษาแก่บุคคลทั่วไป หรือข้าราชการ เพื่อศึกษาต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดยส่วนใหญ่จะกำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับทุนเข้ารับราชการ หรือปฏิบัติงานชดใช้ทุนในหน่วยงานของรัฐที่กำหนดหลังสำเร็จการศึกษาเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 เท่าของระยะเวลาในการรับทุน

สัญญาทางปกครอง

สัญญารับทุนรัฐบาลที่กำหนดให้ผู้รับทุนเข้ารับราชการ หรือปฏิบัติงานชดใช้ทุนในหน่วยงานของรัฐ ถือเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งคู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ 

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดในที่ประชุมใหญ่ขยายความรวมถึงสัญญาที่ตกลงให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าดำเนินการ หรือเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง หรือเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ

ซึ่งสัญญารับทุนที่ระบุให้ผู้รับทุนปฏิบัติงานชดใช้ทุนในหน่วยงานของรัฐ เป็นการที่ผู้รับทุนเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรงจึงเป็นสัญญาทางปกครอง 

ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญารับทุนรัฐบาลจึงตกอยู่ภายใต้อำนาจของศาลปกครอง ทั้งนี้ ทุนรัฐบาลบางประเภท เช่น ทุนเล่าเรียนหลวง และทุนในโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ที่มิได้มีการกำหนดให้ผู้รับทุนปฏิบัติงานชดใช้ทุนในหน่วยงานของรัฐเมื่อสำเร็จการศึกษา

เพียงแต่กำหนดให้ผู้รับทุนประกอบอาชีพใดก็ได้ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาเท่ากับระยะเวลาในการรับทุน จึงมิใช่กรณีสัญญาร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาเหล่านี้จึงต้องฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรม

เบี้ยปรับ

หากผู้รับทุนไม่สำเร็จการศึกษาตามที่กำหนด หรือไม่เข้าปฏิบัติงานชดใช้ทุนให้ครบถ้วนตามที่กำหนด ผู้รับทุนและผู้ค้ำประกันต้องร่วมกันชดใช้เงินทุนที่ได้รับพร้อมเบี้ยปรับ หากผิดนัดชำระก็ต้องชำระดอกเบี้ยตามที่กฎหมายกำหนดด้วย 

การกำหนดเบี้ยปรับเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าเมื่อลูกหนี้มิได้ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร โดยเบี้ยปรับของสัญญารับทุนรัฐบาลส่วนใหญ่กำหนดไว้เป็น 2 เท่าของจำนวนเงินทุน ซึ่งมีข้อพิพาทหลายกรณีที่ผู้รับทุนสู้คดีว่าเบี้ยปรับดังกล่าวสูงเกินไปและขอให้ศาลลดเบี้ยปรับลง

โดยศาลมีอำนาจพิจารณาลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควร หากพิจารณาว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนตามมาตรา 383 วรรคแรกแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

โดยศาลต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน อาจรวมถึงงบประมาณค่าใช้จ่าย ระยะเวลา และโอกาสที่หน่วยงานทางปกครองต้องสูญเสียในการพัฒนาบุคลากรเพื่องานราชการ และคำนึงถึงวัตถุประสงค์และเงื่อนไขของสัญญารับทุนและพฤติการณ์ของผู้รับทุนเป็นรายกรณีประกอบกัน

ส่วนระยะเวลาการปฏิบัติงานชดใช้ทุน ที่สัญญารับทุนรัฐบาลส่วนใหญ่กำหนดไว้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุนการศึกษาอาจเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป ซึ่งตลอดระยะเวลาดังกล่าวผู้รับทุนจะถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการเลือกประกอบอาชีพ ต้องปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐที่สัญญารับทุนได้กำหนดไว้หรือหน่วยงานที่ผู้ให้ทุนได้ให้ความยินยอมเท่านั้น

ประกอบกับอัตราเบี้ยปรับที่สูงมาก ทำให้สิทธิและเสรีภาพในการเลือกประกอบอาชีพของผู้รับทุนถูกจำกัดมากยิ่งขึ้น โดยผู้รับทุนที่มีฐานะทางการเงินของตนและครอบครัวต่ำ จะถูกจำกัดเสรีภาพในการเลือกประกอบอาชีพในความเป็นจริงมากกว่า ผู้รับทุนที่มีความสามารถในการชดใช้เงินทุนได้เมื่อต้องการลาออกจากราชการเพื่อประกอบอาชีพอื่น

การเจ็บป่วย

นอกจากนี้ยังมีประเด็นปัญหาผู้รับทุนไม่สามารถปฏิบัติงานชดใช้ทุนได้ตามสัญญาเนื่องจากการเจ็บป่วย กรณีนี้อาจเป็นข้อยกเว้นในเงื่อนไขของสัญญารับทุนได้ โดยการเจ็บป่วยอาจเป็นการเจ็บป่วยทางกายหรือทางจิตใจก็ได้

ซึ่งผู้ให้ทุนและกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วว่าผู้รับทุนไม่อาจหรือไม่สามารถเข้ารับราชการหรือปฏิบัติงานชดใช้ทุนได้เลย ผู้รับทุนจึงอาจจะหลุดพ้นไม่จำต้องผูกพันตามสัญญาปฏิบัติงานชดใช้ทุน

 แต่หากภายในระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่ผู้ให้ทุนมีคำสั่งให้ผู้รับทุนเข้าปฏิบัติงาน ผู้รับทุนเข้าทำงานในหน่วยงานอื่น เช่น รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานเอกชน หรือองค์การระหว่างประเทศ โดยได้รับเงินเดือนและผลประโยชน์อื่นที่สูงกว่าการปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐที่กำหนด ผู้รับทุนจะต้องชดใช้เงินทุนและเบี้ยปรับตามที่สัญญารับทุนกำหนด 

การเจ็บป่วยของผู้รับทุน ซึ่งเกิดจากการศึกษาเล่าเรียนที่ยากเย็นและใช้เวลานานกว่าจะสำเร็จการศึกษา ความกดดันหรือการที่ต้องอดทนศึกษาเล่าเรียนหรือปฏิบัติงานในสาขาที่ไม่ถนัด ยังเป็นปัญหาที่ผู้รับทุนต้องเผชิญและไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

ในกรณีที่ผู้รับทุนเสียชีวิตขณะกำลังศึกษาหรือปฏิบัติงานชดใช้ทุนตามที่สัญญารับทุนกำหนด ผู้รับทุนจะหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาได้ แต่ในกรณีที่ผู้รับทุนเสียชีวิตในระหว่างชดใช้เงินทุนคืนจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญารับทุน

ผู้ค้ำประกันรวมถึงทายาทของผู้รับทุนยังมีหน้าที่ชดใช้เงินคืนให้ครบตามจำนวนแต่ศาลอาจพิจารณาลดเบี้ยปรับได้แล้วแต่กรณี

บทสรุป

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นจากการเซ็นสัญญารับทุนรัฐบาลไทย ผู้สนใจที่จะรับทุนควรพิจารณาข้อดีและข้อเสียของการรับทุนการศึกษาที่มีข้อผูกพันอย่างรอบคอบและศึกษารายละเอียดเงื่อนไขของสัญญารับทุนอย่างละเอียดถี่ถ้วน

เพราะเมื่อผู้รับทุนเข้าทำสัญญาแล้วย่อมต้องผูกพันตามเงื่อนไขของสัญญาทุกประการ และการผูกพันนั้นอาจเกี่ยวข้องกับเงินจำนวนมากและระยะเวลาครึ่งค่อนชีวิตของผู้รับทุนก็เป็นได้