5 ทักษะเด่นปั้น 'ช้างเผือก' สร้างวงจรเรียนรู้ในชั้น เชื่อ PISA 2025 จะดีขึ้น

5 ทักษะเด่นปั้น 'ช้างเผือก' สร้างวงจรเรียนรู้ในชั้น เชื่อ PISA 2025 จะดีขึ้น

กสศ. เปิดผลวิเคราะห์ PISA 2022 เด็กไทยไม่ผ่านเกณฑ์เกินครึ่ง มีเด็กเก่งแค่ 1% ยิ่งยากจน คะแนนยิ่งต่ำ ขณะที่ 'เด็กช้างเผือก' คะแนนสูงกว่าทุกกลุ่ม พร้อมเปิด 5 ทักษะปั้น 'ช้างเผือก' ทางรอดให้กับประเทศ สร้างแรงหนุนครอบครัว โรงเรียน เชื่อผลประเมิน PISA 2025 จะดีขึ้น

 

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ดร.ไกรยส ภัทรวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวในเวทีเสวนา Exclusive Talk PISA 2022 และอนาคตทิศทางการศึกษาไทย Beyond 2025 ว่า จากข้อกังวลเรื่องของผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากลของเด็กไทย PISA 2022 พบว่า นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 394 คะแนน วิทยาศาสตร์ 409 คะแนน และการอ่าน 379 คะแนน ซึ่งลดลงทุกด้านและต่ำสุดในรอบ 20 ปีนั้น ทำให้เกิดข้อคำถามที่ทิศทางของระบบการศึกษาไทยว่าควรจะไปต่ออย่างไร

 

กสศ. โดย สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) จึงนำฐานข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development) หรือ OECD มาวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาการศึกษาและปฏิรูปในระยะยาว ซึ่งผลการวิเคราะห์จากการสำรวจสอบถาม นักเรียนไทยกว่า 8 พันคน พบว่า สมรรถนะต่ำกว่าระดับพื้นฐานหรือไม่ผ่านเกณฑ์ คือ Level 1 ด้านคณิตศาสตร์มีถึง 68.3% การอ่านไม่ผ่าน 65.4% และวิทยาศาสตร์ไม่ผ่าน 53% ขณะที่ กลุ่มอัจฉริยะหรือสมรรถนะระดับสูง Level 5 และ 6 ด้านคณิตศาสตร์มีเพียง 1% การอ่าน 0.2 % และวิทยาศาสตร์ 0.6%

 

5 ทักษะเด่นปั้น \'ช้างเผือก\' สร้างวงจรเรียนรู้ในชั้น เชื่อ PISA 2025 จะดีขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

“ผลการประเมิน PISA ค่อนข้างสวนทางกับที่เราส่งนักเรียนไปแข่งโอลิมปิคได้เหรียญทองกลับมา แต่จริงๆ PISA ก็เหมือนการแข่งกีฬา แต่โอลิมปิคเราส่งเด็กเก่งไปที่สู้กับใครในโลกก็ได้ แต่ PISA เป็นกีฬาที่ใหญ่มาก อย่างข้อมูลตรงนี้มาจาก 8 พันคน จึงสะท้อนภาพของความเหลื่อมล้ำ เรามีเด็กเก่งแค่ 1 ใน 100 แต่อีก 70 ไม่ผ่านเลย และถ้ากลุ่มตัวอย่างเป็นหมื่นเป็นแสนคน ก็จะมีเห็นสัดส่วนที่มากกว่านี้ ซึ่งจริงๆ แล้วสัดส่วนเด็กเก่งกับไม่ผ่าน ไม่ควรจะห่างกันมากเกินไป เราต้องพยายามขยับสัดส่วนให้เข้าใกล้ค่าเฉลี่ยของ OECD” ดร.ไกรยส กล่าว

 

เศรษฐานะ และ ค่าเฉลี่ยคะแนน

นอกจากนี้ ยังได้วิเคราะห์เรื่องเศรษฐานะของนักเรียนแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มรวยสุด 25% บน จนถึงยากจนสุด 25% ล่าง พบว่า นักเรียนที่ครอบครัวมีระดับรายได้น้อยลงมา ค่าเฉลี่ยคะแนนจะน้อยลงตามมาเช่นกัน ทั้ง 3 วิชา เมื่อดูสัดส่วนระหว่างผ่านเกณฑ์กับไม่ผ่านเกณฑ์ของทั้ง 4 กลุ่ม จะพบว่า กลุ่มรวยที่สุด สัดส่วนใกล้เคียงกันคือ ผ่าน 52 % ไม่ผ่าน 48 % แต่ระดับรายได้ลดลงสัดส่วนระหว่างผ่านเกณฑ์และไม่ผ่านเกณฑ์ก็แตกต่างกันมาก

 

กลุ่มยากจนที่สุด ไม่ผ่านสูงถึง 77.43% ผ่านเพียง 22.57% แต่เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปจะพบว่า กลุ่มเด็กช้างเผือก คือ กลุ่มเด็กที่ยากจนที่สุด แต่มีผลคะแนนสูงในกลุ่มท็อป 25% บน พบว่า มีจำนวน 260 คน  สามารถทำคะแนนทั้ง 3 วิชาได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มเด็กที่รวยที่สุดในประเทศ นับเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ แต่กลุ่มนี้มักหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนใคร ไปไม่ถึงระดับอุดมศึกษาเพราะต้องออกมาหาเลี้ยงครอบครัว

 

5 ทักษะเด่นปั้น \'ช้างเผือก\' สร้างวงจรเรียนรู้ในชั้น เชื่อ PISA 2025 จะดีขึ้น

 

 

"เราจึงต้องค้นหาเด็กช้างเผือก ดูแลให้มีเส้นทางการศึกษาให้ไกลที่สุด มีงานทำ และเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศ ก็จะมีโอกาสที่มีรายได้สูงที่จะพาออกจากกับดักความยากจน ดังนั้น การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในไทย การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ โดยเราพบว่า กลุ่มช้างเผือกมีทัศนะอยากเรียนสูงมากกว่าเด็กยากจนส่วนใหญ่"

     

เมื่อพิจารณาปัจจัยสนับสนุนจากครอบครัว เช่น ได้กลับบ้านไปเจอพ่อแม่ไหม มีบทสนทนาการศึกษากับที่บ้านไหม และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโรงเรียน กลุ่มเด็กช้างเผือกสถานการณ์ดีกว่าเด็กยากจน ขณะที่กรอบความคิดแบบเติบโต Growth Mindset หรือเชื่อว่าตนเองพัฒนาได้ กลุ่มเด็กช้างเผือกก็คะแนนสูงกว่าทุกกลุ่ม

 

"ดังนั้น การจะเปลี่ยนเด็กยากจนหรือช้างพังให้เป็นช้างเผือกได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปเติมเต็มช่องว่างให้ได้ โดยเฉพาะบริบทของครอบครัวและโรงเรียน รวมถึงปลูกฝัง Growth Mindset ให้ไม่ย่อท้อปัญหา ไม่ยอมแพ้ และเชื่อว่าพัฒนาได้ เพราะหากดูข้อมูลระดับโลก จะเห็นว่าประเทศที่เด็กมีคะแนน Growth Mindset สูง คะแนน PISA ก็สูงตามไปด้วย” ดร.ไกรยสกล่าว

 

Big 5 Model ปั้นเด็กช้างเผือก

นอกจากนี้ กสศ. ยังทำโครงการวิจัย PISA for School ร่วม OECD วิเคราะห์ในระดับโรงเรียน พบว่า เด็กช้างเผือกทำคะแนนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนจากทุกระดับรายได้ เราวิเคราะห์ว่าความเป็นช้างเผือกสร้างได้หรือไม่ พบว่า มีตัวแปร 5 ตัวทักษะอารมณ์สังคม หรือ Big 5 Model ที่เด็กช้างเผือกมี แต่เด็กยากจนคนอื่นไม่มี คือ

1.การมองโลกแง่บวก

2.การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

3.รู้สึกกระตือรือร้นไม่หยุดนิ่ง ตัวเองต้องพัฒนาตลอดเวลา

4.การมีระเบียบวินัยในตัวเอง

5.ความอยากรู้อยากเห็น

 

ซึ่งบางทักษะเด็กช้างเผือกก็สูงกว่าเด็กฐานะดีด้วยซ้ำ หากมีการบ่มเพาะให้เด็กมีทักษะเหล่านี้ อนาคตของเด็กไทยก็จะดีขึ้นมาก นอกจากนี้ ยังพบว่า โรงเรียนที่มีปัญหาขาดแคลนทรัพยากร และบุคลากร คือ ยิ่งขาดครู ไม่ครบชั้น ไม่ครบสาระ ขาดอุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอน ยิ่งได้คะแนน PISA น้อย โดยงบประมาณการศึกษาส่วนใหญ่เป็นเงินเดือนและงบประจำ งบลงทุน เหลือเป็นงบพัฒนาการสอนไม่ถึง 10 % ดังนั้น จึงต้องสนับสนุนให้มีงบประมาณลงไปถึงห้องเรียนด้วย

 

5 ทักษะเด่นปั้น \'ช้างเผือก\' สร้างวงจรเรียนรู้ในชั้น เชื่อ PISA 2025 จะดีขึ้น

 

ไม่มีรั้วระหว่างบ้านและโรงเรียน

ทั้งนี้ เมื่อสอบถามความรู้สึกของเด็ก เด็กรู้สึกตัวเองใช้เวลาเรียนเยอะ แต่ไม่รู้สึกว่าได้เรียนรู้อะไร ขณะที่บางประเทศอย่างนิวซีแลนด์ ฟินแลนด์ แคนาดา เกาหลีใต้ เอสโตเนีย ญี่ปุ่น ใช้เวลาเรียนไม่เยอะ แต่เด็กรู้สึกได้ว่าเรียนรู้จริงๆ และกลุ่มนี้คะแนน PISA ก็สูง ขณะที่ความรู้สึกปลอดภัย เด็กไทยก็รู้สึกไม่ค่อยเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน หรือขาดขวัญทางการศึกษา ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากช่วงสถานการณ์โควิด 19 ด้วย

 

ขณะที่การสอบถามความเห็นของครู พบว่า ไม่อยากให้มองแค่ผล PISA แต่ต้องมองทะลุไปสู่ภาพที่ใหญ่กว่านั้น คือ พัฒนาการศึกษาอย่างไรให้เด็กมีแรงบันดาลใจรู้สึกอยากเรียน และครูสนับสนุนให้เดินไปบนเส้นทางนั้น เด็กจึงเรียนแล้วไม่เครียด สร้างระบบการศึกษาที่มาจากรอบๆ ตัวเด็ก ให้ความสำคัญระบบนิเวศน์การเรียนรู้ เชื่อมโยงไปสู่ครอบครัว ชุมชน ประเทศ

 

ดังนั้น ข้อเสนอเชิงนโยบายของ กสศ. คือ ต้องไม่มีรั้วระหว่างบ้านและโรงเรียน ที่แยกกันทำหน้าที่ บ้านก็โยนว่าหน้าที่การเรียนการสอนเป็นของโรงเรียน หรือโรงเรียนไม่ได้สนใจสถานะของเด็ก ต้องมีมาตรการสนับสนุนให้เกิดการทำงานระหว่างบ้านและโรงเรียนมีมากขึ้น

 

รวมถึงทำให้เกิดการเรียนรู้เพื่อทักษะอนาคต ต้องบูรณาการทั้งเรื่องของสุขภาวะเด็ก การเรียนการสอน และการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ให้เป็นภาพเดียวกัน จะมองแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้ เช่น สุขภาวะต้องดูว่าเด็กมีภาวะทุพโภชนาการหรือไม่ ซึมเศร้าไหม การเรียนการสอนที่ต้องออกแบบให้ยืดหยุ่น ถ้าทำได้ดี เมื่อมีการประเมินเข้ามาเด็กไทยก็มีขวัญพร้อมเข้าสู่การประเมิน แนวโน้มก็จะดีขึ้น

 

5 ทักษะเด่นปั้น \'ช้างเผือก\' สร้างวงจรเรียนรู้ในชั้น เชื่อ PISA 2025 จะดีขึ้น

 

ขณะที่ ระบบการศึกษานั้นมีหลายระบบ มีทั้งที่เน้นเรื่องการเรียนอย่างมีความสุข ผลคะแนนดี และความเสมอภาค เราพบว่า มี 4 ระบบการศึกษา คือ ญี่ปุ่น เกาหลี ลิทัวเนีย และไต้หวัน ที่ทำได้ทั้ง 3 ด้าน ส่วนระบบการศึกษาของไทยก็ต้องมาดูว่าจะเริ่มจากจุดไหน

 

“การปฏิรูปที่สำคัญ คือ ต้องทำให้เกิดวงจรการเรียนรู้ในชั้นเรียน ซึ่งที่ผ่านมาเราติดกับดักแค่ตอนสอบ ใช้การประเมินเชิง Summative Assessment หรือการสอบไล่ พอวัดผลแล้วก็ปิดเทอม ไม่ได้มีการพัฒนา จึงต้องทำให้เกิดการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้เชิง Formative Assessment มากขึ้น ให้ครูมีเครื่องมือนี้ในการประเมินผลตอนที่เด็กกำลังเรียน แต่ไม่ใช่การสอบมิดเทอม จะทำให้เด็กรู้ว่าเรียนรู้เพื่อไปสู่เป้าหมายหรือเนื้อหาส่วนไหน ตัวเองเรียนรู้มาถึงจุดไหน และเป้าหมายการเรียนรู้ต่อไปคืออะไร ทำให้รู้ว่าเด็กเรียนได้ดีขึ้นหรือแย่ลงแล้วต้องรีบพัฒนา อย่าไปรอลุ้นประเมิน PISA ซึ่งเราเป็นอย่างนี้มา 20 ปีแล้ว ซึ่งจริงๆ PISA เป็นเพียงเหมือนการตรวจสุขภาพเท่านั้น ที่ทำให้เรารู้ว่าต้องพัฒนาตรงไหนอย่างไร” ดร.ไกรยส กล่าว

 

ดร.ไกรยส กล่าวว่า กสศ.กำลังทำวิจัยกับ OECD ในการนำ PILA หรือ นวัตกรรมการประเมินการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องมาทดลองใช้ เพราะต่อไปการประเมิน PISA 2025 รูปแบบการประเมินจะเปลี่ยนจากประเมินความรู้ ที่เป็นแบบเลือกตอบปรนัย มาสู่การประเมินสมรรถนะที่เปิดกว้าง มีระบบโต้ตอบกับผู้ใช้ในการใช้เหตุผลบนฐานข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ หากทำผิดก็แก้ไขได้ จะทำให้เกิดการประเมินว่าทำครั้งที่สองทำดีขึ้นไหม มีความอดทน ต่อสู้ และมี Growth Mindset หรือไม่

 

5 ทักษะเด่นปั้น \'ช้างเผือก\' สร้างวงจรเรียนรู้ในชั้น เชื่อ PISA 2025 จะดีขึ้น