เลิกใช้ "โทรศัพท์มือถือ" ในห้องเรียน

เลิกใช้ "โทรศัพท์มือถือ" ในห้องเรียน

ข่าวคราวเรื่องการห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในชั้นเรียนของต่างประเทศหนาหูขึ้นทุกวัน เพราะมีหลักฐานว่าทำให้เด็กไม่ตั้งใจเรียนจนขาดประสิทธิภาพในการเรียนรู้  นักเรียนแบ่งความสนใจออกไปเรื่องนอกห้องในเวลาเรียน    

คำถามที่ควรใคร่ครวญก็คือถึงเวลาหรือยังที่เราควรพิจารณาเรื่องนี้กันในบ้านเราเพราะคุณภาพการศึกษาเป็นหัวใจของคุณภาพทรัพยากรมนุษย์  ความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ

เรื่องการห้ามใช้มือถือนี้มีการพูดกันในวงแคบ   ทั้ง ๆ รู้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ของการเรียนรู้ของเด็กไทยโดยเฉพาะในชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลายทั้งโรงเรียนใหญ่ที่มีชื่อเสียงและโรงเรียนทั่วไป   

บางโรงเรียนที่สามารถจัดการกับปัญหาเรื่องนี้ได้เด็กก็ได้ประโยชน์ไป  แต่ในบางโรงเรียนที่อยู่ภายใต้สภาวการณ์           “กลัวเด็ก” ของครูและพ่อแม่ผู้ปกครองในปัจจุบัน  

 

การปล่อยให้ใช้มือถือกันสนุกสนานระหว่างเรียนหนังสือ จะเป็นดาบที่กลับมาทิ่มแทงเด็กเองในระยะยาว เพราะการตั้งใจเรียนเป็นหัวใจของสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษา

จากที่ผู้เขียนสังเกตเห็นเองและจากการพูดคุยกับครูและนักเรียนจากหลายโรงเรียนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด    การหยิบมือถือขึ้นมาเล่นไลน์กับเพื่อน ๆ    ส่งรูปหรือข้อความหรือสื่อสารโซเซียลมีเดีย รวมทั้งเล่นเกมส์สลับไปด้วยขณะเรียนเป็นเรื่องปกติที่เห็นกันทั่วไป 

 การไม่ให้ความสนใจเต็มที่แก่กระบวนการเรียนรู้ ที่ครูกำลังสร้างขึ้นสำคัญยิ่งในปัจจุบันเพราะ

   (1) การสูญหายของการเรียนรู้ (learning loss) จากโควิด 19  เวลา 3 ปีที่ผ่านมาของการเรียนแบบกระพร่องกระแพร่ง ทั้งออนไซต์และออนไลน์  ทำให้เด็กทั่วไป “อ่อน” ไปมากในเรื่องความรู้    

นักเรียนเรียน ป.4 ถึง ป.6 ในปัจจุบันคือ กลุ่มที่เรียนรู้แบบสุก ๆ ดิบ ๆ   เมื่อตอนอยู่ ป.1 ถึง ป.3 และนักเรียนชั้นมัธยม ม.1 ถึง 3 และ ม.4 ถึง ม.6 ก็เป็นผลพวงจากการเรียนช่วง 3 ปีก่อนเช่นกัน  หากในปัจจุบันไม่ตั้งใจเรียนกันเต็มที่แล้ว  การไล่ตามทันการเรียนรู้ในชั้นเรียนปัจจุบันก็จะยิ่งยากยิ่งขึ้น

(2) การเรียนรู้ในปัจจุบันต้องการความมีส่วนร่วมของนักเรียน เพราะระบบปัจจุบันไม่ใช่การสอนแบบเดิม หากเป็นการเรียนรู้ (teach less and learn more)  โดยนักเรียนมีส่วนร่วมในการสร้างคำถาม ร่วมคิด  ร่วมตอบ( ที่เรียกว่า active learning) 

หากมีการฟังและมีความสนใจน้อยลงเพราะมัวสนุกกับมือถือแล้ว  ระบบการเรียนรู้ที่ทันสมัยนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

(3) นิสัยไม่จริงจังและไม่รักการเรียนรู้ก็ฟักตัวมาจากสภาวการณ์เช่นนี้แหละ จนเคยตัวและ  ติดตัวไปตลอด   การเดินไปตามถนนตามปกติยังไม่ควรใช้มือถือเพราะเกิดอันตรายได้โดยง่าย   แล้วการเรียนรู้จากชั้นเรียนซึ่งสำคัญอย่างยิ่งจะไปได้ดีอย่างไร   หากไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร  

(4) เพื่อนร่วมชั้นเรียนที่ตั้งใจเรียนถูกกระทบอย่างไม่เป็นธรรม จากความสนุกจากมือถือซึ่งมีการเคลื่อนไหวบนจอ และอาจมีเสียงประกอบด้วยจากเพื่อนข้าง ๆ

หลายคนอาจสงสัยว่า “กลัวเด็ก” หมายถึงอะไร  คำตอบก็คือ “กลัวเด็ก”  คือความหวั่นเกรงพฤติกรรมของเด็กในการโพสต์คลิปหรือข้อความเสีย ๆ หาย ๆ บนโซเซียลมีเดีย    กลัวการรวมตัวกันสร้างกระแสบีบให้ย้ายหรือลาออก  กลัวว่าหากห้ามปราม  สั่งสอน   กำราบ   จนเด็กไม่พอใจแล้วตนเองอาจเดือดร้อนได้

ดังนั้น จึงปล่อยให้ผ่านไป   จะเรียนหรือไม่ก็ช่างมันตราบที่ไม่รบกวนชั้นเรียนเป็นใช้ได้     ส่วนฝั่งพ่อแม่ผู้ปกครองก็กลัวลูกไม่ได้ทุกอย่างตามต้องการดั่งเช่นพ่อแม่ที่เคยลำบากมาก่อนจึงตามใจ  

อีกทั้งกลัวลูกไม่พอใจหากบังคับจนมีปฏิกิริยา หรือมีพฤติกรรมที่พ่อแม่ปวดหัวจึงยอม ๆ ไป   ไม่ว่ากล่าวตักเตือน               ซื้อโทรศัพท์มือถือให้ และไม่ห้ามปรามการใช้ในขณะเรียน

ความกลัวหรือความไม่กล้าเช่นนี้ สามารถไล่ได้ตั้งแต่ข้างบนลงมาจนถึงผู้อำนวยการโรงเรียนและครู จนทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการใช้มือถือในชั้นเรียนได้และครอบคลุมไปถึงเรื่องอื่น ๆ ด้วยของนักเรียน    

กลัวการมีเรื่องกับผู้ปกครองหากไม่พอใจและเป็นเรื่องใหญ่โต  พ่อแม่อาจโวยวายหากห้ามใช้มือถือในโรงเรียน (แม้จะระบุห้ามใช้ในชั้นเรียนเท่านั้น) เพราะติดต่อลูกไม่ได้     หากมีเรื่องเร่งด่วนจะทำอย่างไร ฯลฯ 

ซึ่งที่จริงแล้วมีวิธีการมากมายที่การห้ามซึ่งช่วยให้ตั้งใจเรียนรู้ในชั้นเรียน และการติดต่อกับลูกเพื่อความสะดวกต่าง ๆ นั้นสามารถไปด้วยกันได้

          รายงานของ UNESCO เมื่อเร็ว ๆ นี้ รายงานว่าเกือบ 1 ใน 4 ของประเทศทั้งหมดหรือ 48 ประเทศในโลกมีนโยบายและกฎหมายห้าม หรือกำหนดขอบเขตการใช้โทรศัพท์มือถือของนักเรียนในโรงเรียน  ยกเว้นเด็กที่พิการ หรือการใช้เพื่อการศึกษาเป็นครั้งคราวโดยครูเป็นผู้อนุญาต  

เมื่อต้นปีนี้ รัฐฟลอริด้าในสหรัฐอเมริกาออกกฎหมายบังคับให้โรงเรียนของรัฐทั้งหมดเช่นเดียวกับหลายรัฐก่อนหน้านั้นห้ามการใช้โทรศัพท์มือถือในชั้นเรียน  และเมื่อเดือนที่แล้วรัฐบาลอังกฤษออกแนวทางสนับสนุนให้ห้ามการใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนทั้งประเทศ  

 ปีที่แล้วอิตาลีก็ห้ามในลักษณะเดียวกัน   ส่วนจีนนั้นเมื่อสองปีก่อนห้ามเด็กนักเรียนเอาโทรศัพท์มือถือไปโรงเรียน    การห้ามเช่นนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส  เนเธอร์แลนด์  ฟินแลนด์  อิสราแอล  ออสเตรเลีย  กรีก   รวันดา  อูกันดา  ฯลฯ

รายงานของ Common Sense Media ติดตามเด็กนักเรียน 200 คน และพบว่าได้รับข้อความโซเซียลมีเดีย 237 ชิ้นผ่านมือถือในเวลาหนึ่งวันที่โรงเรียน และ 1 ใน 4 ของจำนวนนี้ส่งถึงเด็กเหล่านี้ระหว่างชั่วโมงเรียน  

การใช้ประโยชน์จากมือถือประกอบการเรียนในชั้นเรียนนั้นมีน้อย (นักศึกษามหาวิทยาลัยในไทยและเทศก็มีพฤติกรรมการไปท่องโลกข้างนอกขณะอยู่ในชั้นเรียน   อย่างไม่ต่างไปจากนักเรียนมัธยมนัก)  

ถึงแม้จะห้ามใช้ก็ไม่ได้ทำให้เสียโอกาสมากมายนักเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับจากการห้ามซึ่งมีมากจนเทียบกันไม่ได้  ผู้เขียนเชื่อว่าในบ้านเรานั้นมีผลเสียจากใช้ในระหว่างเรียนมากมาย   การห้ามควรเน้นการใช้ในชั้นเรียน  และยอมให้ใช้ในโรงเรียนเพื่อติดต่อกับผู้ปกครองได้

ควรมีการศึกษาว่าจริง ๆ แล้วนักเรียนใช้เวลามากน้อยเพียงใดขณะอยู่ในชั้นเรียนไปกับเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนรู้ผ่านมือถือ และเกิดการสูญเสียการเรียนรู้ไปมากน้อยเพียงใด และปัญหานี้ซีเรียสมากน้อยเพียงใด   

วิธีการคือทดลองห้ามใช้ในชั้นเรียนในบางโรงเรียนแนว sandbox  แล้วนำพฤติกรรม ตลอดจนสัมฤทธิ์ผลการเรียนมาเปรียบเทียบกับที่ใช้กันเกร่อเป็นปกติในชั้นเรียน   หากได้หลักฐานที่ชัดเจนว่าเกิดประโยชน์กว่าก็สามารถโน้มน้าวให้ทุกโรงเรียนทำตามโดยผู้ปกครองและประชาชนทั่วไปก็เห็นด้วย    ทั้งหมดเป็นไปเพื่อประโยชน์ของนักเรียนโดยแท้

ที่เป็นห่วงก็คือ การเห็นว่าเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือในชั้นเรียนนั้นเป็นเรื่องเล็ก  มิใช่เรื่องซีเรียสที่ต้องให้ความสนใจแต่อย่างใด   ยังไงเด็กมันก็เรียนกันได้อยู่แล้ว   ทำกันแบบไทย ๆ นี่แหละ  ผู้บริหารการศึกษาและครูก็ไม่ต้องลำบากใจ  เด็กก็สนุก  ไม่ต้องทะเลาะกับผู้ปกครอง  แล้ว ๆ ทุกอย่างก็จะดีไปเอง.