ขจัด ’เหลื่อมล้ำ-ยากจน’ ต้องพัฒนาทุนมนุษย์

ขจัด ’เหลื่อมล้ำ-ยากจน’ ต้องพัฒนาทุนมนุษย์

คุณภาพคนมีบทบาทสำคัญมากต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยอย่างมาก หากต้องการยกระดับเศรษฐกิจจำเป็นต้อง “ยกระดับการศึกษาไทย” ยกระดับคุณภาพคนให้ดีขึ้น

“สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย” ฉบับล่าสุดที่ธนาคารโลก และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยวานนี้ (29 พ.ย.) พบว่า ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำระดับสูง โดยปี 2564 ไทยมีความไม่เสมอภาค (Gini coefficient) ของรายได้อยู่ที่ 43.3% สูงสุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และอยู่อันดับที่ 13 จาก 63 ประเทศที่รายงานข้อมูล เมื่อพิจารณาการกระจุกตัวของรายได้และความมั่งคั่ง พบว่า คนรวยที่สุดเพียง 10% ถือครองความมั่งคั่งเกินกว่าครึ่งของทั้งประเทศ สัดส่วนประชากรวัยทำงานที่ลดลงของไทยเป็นปัจจัยที่ทำให้ความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น

และยังพบว่า เด็กที่มาจากครัวเรือนร่ำรวยมีโอกาสได้ศึกษาดีกว่าเด็กที่มาจากครัวเรือนยากจน และมีโอกาสได้งานที่ดีกว่า ขณะที่ผลคะแนนของนักเรียนไทยในโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ปี 2561 ยังแสดงให้เห็นผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่ร่ำรวยกว่าสูงขึ้น เมื่อเทียบกับนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่ยากจน กอรปกับผลสำรวจหลายสำนักชี้ว่าประเทศไทย มีระบบการศึกษาที่ “รั้งท้าย” หากเทียบกับประเทศอาเซียนด้วยกันเองมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความสามารถและทักษะด้านการสื่อสาร “ภาษาอังกฤษ” ของเด็กไทยที่อยู่อันดับท้ายๆ

ขณะที่ “คน” ถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ หากมีทรัพยากรบุคคลที่เก่งๆ จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องพัฒนา “คุณภาพของคน” ก่อน เพราะ “คน” ถือทุนมนุษย์ (Human capital) ที่จะนำไปสู่การแข่งขันได้ งานวิจัย “รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง” ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เกี่ยวกับ “การพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพการอบรมเลี้ยงดูโดยผู้ปกครอง” ชี้ว่า คุณภาพคนว่ามีบทบาทสำคัญมากต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยอย่างมาก หากต้องการยกระดับเศรษฐกิจจำเป็นต้อง “ยกระดับการศึกษาไทย” ยกระดับคุณภาพคนให้ดีขึ้น

งานวิจัยระบุว่า การพัฒนาคน หรือทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ต้องเริ่มตั้งแต่ “วัยเด็ก” ซึ่งรากฐานสำคัญต้องมาจาก “ผู้ปกครอง” เห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กช่วงปฐมวัย ให้ได้รับการเรียนรู้ที่เหมาะสม และเด็กปฐมวัยที่เรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่มีครูปฐมวัยสอนตามศักยภาพและสอดคล้องกับการพัฒนาตามวัย มีการพัฒนาสูงกว่าเด็กที่ด้อยโอกาสตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน จึงจำเป็นต้องลงทุนกับการพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะปฐมวัย ต่อเนื่องการศึกษาในระบบ พัฒนาคุณภาพโรงเรียนให้ได้มาตรฐานใกล้เคียงกัน ช่วยให้พ่อแม่ที่มีความพร้อมมีลูกอย่างเหมาะสมตามวัยเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศในอนาคต แม้ว่าจะเป็นการลงทุนในระยะยาว แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องลงทุนไม่อย่างนั้นแล้วประเทศไทยก็จะรั้งท้ายไปเรื่อยๆ