“พัฒนาทุนมนุษย์”ภารกิจที่ต้องเร่งผลักดัน ยกระดับแข่งขันเศรษฐกิจไทย

“พัฒนาทุนมนุษย์”ภารกิจที่ต้องเร่งผลักดัน ยกระดับแข่งขันเศรษฐกิจไทย

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดผลวิจัยเกี่ยวกับ “การพัฒนาทุนมนุษย์” หวังยกระดับทุนมนุษย์ พัฒนาคุณภาพคน การศึกษาไทย ไปสู่การเพิ่มการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย

ปัญหาที่ถูกพูดถึงกันตลอดในช่วงที่ผ่านมา คือ “ระบบการศึกษาของไทย” จากผลสำรวจต่างๆ ในระดับภูมิภาคอาเซียน หรือระดับโลก ที่ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทย มีระบบการศึกษาที่ “รั้งท้าย” หรืออันดับหลังๆหากเทียบกับประเทศอาเซียนด้วยกันเองมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความสามารถและทักษะด้านการสื่อสาร “ภาษาอังกฤษ” ของเด็กไทยที่อยู่อันดับท้ายๆ

เหล่านี้อาจเป็นสิ่งสะท้อนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยว่า หากเราไม่มีการพัฒนาทุนมนุษย์ หรือ คุณภาพคน (Human capital) เราอาจไม่สามารถก้าวผ่านความยากลำบาก ไปสู่การแข่งขันได้เท่าที่ควร หากเทียบกับประเทศอื่นๆ
 

ล่าสุดสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดผลวิจัยเกี่ยวกับ “การพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพการอบรมเลี้ยงดูโดยผู้ปกครอง”​โดย รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

รศ.ดร. วีระชาติ ชี้ให้ถึงความสำคัญของการ “พัฒนาทุนมนุษย์” หรือคุณภาพคน ว่ามีบทบาทสำคัญมากต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยอย่างมาก ไม่ได้บอกว่าปัจจุบันการศึกษาไทยไม่ได้ให้อะไรเลย แต่สิ่งจำเป็น คือการ “ยกระดับการศึกษาไทย” ยกระดับคุณภาพคนให้ดีขึ้น

เพราะหากเราไม่มีการพัฒนาคน คุณภาพคนของประเทศไทยจะยิ่งแข่งขันได้ยากมากขึ้น แทนที่ประเทศไทยจะอยู่ในจุดที่ดีกว่านี้ ด้วยประชากรกว่า 60-70 ล้านคน เราควรมี “จีดีพี”ที่เติบโตได้ดีกว่านี้ หากเราพัฒนาทรัพยากรคนให้ดีขึ้น ให้สามารถทำงานได้ซับซ้อนมากขึ้น ทันสมัยมากขึ้น และสื่อสารได้ดีขึ้น 

“วันนี้เราหมดยุคของการผลิต จอหงวนไม่กี่คนแล้วประเทศจะเจริญได้ แต่เราควรทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศให้มี Capacity ที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเจริญได้มากขึ้น ดังนั้นเราทิ้งการพัฒนาคนไม่ได้”

สำหรับการแก้ไขปัญหาเรื่องทุนมนุษย์ผ่านระบบการศึกษา เป็นสิ่งที่เขามุ่งมั่นศึกษามาอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อหวังให้เกิดการแก้ปัญหาด้านการศึกษาได้อย่างตรงจุด เพราะเชื่อว่า การศึกษาจะเป็นเครื่องมือที่พัฒนาคน เป็นประตูทำให้คนสามารถเลื่อนขั้นทางสังคม ยกระดับชีวิตให้ดีขึ้นได้ ดังนั้นการ “ให้โอกาส” เป็นสิ่งสำคัญ จากการยกระดับคุณภาพคน ยกระดับการศึกษาให้ดีขึ้น เพื่อให้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับโอกาสอย่างทั่วถึงมากขึ้น

จากผลวิจัยนี้ ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาคน หรือ ทุนมนุษย์นั้น ที่สามารถพิสูจน์ได้ผ่านงานวิจัยต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือต้องเริ่มตั้งแต่ “วัยเด็ก” ปฐมวัย และการพัฒนาเด็กด้อยโอกาสตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก ที่ช่วยลดช่องว่างระหว่างเด็กด้อยโอกาสกับเด็กกลุ่มอื่นๆได้ดีกว่า การลงทุนในช่วงหลังของชีวิต ดังนั้นช่วงปฐมวัย จึงเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างยิ่ง

งานวิจัยนี้ มีการหยิบยก “โครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ หรือ “ไรซ์ไทยแลนด์” RIECE Thailand เพื่อหวังช่วยให้เด็กปฐมวัยเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยผลการศึกษาครั้งนี้ นำมาจากหลักสูตรที่เรียกว่า “ไฮสโคป” HighScope จากวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล โครงการ RIECE Thaland จึงเลือกหลักสูตรนี้มาปรับใช้กับบริบทของประเทศไทย

โดยเริ่มด้วยการทดลองใช้ที่จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดกาฬสินธุ์  และสุ่มเลือกศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 19 แห่ง จากทั้งหมด 50 แห่ง ให้มีครูปฐมวัยที่จัดหาจากโครงการร่วมสอนด้วยกระบวนการ “ไฮสโคป”เป็นระยะเวลาหนึ่งของปีการศึกษา

ผลจากการศึกษาพบว่า เด็กปฐมวัยที่เรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่มีครูปฐมวัยของโครงการร่วมสอน มีการพัฒนาสูงกว่าอีกกลุ่ม ซึ่งถือเป็นระดับที่น่าพอใจ แต่การจ้างครูปฐมวัยมีต้นทุนสูง ยากต่อการนำไปขยายผลต่อ และการร่วมสอนของครูโครงการยังไม่สามารถช่วยให้ครูที่สอนอยู่ที่เดิม สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการสอนได้มากเท่าที่ควร

โครงการจึงพัฒนาการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริง (on-site training) ขึ้นมาในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นวิธีการสอนที่เข้มข้นมากขึ้น เน้นการสอนในห้องเรียนจริงเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จากผลศึกษาชี้ให้เห็นว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริง สามารถช่วยยกระดับคุณภาพการจัดการการเรียนการสอนได้อย่างมีนัยสำคัญ  แม้การอบรมดังกล่าวจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แต่ยังประสบปัญหาในการขยายผล 

ส่วนหนึ่งน่าจะมาจาก “ขาดแรงจูงใจ” ที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพราะเหล่านี้ต้องมาพร้อมกับความพยายามที่มากขึ้น ครูต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้น แต่ผลตอบแทนเท่าเดิม ทำให้ความกระตือรือร้นไปสู่การเปลี่ยนแปลงการเรียน การสอนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับ “เด็ก”ให้มีคุณภาพมากขึ้น เกิดขึ้นได้ยาก!!

“ปัญหาใหญ่ของระบบการศึกษา คือ ครูขาดแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไปสู่การสอนที่มีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้เกิดขึ้น เพื่อยกระดับการศึกษาไทย คือการทำให้เกิดแรงจูงใจ ให้ครู มีแรงจูงใจในการอยากพัฒนา เพิ่มประสิทธิภาพตัวเองมากขึ้น เพื่อให้เกิดความยากที่จะถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ไปสู่นักเรียนมากขึ้น จนนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของเด็กไทยให้มีมากขึ้น”

อีกด้านที่สำคัญ สำหรับการพัฒนาคน พัฒนาเด็กให้มีคุณภาพ รากฐานสำคัญมาจาก “ผู้ปกครอง” ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ผู้ปกครองเต็มใจ และไม่ปฏิเสธในการช่วยเด็กๆในการยกระดับการศึกษา ยกระดับประสิทธิภาพที่ดีขึ้น เพราะมีแรงจูงใจ อาจด้วยความรัก หรือต้องการเห็นการเติบโตอย่างมีคุณภาพเป็นปัจจัยสำคัญ ที่สามารถช่วยพัฒนาเด็กปฐมวัยได้อย่างมีนัยสำคัญ!

นั่นอาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราเห็น “ผู้ปกครอง”บางส่วน ต้องเลือกกลุ่มเพื่อน หรือคุณภาพของเพื่อนที่ดี ผ่านการ “เลือกโรงเรียน”ที่ดี มีคุณภาพ มีสังคม มีเพื่อนที่ดีมากขึ้น 

“เพราะคุณภาพโรงเรียนที่แตกต่างกันมากเกินไป ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ยิ่งแยกกันชัดเจน ปัญหาเหล่านี้เหมือนงูกินหาง เพราะหากโรงเรียนมีคุณภาพใกล้เคียงกัน เด็กก็จะสามารถพัฒนาทักษะได้เท่าเทียมกัน แต่ปัญหาเหล่านี้ซับซ้อนมาก มักมาจากรากเหง้าของคุณภาพที่ไม่ดี คนที่มีทรัพยากรมาก ก็สามารถเลือกได้ ขณะที่คนที่ไม่กำลังก็มีโอกาสเลือกไม่ได้มากนัก ระบบการศึกษาที่ดีต้องสนใจคนข้างล่างด้วย เพราะหากไม่ใส่ใจพอ คนกลุ่มนี้จะหายไปไหนไม่รู้" 

โดยสรุปแล้ว ผลการศึกษาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพการศึกษา และคุณภาพการอบรมเลี้ยงดูโดยผู้ปกครอง อันได้แก่ การศึกษาในระบบ และการอบรมเลี้ยงดูโดยผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้าน เป็นกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพที่ช่วยให้ผู้ปกครองมีความพร้อมในการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยตัวเองมากขึ้น

สุดท้ายแล้ว เขามองว่า “การพัฒนาทุนมนุษย์ โดยเฉพาะปฐมวัย แม้หลายคนมองว่าเป็นเรื่องระยะยาว แต่อีกมุมหนึ่ง เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ เป็นปัญหาของสังคม ดังนั้นแม้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่หวังว่าทุกคนจะไม่ละเลยจนลืมความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษาเหล่านี้ในอนาคต