วิจัยนวัตกรรม 'เทคโนโลยีอวกาศ' โอกาสทางเศรษฐกิจไทย

วิจัยนวัตกรรม 'เทคโนโลยีอวกาศ' โอกาสทางเศรษฐกิจไทย

'เทคโนโลยีอวกาศ' โอกาสดันเศรษฐกิจประเทศ ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม หนุนโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาดาวเทียม สร้างรากฐานนิเวศเศรษฐกิจอวกาศ ลดพึ่งพิงการนำเข้า มุ่งสร้างศักยภาพและพัฒนาเทคโนโลยีได้เองภายในปี 2570

เทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียม มีความจำเป็นมากขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร การเกษตร สิ่งแวด้อม และทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนางานวิจัยในด้าน เทคโนโลยีอวกาศ รวมถึง พัฒนากำลังคน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพัฒนาดาวเทียม และรากฐานให้กับระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศ อีกทั้งยังถือเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศ

 

เศรษฐกิจอวกาศ มีบทบาทต่อเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันหลายประเด็น และถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสำคัญที่สามารถสร้างเม็ดเงินให้ประเทศพร้อมขับเคลื่อนความก้าวหน้าได้หลายมิติ อาทิ การสื่อสาร พยากรณ์อากาศ และสำรวจทรัพยากร  อีกทั้ง สามารถต่อยอดไปได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงคุณภาพชีวิตของคนในประเทศไทย

 

นับเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบการรับส่งสัญญาณ การส่งผ่านข้อมูล การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล การให้บริการระบบสื่อสารบนเรือ ตามท้องทะเลและบนอากาศยาน รวมทั้งการรองรับเทคโนโลยีบริการใหม่ เช่น AI และ IoT เพื่อส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยในทุกด้าน

 

การศึกษาอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศ พบว่า ประเทศไทยมีกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมต่อเนื่องกว่า 35,600 กิจการ โดย 95% เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และเป็น Startup และกิจการต่างๆ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ประมาณ 56,122 ล้านบาทต่อปี

 

วิจัยนวัตกรรม \'เทคโนโลยีอวกาศ\' โอกาสทางเศรษฐกิจไทย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเสวนาในหัวข้อ 'Thai Government Support Priorities for RDI in Space Science to Foster the Space Industry in 2023-2027' ซึ่งจัดขึ้นภายในงานสัปดาห์อวกาศแห่งชาติ ประจำปี 2566 (Thailand Space Week 2023)  โดยมี ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สกสว. นางกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการ ภารกิจด้านภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ผศ. ดร.วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ศ. ดร.เดวิด รูฟโฟโล ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.พงศธร สายสุจริต ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมแลกเปลี่ยน

 

หนุนวิจัย นวิตกรรมเทคโนโลยีอวกาศ โอกาสทางเศรษฐกิจ

ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ กล่าวว่า กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ที่บริหารจัดการโดย สกสว. มีการสนับสนุนทุนวิจัยทางด้านเทคโนโลยีอวกาศมาตั้งแต่ปี 2563 เพื่อมุ่งให้เกิดการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วนและลดความซ้ำซ้อนในการให้ทุนวิจัย ซึ่งการหารือในครั้งนี้ มุ่งเน้นประเด็นการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศ ที่จะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศ

 

 

วิจัยนวัตกรรม \'เทคโนโลยีอวกาศ\' โอกาสทางเศรษฐกิจไทย

 

โดยการจัดสรรงบประมาณที่มีทั้งรูปแบบการสนับสนุนหน่วยงานที่มีภารกิจพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศ ทั้งการพัฒนาทักษะกำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อตอบพันธกิจของหน่วยงาน และรูปแบบการจัดสรรงบประมาณเชิงกลยุทธ์ที่เน้นการสนับสนุนในแผนงานที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมและบริการในอนาคต ซึ่ง สกสว. ได้จัดสรรทุนวิจัยให้กับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)  

 

พัฒนา 20 เทคโนโลยี ในปี 2570

สำหรับ โครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium: TSC) ซึ่งเป็นความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่พยายามสร้างต้นแบบชิ้นส่วนดาวเทียมขึ้นมาเองในประเทศ โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2570 จะสามารถผลิต 20 ต้นแบบชิ้นส่วนย่อยของระบบดาวเทียมได้ สามารถใช้ระบบข้อมูลภูมิสารสนเทศจากดาวเทียมแก้ปัญหาด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อมได้จำนวนไม่น้อยกว่า 1 แสนไร่ พร้อมทั้งพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กำลังคนในประเทศ พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และทรัพยากรสำคัญต่าง ๆ ให้ประเทศไทยมีความพร้อมด้านงานวิจัยทางเทคโนโลยีอวกาศเพิ่มมากขึ้น

 

เทคโนโลยีอวกาศ โลกแห่งอนาคต

ในอนาคตการใช้เทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียมจะมีความจำเป็นมากขึ้น ทั้งในด้านการสื่อสารในยุคหลัง 5G การใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ดิน ป่าไม้และทรัพยากรต่างๆ รวมถึงการป้องกันภัยคุกคามทางอวกาศที่อาจเกิดขึ้นได้ อาทิ อุกกาบาต ดาวนอกโลก พายุสุริยะ ขยะอวกาศ ที่อาจเป็นภัยต่อการอยู่อาศัยบนโลก เราจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนางานวิจัยในด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ 

 

"โดยในระยะแรกของแผนด้าน ววน. ได้มุ่งสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของกำลังคน ความเข้มแข็งของโครงสร้างพื้นฐาน และความเข้มแข็งของเทคโนโลยี ที่จะสามารถทำให้อุตสาหกรรมเกิดขึ้น รวมถึงนักลงทุนต่าง ๆ ให้ความสนใจสร้าง Space Economy ให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง โดยยอมรับว่าในปัจจุบันเรายังเป็นผู้ซื้อเทคโนโลยี แต่เป้าหมายในอนาคตอันใกล้นี้เราจะสามารถสร้างเทคโนโลยีได้เอง” ดร.ณิรวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ในการเสวนาได้มีการแลกเปลี่ยนในประเด็นต่าง ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่รัฐบาลได้มีการลงทุนให้กับโครงการ THEOS 2 ที่นักวิจัยในประเทศไทยและภาคเอกชนสามารถนำข้อมูลจากดาวเทียมไปใช้ประโยชน์ได้ ตลอดจนการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพัฒนาดาวเทียม โดยมีสถานที่ประกอบและทดสอบ รวมถึงนักวิจัยและนักพัฒนาในไทยที่มีความสนใจพัฒนาต้นแบบชิ้นส่วนดาวเทียมและ software การใช้ประโยชน์

 

ดังนั้น ภาครัฐควรให้การสนับสนุนทุนวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างรากฐานให้กับระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศ เพราะโครงการด้านเทคโนโลยีอวกาศไม่สามารถแล้วเสร็จในระยะเวลาอันสั้น  หากทุนวิจัยมีความต่อเนื่อง เชื่อแน่ว่าเทคโนโลยีอวกาศของไทยจะสามารถก้าวหน้าในอนาคตอันใกล้ได้อย่างแน่นอน

 

วิจัยนวัตกรรม \'เทคโนโลยีอวกาศ\' โอกาสทางเศรษฐกิจไทย

 

พัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน 

ทั้งนี้ การเสวนาดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งเป็นหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) ด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนักวิจัยที่ทำงานต่อเนื่องในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงให้ภาคนโยบายได้รับทราบถึงความสำคัญของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม ที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของการพัฒนาเทคโนโลยีด้านระบบโลกและอวกาศ ต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ที่อยู่ภายใต้แผนด้าน ววน. ของประเทศ พ.ศ.2566-2570 

 

สกสว. เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน