เปิดใจนักเรียนทุนรัฐบาล 'ชญานิศ ปันจักร์' กับความฝัน 'นักวิจัยมืออาชีพ'

เปิดใจนักเรียนทุนรัฐบาล 'ชญานิศ ปันจักร์' กับความฝัน 'นักวิจัยมืออาชีพ'

คุยกับ แตงกวา - ชญานิศ ปันจักร์ นักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ป.ตรี - ป.เอก กับเคล็ดลับความสำเร็จในการเรียน เพื่อเดินตามเส้นทางความฝันการเป็น นักวิจัย มืออาชีพในประเทศไทย

Key Point :

  • ทุนรัฐบาล คือ ทุนที่คัดสรรผู้มีความรู้ในสาขาวิชาที่อยู่ในความต้องการให้ไปศึกษาในต่างประเทศ และนำความก้าวหน้านั้นกลับมาพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า
  • แต่การจะได้รับทุนรัฐบาลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละหน่วยทุนจะมีนักเรียนทุนเพียง 1 คนเท่านั้น  
  • กรุงเทพธุรกิจ ชวนพูดคุยกับ แตงกวา - ชญานิศ ปันจักร์ นักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ในการศึกษาป.ตรี - ป.เอก ประเทศอังกฤษ กับเคล็ดลับการเตรียมพร้อม ปรับตัว และเรียนรู้ สู่ความฝัน การเป็นนักวิจัยมืออาชีพ  

 

“อยากกลับมาเป็นนักวิจัยมืออาชีพที่ไทย ตั้งใจไว้อยู่แล้วว่าถ้ามีโอกาสจะเรียนต่อให้ถึงปริญญาเอก” แตงกวา - ชญานิศ ปันจักร์ ในวัย 20 ปี นักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่จัดสรรให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม (ทุน อว.) บอกเล่าให้กับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ฟังถึงเป้าหมายในอนาคต “เป็นความตั้งใจอยู่แล้วว่าอยากจะมาทำงานเป็นนักวิจัย หากเป็นไปได้ก็อยากทำในประเทศไทยด้วย และอยากจะกลับมาทำประโยชน์ให้กับประเทศ”

 

ด้วยความที่ชอบทำกิจกรรม ทำโครงงานมาตั้งแต่เด็ก เรียกว่าที่บ้านค่อนข้างสนับสนุน กลายเป็นความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ ดังนั้น หลังจากเรียนจบชั้น ม.ต้น ที่โรงเรียนพรหมานุสรณ์ จังหวัดเพชรบุรี ‘แตงกวา’ จึงตัดสินใจ สอบเข้า ม.ปลาย โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย คู่ศูนย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ – โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต (โครงการ วมว.มธ.-สกร.) นับเป็นครั้งแรกที่ต้องอยู่ไกลบ้าน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

“ช่วงแรกที่มาเรียนในกรุงเทพฯ ก็มี Homesick อยู่บ้าง แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยดี เพราะมีเพื่อนๆ และอาจารย์คอยช่วยซัพพอร์ตตลอด ถือว่าเป็นช่วงที่ดี เพราะพอได้เรียนทั้งในโรงเรียนปกติ และ เรียนในมหาวิทยาลัย ก็จะมีโอกาสได้เจออาจารย์ในมหาวิทยาลัยมากขึ้น”

 

จากความตั้งใจที่จะสอบชิงทุนรัฐบาลไทย เรียกว่าตั้งแต่เรียน ม.ต้น เพราะสนใจเรื่องของงานวิจัยในไทยเป็นทุนเดิม อีกทั้งมองว่าทุนรัฐบาลไทยสามารถสนับสนุนเส้นทางความฝันและมีตำแหน่งงานรองรับ ทำให้หลังจบ ม.ปลาย ‘แตงกวา’ เลือกที่จะสอบชิงทุนรัฐบาลและเป็นหนึ่งเดียวที่ได้รับทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่จัดสรรให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม (ทุน อว.) โดยได้เรียนต่อตั้งแต่ ป.ตรี – ป.เอก ทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ Biomedical Engineering (Brain and Neuro Imaging) รวมระยะเวลาการเรียนราว 10-11 ปี

 

“หน่วยทุนจะมีระบุชัดเจนว่าให้ไปเรียนสาขาอะไร โดยยึดที่ต้นสังกัดกำหนดเป็นหลัก กลับมาทำงานในลักษณะใด สาขาจะเปลี่ยนไปในแต่ละปี โดยต้นสังกัดของเรา คือ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ที่ จ.นครราชสีมา แต่เมื่อกลับมาทำงานใช้ทุนต้องไปทำงานที่ศูนย์วิจัยใหม่ จ.ระยอง”

 

เปิดใจนักเรียนทุนรัฐบาล \'ชญานิศ ปันจักร์\' กับความฝัน \'นักวิจัยมืออาชีพ\'

 

 

ปัจจุบัน ‘แตงกวา’ เดินทางไปใช้ชีวิตที่อังกฤษได้ราว 1 ปี ที่เมืองเเคมบริดจ์ อยู่ระหว่างการเรียนปรับพื้นฐาน ระดับชั้น Year 13 หลักสูตร A-Level ที่ The Stephen Perse Foundation และเตรียมสอบวุฒิเพื่อยื่นมหาวิทยาลัย

 

“การสอบชิงทุน สิ่งแรก คือ ต้องเตรียมตัวสอบข้อเขียน อ่านหนังสือตามหลักสูตรในแต่ละปีว่าจะครอบคลุมเนื้อหาใดบ้าง และฝึกทำข้อสอบที่เป็นข้อสอบเก่าของทุน โดยการสมัครสามารถเลือกสอบได้ 2 ทุนต่อ 1 การสมัคร ในแต่ละหน่วยทุน จะมีนักเรียนทุนแค่ 1 คน ตอนที่รู้ว่าสอบได้ดีใจมากที่จะได้ทำในสิ่งที่ตั้งใจ เพราะเคยบอกที่บ้านว่าอยากจะเรียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ถ้าเกิดเรียนในไทยอาจจะไปได้ไม่ไกลเท่ากับเรียนในต่างประเทศ”

 

ปรับการใช้ชีวิตและการเรียน

 

สำหรับการใช้ชีวิตในต่างประเทศแน่นอนว่าต้องมีการปรับตัว แต่สำหรับน้องแตงกวาที่เคยอยู่ห่างบ้านมาแล้วครั้งหนึ่งช่วงที่ต้องมาเรียน ม.ปลาย ในกรุงเทพฯ จึงเป็นเรื่องไม่ยากที่จะอยู่ห่างบ้าน

 

แตงกวา เล่าว่า การใช้ชีวิตที่ต่างประเทศกับไทยค่อนข้างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อย่างแรก ก็คือ ไลฟ์สไตล์ของผู้คน เวลาจะไปไหนจะเดินเป็นส่วนใหญ่ หรือไม่ก็ใช้รถโดยสารสาธารณะ การเดินทางระหว่างเมืองก็สามารถนั่งรถไฟไปได้ ค่อนข้างจะทั่วถึงและสะดวก และน้อยมากที่จะใช้เงินสด นอกจากนี้ สภาพอากาศก็แตกต่างมาก เพราะอากาศเย็นกว่าที่ไทยราว 10 องศา ทำให้ช่วงแรกๆ เป็นหวัดบ่อยโดยเฉพาะช่วงหน้าหนาว และมี Homesick อยู่บ้างแต่น้อยกว่าช่วง ม.ปลาย ประกอบกับช่วงแรกที่ต้องเรียนปรับภาษากับเพื่อนๆ นักเรียนทุนที่ลอนดอนทำให้ไม่เหงา

 

“นอกจากนี้ การปรับตัวเรื่องการเรียน จะพยายามเข้าหาอาจารย์ เข้าหาเพื่อนๆ ที่โรงเรียนจะให้ความสำคัญด้านสุขภาพจิตของนักเรียนในโรงเรียน คนที่เป็นเด็กต่างชาติจะมีชมรมให้ไปคุยกัน หรือคุยกับอาจารย์ได้ อาจารย์ค่อนข้างอยากจะคุยกับเรามากๆ นอกจากนี้ ยังมีเพื่อนที่เป็นต่างชาติ สามารถพูดคุย ปรึกษาหลายๆ เรื่องได้”

 

บรรยากาศการเรียนในต่างแดน

 

เมื่อถามถึงบรรยากาศการเรียนในต่างประเทศ แตงกวา เล่าว่า ที่นั่นค่อนข้างอยากจะให้เราได้พูดคุยกัน Discuss กันมากกว่า เขาจะสอนเนื้อหาก่อนและจะถามคำถาม แต่ละคนคิดว่าอย่างไร จะเป็นการนำเสนอเยอะและฝึกทำข้อสอบด้วย นอกจากเรื่องคะแนนสอบ อาจารย์จะดูด้านอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องความรับผิดชอบของเรา การบริหารเวลา ว่าเรามีแนวโน้มที่จะเรียนได้ดีขึ้นในอนาคตหรือไม่ และให้คำแนะนำเรื่อยๆ

 

"สิ่งที่ชอบ คือ เขาจะมีชมรม หรือกิจกรรมที่ให้เด็กๆ ทุกคนจัดการเอง อาจารย์จะคอยดูเบื้องหลัง กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เด็กๆ ได้ปล่อยความคิดสร้างสรรค์ออกมา ทั้งนี้ ทุกคนจะต้องรับผิดชอบเรื่องเรียนของตัวเองให้ได้ก่อน เพราะเขาจะดูด้วยว่า นักเรียนคนไหนมีความรับผิดชอบ เรื่องเรียนผ่าน อยากทำกิจกรรมอะไรเขาก็จะสนับสนุนเต็มที่ แต่หากนักเรียนบางคนที่ยังมีปัญหาเรื่องเรียน อาจจะต้องกลับไปโฟกัสที่เรื่องนั้นก่อน มองว่ากิจกรรมตรงนี้ดี ด้วยความที่โรงเรียนไม่ได้ใหญ่มาก นักเรียนไม่เยอะมากทำในเรื่องนี้ได้ง่าย"

 

เปิดใจนักเรียนทุนรัฐบาล \'ชญานิศ ปันจักร์\' กับความฝัน \'นักวิจัยมืออาชีพ\'

 

เคล็ดลับนักเรียนทุน

 

หากถามถึงเคล็ดลับในการเรียน แตงกวา อธิบายว่า เป็นเรื่องของการบริหารเวลาเป็นหลัก เราต้องบริหารเวลาไว้ทบทวนที่โรงเรียนและเตรียมสอบ อ่านหนังสือ แต่หากเรียนอย่างเดียวก็จะหนักสมองจนเกินไป ดังนั้น จะต้องแบ่งเวลาไปทำอย่างอื่นด้วยเช่น ออกไปกับเพื่อนบ้าง หรือ ทำกิจกรรมกับโรงเรียน

 

“แต่ข้อดีของการได้อยู่ที่อังกฤษ คือ เราอยู่ในเมือง เเคมบริดจ์ มีมหาวิทยาลัยเเคมบริดจ์ ก็จะมีงานสัมมนาอยู่เรื่อยๆ พอได้ไปงานเหล่านั้นก็ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เข้าสังคมกับนักวิชาการ มีโอกาสได้คุยกับคนในแวดวงต่างๆ มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ชอบทำ หรือที่โรงเรียนทุกวันพฤหัสบดีช่วงบ่าย จะเปิดโอกาสให้ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ มีชมรมให้ประมาณ 20 ชมรมให้เลือก ซึ่งส่วนตัวก็เลือกไปเข้าชมรมโยคะ เป็นการออกกำลังกาย บริหารจิตใจ ช่วยผ่อนคลายหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์”

 

“เรียกว่าต้องหากิจกรรมอย่างอื่นทำด้วย จะได้ไม่เครียดจนเกินไป และที่สำคัญ เมื่ออยู่ในห้องเรียน หากเป็นไปได้แนะนำให้คุยกับอาจารย์เยอะๆ ถามคำถามเขาเยอะๆ คุยกับเขาเยอะๆ ก็จะช่วยให้เราได้ข้อมูลดีๆ หรือเข้าใจเรื่องที่เรียนมากขึ้น นอกจากนี้ การทำกิจกรรมก็เป็นเรื่องที่ดี พอได้คุยกับเพื่อนเยอะขึ้น เวลาเรียนก็จะได้ช่วยกันเรียนได้”

 

ท้ายนี้ แตงกวา ฝากถึงน้องๆ ที่มีความฝันอยากจะชอบทุนรัฐบาลว่า หากมีเป้าหมายที่ชัดเจน รู้ว่าอยากจะทำอะไรในอนาคต และเมื่ออ่านเงื่อนไขต่างๆ ของทุนรัฐบาลแล้วรู้สึกว่าพร้อมที่จะทำตามเงื่อนไขเหล่านั้นก็ลุยได้เลย ทำตามที่ประกาศรับสมัคร แล้วก็ทำให้เต็มที่ อย่ายอมแพ้

 

เปิดใจนักเรียนทุนรัฐบาล \'ชญานิศ ปันจักร์\' กับความฝัน \'นักวิจัยมืออาชีพ\'

 

ทุนรัฐบาล คือ อะไร ?

 

สำหรับ ทุนรัฐบาล คือ ทุนที่คัดสรรผู้มีความรู้ในสาขาวิชาที่อยู่ในความต้องการของทางราชการ ให้ไปศึกษาในต่างประเทศ และนำความก้าวหน้านั้นกลับมาใช้แก่ประเทศไทย เป็นทุนที่ใช้เพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า โดยประเภททุนที่เปิดรับสมัคร ได้แก่

 

1. ทุนเล่าเรียนหลวง ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ศึกษาต่อปริญญาตรีขึ้นไป โดยต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

  • ศึกษาชั้นปีสุดท้ายในหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
  • คะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.50
  • อายุไม่เกิน 20 ปี
  • เงื่อนไข : ให้ผู้ได้รับทุนกลับมาทำงานในประเทศไทย เวลาเท่ากับระยะเวลาที่รับทุน
  • เปิดรับสมัคร : ช่วงกันยายน - ตุลาคม

 

2. ทุนรัฐบาลเพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพสูงที่กำลังศึกษาในสถาบันการศึกษาในประเทศ (UIS)

สำหรับ ผู้ที่ศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีปีสุดท้าย และปริญญาโท กำหนดระยะเวลาการให้ทุนแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ให้ทุนรัฐบาลเพื่อศึกษาในชั้นปีสุดท้ายจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีตามโครงสร้างหลักสูตร ทั้งนี้ ต้องใช้ระยะเวลาศึกษาไม่เกิน 1 ปี

ระยะที่ 2 ให้ทุนรัฐบาลเพื่อศึกษาต่อปริญญาโท ในหรือต่างประเทศ ตามเงื่อนไขที่ ก.พ.กำหนด โดยต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

  • เป็นผู้ศึกษาในชั้นปีสุดท้ายในหลักสูตรระดับปริญญาตรี ของสถาบันการศึกษาในประเทศ
  • อายุไม่เกิน 25 ปี
  • ได้คะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.75 หรือ 3.00
  • เมื่อศึกษาระดับปริญญาตรีแล้วต้องได้คะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.75 หรือ 3.00
  • เงื่อนไข : ผู้ที่ได้รับทุนต้องกลับมาทำงานราชการในประเทศในหน่วยงานเจ้าของทุนเป็นระยะเวลา 2 เท่าของระยะเวลาที่ศึกษาด้วยทุนรัฐบาล
  • เปิดรับสมัคร : ช่วงพฤศจิกายน – ธันวาคม ของทุกปี

 

3. ทุนบุคคลทั่วไป ระดับปริญญา ศึกษาต่อปริญญาโท หรือ ปริญญาเอก โดยต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

  • เป็นผู้ศึกษาอยู่ชั้นปีสุดท้ายในหลักสูตรระดับปริญญาตรี หรือ ได้รับปริญญาตรี
  • ได้คะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.75 หรือ 3.00 แล้วแต่กรณี
  • อายุไม่เกิน 35 ปี
  • หรือผู้ที่ได้ปริญญาโท คะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.50
  • อายุไม่เกิน 40 ปี
  • เงื่อนไข : ผู้ที่ได้รับทุนจะต้องกลับมาทำงานราชการในประเทศไทยในหน่วยงานเจ้าของทุนเป็นระยะเวลา 2 เท่า ของระยะเวลาที่ศึกษาด้วยทุนรัฐบาล
  • เปิดรับสมัคร : ช่วงพฤศจิกายน – ธันวาคม ของทุกปี

 

ดูข้อมูลเพิ่มเติม : เว็บไซต์ สำนักงาน ก.พ. คลิก