เปิดมุมมอง ‘อาจารย์แพรว’ อธิการบดี DPU ในวันที่การศึกษาไทยถูกมองว่าไม่ดีพอ

เปิดมุมมอง ‘อาจารย์แพรว’ อธิการบดี DPU ในวันที่การศึกษาไทยถูกมองว่าไม่ดีพอ

ภาพรวมการศึกษาไทยในปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เด็กเกิดในเมืองไทยเกือบล้านคนต่อปี ทุกวันนี้เหลือประมาณ 5 แสนคน หรือหายไปครึ่งหนึ่ง มีผลกับเด็กที่เข้าเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เกิดการแข่งขันดุเดือด

‘อาจารย์แพรว’ ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) มหาวิทยาลัยเอกชน และประธานกรรมการบริหาร โรงเรียนนานาชาติ เวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพฯ หนึ่งในโรงเรียนอินเตอร์ระดับท็อปของประเทศ ล่าสุดให้สัมภาษณ์แบบ Exclusive ถามตรงตอบตรงในรายการ Woody FM ถึงการศึกษาไทยในหลากหลายแง่มุม ซึ่งคำตอบที่ได้มาจากประสบการณ์การทำงานในแวดวงการศึกษามากว่า 20 ปี

ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ กล่าวถึงภาพรวมการศึกษาไทยว่า คนรุ่นใหม่ยังมีแนวคิดโตเป็นผู้ใหญ่ไวขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก บางคนทำงานหาเงินได้ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ สถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยต้องทำให้เห็นว่าเราสามารถสนับสนุนและส่งเสริมเขาได้ยังไงบ้าง มาเรียนแล้วต้องได้อะไรกลับไปมากกว่าแค่ปริญญา

 เมื่อถูกถามว่า หากมีพลังวิเศษในการแก้ปัญหาระบบการศึกษาไทย จะเลือกทำอะไรก่อน?  ดร.ดาริกา กล่าวว่า เลือกพัฒนาระดับโรงเรียนก่อน เพราะเวลาพูดถึงคุณภาพการศึกษาว่าดีหรือไม่ดี จะมองที่การเรียนระดับโรงเรียน ไม่ใช่ระดับมหาวิทยาลัย ถ้าอยากแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา ต้องลงไปดูที่ระดับโรงเรียนก่อนเป็นอย่างแรก เป็นพื้นฐานของระบบการศึกษาที่สำคัญที่สุด ซึ่งสำหรับประเทศไทยคงเห็นแล้วว่าเราเจอปัญหาหลายๆ เรื่อง ที่ทำให้การศึกษาไทยยังไม่ดีพอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

มธบ.ชู DPU Core 4 หลักสูตรแกนหลัก เพิ่มทุกทักษะด้านธุรกิจ

ผู้นำ24ชั่วโมงฉบับ“ดร.ดาริกา ลัทธิพิพัฒน์” ผู้บริหารเข้าใจชีวิตลูกน้อง

เลี้ยงลูกปฐมวัยในยุค VUCA World เพิ่มการลงทุน เติมทักษะ 5H – Coding

 

3 แนวทางบริหารจัดการให้เกิดคุณภาพการศึกษา

ดร.ดาริกา ขยายความว่า ในภาพรวมโรงเรียนส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นโรงเรียนของรัฐ ดังนั้น เวลาเราพูดถึงคุณภาพการศึกษาของไทย เราจึงมองไปที่คุณภาพของโรงเรียนรัฐเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การศึกษาในโรงเรียนรัฐมีปัญหาค่อนข้างซับซ้อน แต่เรื่องหลักๆ ที่หากแก้ไขได้ จะทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้ปัญหาหลายๆ อย่างที่เจออยู่ คลี่คลายลงไปได้

1. กระจายอำนาจในการบริหารโรงเรียน เพราะโรงเรียนรัฐมีการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ ไม่กระจายอำนาจไปยังพื้นที่ ทำให้แก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด

เปิดมุมมอง ‘อาจารย์แพรว’ อธิการบดี DPU ในวันที่การศึกษาไทยถูกมองว่าไม่ดีพอ

2. เปลี่ยนวิธีการจัดสรรงบประมาณ ค่าเล่าเรียนและสวัสดิการนักเรียนต้องให้กับเด็ก หรือผู้ปกครองโดยตรง เมื่อผู้บริโภคเป็นคนเลือกโรงเรียนเอง จะทำให้ทุกๆ โรงเรียนพยายามยกระดับตัวเองให้มีคุณภาพมากที่สุด นอกจากนี้ งบพัฒนาโรงเรียนก็ไม่ควรจัดสรรให้โรงเรียนแบบให้มากหรือน้อยตามจำนวนนักเรียนในโรงเรียน เพราะโรงเรียนขนาดเล็กมักจะได้เงินน้อยตลอดกาลและก็จะยิ่งแย่ลงไปอีก

3. ควบรวมโรงเรียนเล็กให้เป็นลักษณะโรงเรียนแม่ข่าย/ลูกข่าย เพราะประเทศไทยมีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก ทำให้การกระจายงบประมาณไม่มีสิทธิภาพ งบประมาณไม่เพียงพอ ขาดบุคลากร เกิดปัญหาครูไม่ครบชั้นปี ไม่ครบห้อง

 

อยากเห็นโรงเรียนที่ไม่ได้เตรียมเด็กเข้ามหาวิทยาลัยอย่างเดียว

ดร.ดาริกา ย้ำว่า 'ครู' มีความสำคัญกับเด็กมาก นอกจากครูจะต้องเข้าใจการสอน มีความเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ (Facilitator) ที่ไม่ใช่แค่การสอนแบบท่องจำ ครูยังต้องมี Passion ในการพัฒนาเด็ก และเข้าใจว่าวิธีไหนเหมาะสมกับเด็กด้วย เพราะต่อให้นำหลักสูตรที่ดีที่สุดมา Copy & Paste เช่น หลักสูตรของโรงเรียนอินเตอร์มาใช้กับโรงเรียนไทยก็ทำไม่ได้ เพราะสำคัญยิ่งกว่าตัวหลักสูตรคือ 'คุณภาพครู'

สำหรับความเป็นไปได้ที่จะใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาเป็นครูแทนคน ดร.ดาริกา ให้ความเห็นว่า เป็นไปได้เพียงระดับหนึ่ง เพราะสิ่งที่ AI ไม่มีคือองค์ประกอบความเป็นมนุษย์ (Human Element) การปฏิสัมพันธ์ การชักจูง การโน้มน้าว เป็นสิ่งที่ AI ทำได้ไม่เท่ามนุษย์ ในวันนี้จึงยังไม่เห็นว่า AI จะมาแทนที่ครูได้ โดยเฉพาะสำหรับเด็กเล็กที่อยู่ในวัยเรียนรู้จากการเข้าสังคมและคนรอบข้าง ยิ่งเป็นเรื่องยาก ทั้งนี้ ในวันข้างหน้า หาก AI สามารถทำได้ดี ก็ยังอยากมีชีวิตอยู่เพื่อรอดูด้วยตาตัวเอง

เปิดมุมมอง ‘อาจารย์แพรว’ อธิการบดี DPU ในวันที่การศึกษาไทยถูกมองว่าไม่ดีพอ

 นอกจากนี้ ดร.ดาริกา ยังเผยถึงสิ่งที่อยากเห็นในอนาคตเกี่ยวการศึกษาไทยว่า อยากเห็นเด็กไทยมีแรงบันดาลใจ มีความอยากเรียนรู้ตลอดเวลา ไม่อยากเห็นการเรียนแบบกดดันจนเกินไป อยากเห็นเด็กเรียนรู้แบบ Relax มีความอยากรู้อยากเห็น โดยครูมีหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ไม่ดับฝันหรือกำหนดแบบแผนเยอะจนเด็กดิ้นออกจากเส้นทางไม่ได้

 “อยากเห็นเด็กที่คิดแตกต่าง ทุกคนไม่ได้คิดเหมือนกัน อยากเห็นโรงเรียนที่ไม่ได้เตรียมเด็กเข้ามหาวิทยาลัยอย่างเดียว เพราะการศึกษาเป็นแผนระยะยาว เป้าหมายไม่ใช่แค่นั้น แต่ในอนาคตเขาทำอะไรได้บ้าง ทำอะไรให้กับสังคมบ้าง มีความสุขยังไง อยากเห็นเด็กไทยเป็นแบบนี้มากกว่า ไม่สนว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ได้มากน้อยแค่ไหน แน่นอนว่าเข้าได้ก็ดี บ่งบอกถึงความรอบรู้ แต่ไม่ใช่ทุกคนมองมิตินั้นมิติเดียว” ดร.ดาริกา กล่าว

ชมคลิปรายการ Woody FM สัมภาษณ์ 'อาจารย์แพรว' ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แบบเต็มได้ทาง https://www.youtube.com/watch?v=hv6DzRN1lNw&t=369s