กยศ. เปิดให้ยื่นกู้ฯ ออนไลน์ ผ่านแอป 'กยศ. Connect' และเว็บไซต์ ถึง 31 ก.ค.66

กยศ. เปิดให้ยื่นกู้ฯ ออนไลน์ ผ่านแอป 'กยศ. Connect' และเว็บไซต์ ถึง 31 ก.ค.66

รองโฆษกรัฐบาลเผย กยศ. เปิดให้นักเรียน นักศึกษา ยื่นกู้ฯ ออนไลน์ได้ ผ่านแอป “กยศ. Connect” และเว็บไซต์ ถึง 31 ก.ค.66 นี้

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญด้านการศึกษากับเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้เรียนในทุกระดับชั้น ให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้า ผ่าน กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งขณะนี้ ได้เปิดระบบให้กู้ยืมเงิน ประจำปีการศึกษา 2566

  • ผู้กู้ยืมรายใหม่

ยื่นแบบคำขอกู้ยืมเงินผ่านทาง แอปพลิเคชัน “กยศ. Connect” หรือทางเว็บไซต์ กยศ. (คลิกที่นี่) ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566

สำหรับ ผู้กู้ยืมเงินรายใหม่/รายเก่า ต้องยื่นแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืม และลงนามแบบยืนยันเบิกเงินกู้ยืมถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2566

ทั้งนี้ ผู้กู้ยืมจะได้รับเงินค่าครองชีพเดือนแรกภายใน 30 วัน นับจากวันที่สถานศึกษาทำการตรวจสอบยืนยันข้อมูล และแนบเอกสารการกู้ยืมของผู้กู้ยืมในระบบ DSL เรียบร้อยแล้ว และสถานศึกษาจะต้องจัดส่งเอกสารการกู้ยืมที่ถูกต้องและครบถ้วน  ให้ธนาคารเพื่อกองทุนจะโอนเงินในงวดถัดไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

สำหรับ การให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2566 กองทุนได้จัดเตรียมวงเงินกู้ยืมกว่า 40,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียน นักศึกษากว่า 640,000 ราย ที่ขอกู้ยืมใน 4 ลักษณะ ได้แก่

ลักษณะที่ 1 นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์

ลักษณะที่ 2 ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ

ลักษณะที่ 3 ศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลน หรือที่กองทุน  มุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ

ลักษณะที่ 4 เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ (ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตและปริญญาโท)

และกองทุนจะเป็นหลักประกันให้กับทุกครอบครัวว่าเด็กทุกคนที่เกิดมาในประเทศนี้จะมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันทุกคน เพราะความยากจนจะไม่ใช่อุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาอีกต่อไป โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.studentloan.or.th

"กยศ. มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เงินกู้ยืมแก่นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพ ระหว่างศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับอาชีวะศึกษาและระดับ อุดมศึกษาได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง ช่วยแบ่งเบาภาระด้านการเงินของผู้ปกครอง และเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติโดยรวม โดยมุ่งหวังว่าผู้กู้ยืมจะสามารถเล่าเรียนได้จนสำเร็จตามหลักสูตร  มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม รวมถึงมีจิตสำนึก ในการชำระหนี้คืนเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับรุ่นน้องต่อไป" นางสางรัชดา ย้ำ