‘เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก’ แก้วิกฤตเด็กหลุดนอกระบบรับเปิดเทอม

‘เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก’ แก้วิกฤตเด็กหลุดนอกระบบรับเปิดเทอม

กสศ. และภาคี เปิด ‘เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก’ ช่วยแก้วิกฤตเด็กหลุดนอกระบบรับเปิดเทอมนี้ ด้าน 'ศ.ดร.สมพงษ์' แนะรัฐบาลใหม่ชูนโยบายการศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต ปฏิรูปโครงสร้างสวัสดิการครอบคลุมการเรียนรู้ ยึดความหลากหลายของเด็กเป็นที่ตั้ง

แม้การศึกษาจะเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยรัฐมีหน้าที่สนับสนุนให้เกิดหน่วยจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคในการเลือกเส้นทางการศึกษาตามความถนัด ความต้องการ และความจำเป็นพื้นฐานแห่งชีวิต เพื่อให้สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ แต่การศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือกยังคงเป็นภาพฝันในสังคมไทย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม สมาคมศูนย์การเรียนโดยองค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย และตัวแทนนักขับเคลื่อนการศึกษาหลายองค์กร เปิดตัวความร่วมมือภายใต้ชื่อ ‘เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก’ นำเสนอการออกแบบนโยบายเพื่อพาเด็กและเยาวชนจำนวน 2.5 ล้านคน จากครัวเรือนยากจน 20% ล่างของประเทศ รวมถึงเยาวชนและแรงงานนอกระบบสะสมอีกราว 20 ล้านคน ก้าวออกจากวงจรความยากจนข้ามรุ่นด้วยภาพฝันการศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือก ทำให้ประเทศไทยไม่มีคำว่า 'เด็กนอกระบบ'

‘เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก’ แก้วิกฤตเด็กหลุดนอกระบบรับเปิดเทอม

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เผยว่า วิกฤตทางที่เป็นโจทย์ใหญ่รับเปิดเทอมใหม่ปีการศึกษา 2566  คือการส่งต่อความยากจนข้ามรุ่นกำลังขยายตัวครั้งใหญ่ โดยมีเด็กจากครอบครัวยากจนเพิ่มขึ้น 3-4 แสนคน เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา 2-3 แสนคน เพิ่มขึ้น 3-4 เท่า และภาวะการเรียนรู้ถดถอยที่ยังเป็นปัญหาเรื้อรัง  ถ้าแก้ไขไม่ได้ไทยจะสูญเสียเด็กทั้งรุ่นที่ต้องประสบปัญหาทั้งเรื่องอ่านออกเขียนได้และสุขภาพจิตในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"กสศ."แนะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างพาเด็กพ้น "วังวนความยากจน"

ความร่วมมือจากกสศ. สร้างความเสมอภาคทุกมิติ

โควิด-19 กระทบ "การศึกษา" เด็กกว่า 1.2 แสนคน หลุดนอกระบบ

 

รัฐบาลชุดใหม่ ชูการศึกษาทุกคนมีทางเลือก

ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ศ.ดร.สมพงษ์ มีมุมมองต่อนโยบายแก้วิกฤตทางการศึกษาของพรรคการเมืองในสนามเลือกตั้ง 2566 ว่านักการเมืองส่วนใหญ่ยังมองปัญหาเรื่องการศึกษาอย่างผิวเผิน ขาดการมองอย่างวิเคราะห์รอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องเด็กหลุดออกนอกระบบของเด็กที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขและหาวิธีช่วยเหลือให้ได้

“นโยบายที่ดีของกระทรวงศึกษาธิการคือการตามเด็กกลับมาเรียน จากจำนวนเด็ก 238,707 คน สามารถตามเด็กกลับมาเรียนได้ 200,000 กว่าคน แต่สภาพปัจจุบันที่เป็นผลมาจากโควิด-19 ความเสี่ยงที่เด็กจะหลุดออกจากระบบการศึกษาจะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในปีการศึกษา 2566 ถ้าไม่จัดการหรือไม่มีนโยบายที่ชัดเจน อย่างเช่นสวัสดิการต่าง ๆ รวมถึงเส้นทางการศึกษาที่เหมาะกับเด็กจริงๆ  เด็กจะหลุดออกจากระบบวนซ้ำถึง 85%”

‘เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก’ แก้วิกฤตเด็กหลุดนอกระบบรับเปิดเทอม

ศ.ดร.สมพงษ์ ระบุถึง 1 ในข้อเสนอถึงพรรคการเมืองของกสศ. เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยนโยบายปฏิรูปโครงสร้างสวัสดิการที่ครอบคลุมการเรียนรู้ทุกรูปแบบ ชูแนวคิดการศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต ปรับระบบราชการกระทรวงศึกษาฯ ให้มีวิธีคิดและหลักการที่ทันสมัย สนับสนุนเครือข่ายให้มีโอกาสร่วมพัฒนาการศึกษา ทั้งด้านหลักสูตรและวิธีบริหารจัดการเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลายได้

กสศ. มีเป้าหมายสำคัญเรื่องการศึกษาทางเลือก (Alternative Education) และการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (System Change) การขับเคลื่อนในอีก 3 ปีข้างหน้า เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก จะเป็นตัวแบบการศึกษาแบบเปิด (Open Education) ที่เกิดจากความร่วมมือของภาคประชาชน หากกระทรวงศึกษาธิการหันมาปฏิรูปโครงสร้างระบบ โดยมองเด็กเป็นที่ตั้ง มองเห็นถึงความหลากหลายแตกต่าง จัดการการศึกษาให้มีหลากรูปแบบหลายระบบ ก็จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของเด็กได้อย่างดียิ่ง

‘เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก’ แก้วิกฤตเด็กหลุดนอกระบบรับเปิดเทอม

 

“ภาพฝัน” ไทยจะไม่มีคำว่า “เด็กนอกระบบ”

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่าอยากให้ทุกคนเปิดใจยอมรับ และหันมาร่วมมือกัน ซึ่งการใช้นวัตกรรมต่าง ๆ จะช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มทางเลือกหรือทางออกทางการศึกษาให้กับเด็กได้ เพราะระบบการศึกษาที่ผ่านมามีกำแพง กฎเกณฑ์มากมาย จึงอยากให้ผ่อนปรนลดกฎระเบียบเหล่านี้ลงบ้าง เพราะเมื่อเด็กออกกลางคัน เขาจะเป็นแรงงานด้อยทักษะ ไปตลอดชีวิต

นายวิทิต เติมผลบุญ เลขาธิการสมาคมศูนย์การเรียนโดยองค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน กล่าวว่า เป็นวาระสำคัญที่รัฐบาลใหม่ต้องพูดถึงเรื่องการศึกษาที่มีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต เนื่องจากเด็กหลุดนอกระบบก่อนจบชั้นมัธยมต้น จะยังไม่สามารถเข้าเรียนในรูปแบบการศึกษาตามอัธยาศัยหรือ กศน. ได้ เนื่องจากอายุไม่ถึง 15 ปี

อย่างไรก็ตาม หากอ้างอิงตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ระบุว่าสถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาคละรูปแบบได้คือ การศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย รวมถึงการเทียบโอนหน่วยกิตระหว่างกันได้ การสนับสนุนโดยรัฐก็ควรเกิดขึ้นทุกรูปแบบ

‘เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก’ แก้วิกฤตเด็กหลุดนอกระบบรับเปิดเทอม

ด้าน นายเทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย กล่าวเสริมว่า การศึกษาทางเลือกจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อให้มีพื้นที่ มีการเติบโตที่เข้มแข็ง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของนิเวศการเรียนรู้และภูมิทัศน์ทางการศึกษาในปัจจุบัน เนื่องจากบริบทความต้องการของเด็กและเยาวชนมีความหลากหลายซับซ้อน

รวมถึงปัจจัยที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษายังต่างไปจากอดีต ดังนั้นทิศทางของการศึกษายุคถัดไป ต้องทำให้เด็กเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทั้งในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติได้ โดยสามารถเรียนรู้ได้จากทุกหนทุกแห่ง รวมถึงมีการจัดสรรงบประมาณการศึกษาจากรัฐหรือองค์กรต่าง ๆ เพื่อจัดการศึกษาที่เหมาะสม หากทำได้ถึงจุดนั้น การศึกษาทางเลือกจะเป็นอีกลู่หนึ่งที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยในภาพรวม

‘เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก’ แก้วิกฤตเด็กหลุดนอกระบบรับเปิดเทอม

เด็กกระทำผิด 134,747 คดี 70% หลุดจากระบบการศึกษา

พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวเสริมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาว่า มีมิติที่กว้างกว่าเรื่องความยากจน การทำงานของกรมพินิจฯ จึงมีโจทย์ตั้งต้นว่าจะทำให้เด็กและเยาวชนทุกกลุ่มเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้อย่างไร

“สำหรับกรมพินิจฯ ซึ่งมีหน้าที่หลักคือดูแลฟื้นฟูเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมช่วงอายุ 12-18 ปี มีข้อมูลพบว่ามากกว่า 70% ของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้หลุดจากระบบการศึกษาระหว่างเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น หรือต่ำกว่าเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ ดังนั้นหน้าที่ของกรมพินิจฯ จึงต้องสร้างโอกาสในการพัฒนาตัวเองภายใต้สิทธิพื้นฐานที่เด็กพึงมี ด้วยเครื่องมือสำคัญคือการศึกษา และการพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อการมีงานทำ”

พ.ต.ท.วรรณพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมพินิจฯ ทำงานกับเครือข่ายศูนย์การเรียน สถาบันการศึกษาสายอาชีพ และภาคส่วนต่าง ๆ นำนวัตกรรมและรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมเข้าไปให้เด็กในสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ผ่านกลไกการทำงาน 3 ส่วนหลัก คือด้านวิชาการ จิตวิทยา และสังคมสงเคราะห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งคืนเด็กและเยาวชนเหล่านี้กลับสู่สังคมอีกครั้ง ได้รับการพัฒนาตนเองต่อเนื่อง มีทักษะในการประกอบอาชีพเพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีและไม่กลับมากระทำผิดซ้ำ

‘เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก’ แก้วิกฤตเด็กหลุดนอกระบบรับเปิดเทอม

6 ข้อเสนอเร่งด่วนส่งต่อเลือกตั้ง 2566

1. สนับสนุนให้เกิดหน่วยจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายทางเลือก ให้สามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอภาค มีความยืดหยุ่นทั้งเวลา รูปแบบ และเงื่อนไขในการเข้ารับบริการทางด้านการศึกษา ไม่ยึดติดกับกรอบเวลา แต่มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อม การค้นพบตัวเอง และเสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้ตามความถนัดหรือความสนใจเป็นสำคัญ ตัวอย่างนวัตกรรมหน่วยจัดการเรียนรู้หลากหลาย

2. ระบบติดตามค้นหาและฐานข้อมูลรายบุคคลที่ไร้รอยต่อ ขยายผลระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลรายบุคคลและรายสถานศึกษาระยะยาว (Longitudinal Database) ที่ กสศ. ได้ร่วมมือกับทุกหน่วยงานต้นสังกัดทางการศึกษาวิจัยพัฒนาขึ้น  เพื่อใช้ในการค้นหาเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบ โดยนำทะเบียนราษฎร์จากฐานข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และจำนวนนักเรียนตามระดับการศึกษาจากหน่วยงานทางการศึกษาทุกสังกัดมาเปรียบเทียบ ให้สามารถชี้เป้าหมายเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบในเบื้องต้นได้

3. ปิดช่องว่างของกฎหมายและแนวทางปฏิบัติ อาศัยโอกาสการเกิดขึ้นของพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 เป็นจุดเปลี่ยนพาประเทศไทยให้ไปสู่การมีระบบการเรียนรู้ที่ทุกคนมีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิตให้สามารถดำเนินงานได้จริงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายช่วยคลี่คลายช่องว่างหรือปัญหาอุปสรรคของการจัดการศึกษาทางเลือก รวมถึงการกระจายอำนาจการจัดการเรียนรู้ไปยังหน่วยส่งเสริมการเรียนรู้ระดับท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม

‘เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก’ แก้วิกฤตเด็กหลุดนอกระบบรับเปิดเทอม

4. ระบบสวัสดิการครอบคลุมทุกรูปแบบการจัดการศึกษา นโยบายเรียนฟรี 15 ปี  ควรเพิ่มงบประมาณให้ครอบคลุมการเรียนรู้ในทุกเส้นทาง รวมถึงสนับสนุนการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัว และสิทธิประโยชน์แก่ผู้เรียน ควรพัฒนาการจัดชุดสวัสดิการที่เหมาะสมกับความต้องการตามสภาพปัญหาของเด็กและเยาวชนเป็นรายคน  และควรจัดงบประมาณสำหรับบริหารจัดการสถานศึกษา และงบประมาณ สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ตามสิทธิที่ควรได้รับตามกฎหมายอย่างเหมาะสมเท่าเทียม

5. พัฒนาคูปองส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้านการศึกษา หรือ Education Credit ID เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงบริการทางการศึกษา

‘เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก’ แก้วิกฤตเด็กหลุดนอกระบบรับเปิดเทอม

6. พัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมในพื้นที่ทุกจุดอย่างแท้จริง ไม่ใช่เฉพาะเพียงจุดใดจุดหนึ่งของชุมชนเท่านั้น  และสนับสนุนความเสมอภาคในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของเด็กเยาวชนวัยเรียน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาสผ่านการสนับสนุน  Sim / E-Sim แก่เด็กเยาวชนวัยเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน (3-18 ปี) หรือเยาวชนที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สนับสนุนการเข้าถึงโปรแกรมและช่องทางการศึกษาที่ลงทะเบียนกับ กสทช. ได้ฟรี สนับสนุนอุปกรณ์เข้าถึง