โควิด-19 กระทบ "การศึกษา" เด็กกว่า 1.2 แสนคน หลุดนอกระบบ

โควิด-19 กระทบ "การศึกษา" เด็กกว่า 1.2 แสนคน หลุดนอกระบบ

"ตรีนุช" เผย "โควิด-19" กระทบเด็ก 1.2 แสนคน หลุดนอกระบบ "การศึกษา" เปิดโครงการ พาน้องกลับมาเรียน ดึงเด็กเข้าระบบแล้วกว่า 9.5 หมื่นคน เดินหน้าโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ เสริมทักษะวิชาชีพติดตัว ชูการศึกษาไทย “ปลอดภัย-คุณภาพ” มุ่งความสุขเด็กไทย

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 65 "ตรีนุช เทียนทอง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวในช่วงเสวนาในหัวข้อ “ดูแลทุกวัย ให้โอกาสทุกชีวิต” ในงาน เสวนา “ถามมาตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีขึ้นกว่าเดิม” โดยเล่าถึงมุมมองเกี่ยวกับมิติด้านการศึกษาในระยะที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มุ่งให้ความสำคัญกับการรับมือสถานการณ์โควิด-19 เป็นอันดับแรก โดยผลักดันให้ครูเป็นบุคลากรด่านหน้า รวมถึงนักเรียนนักศึกษาได้รับวัคซีนอย่างรวดเร็ว เพื่อให้พร้อมต่อการเปิดเรียนอย่างปลอดภัยและยังตระหนักถึงผลกระทบต่อ เด็กหลุดนอกระบบ การศึกษากลางคันกว่า 1.2 แสนคน

 

โดย ศธ. ได้เร่งติดตามตัวและนำกลับสู่ระบบอีกครั้ง เป็นโจทย์ที่ต้องเร่ง ทำอย่างไรให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาให้เร็วที่สุด จึงเปิดโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ตั้งแต่ ม.ค. เป็นต้นมา เป็นโครงการที่นายกรัฐมนตรีมุ่งเน้น นอกจากให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ เดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา 

 

ความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวง (สป.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และทำงานร่วมกับ 11 หน่วยงาน ได้แก่

  • กระทรวงมหาดไทย
  • กระทรวงสาธารณสุข
  • กระทรวงวัฒนธรรม
  • กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
  • กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
  • กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  • สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
  • กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
  • กรุงเทพมหานคร
  • กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

 

ปัจจุบัน พบเด็กที่หลุดระบบกว่า 9.5 หมื่นคน และร่วมมือกับกระทรวง พม. ที่จะเจอครอบครัวของเด็กซึ่งอาจจะมีความซับซ้อนของปัญหา เพื่อเข้าถึงบริบทต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งได้รับผลเป็นที่น่าพึงพอใจและคาดว่าจะตามตัวพบ 100% ภายในเดือนมิถุนายนนี้

อาชีวะ อยู่ประจำเรียนฟรี มีอาชีพ 

 

นอกจากนี้ ยังมี "โครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ" ซึ่งเป็นโครงการที่ให้สถาบันอาชีวศึกษา กว่า 88 แห่งทั่วประเทศ ที่มีสถานที่อยู่แล้ว ปรับปรุง รองรับเด็กที่หลุดออกจากระบบและที่อยู่ห่างไกล ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบ พร้อมกับ เสริมทักษะวิชาชีพติดตัว โดยในปีนี้ รับ 5,000 กว่าคน จนถึง 10 มิ.ย. นี้ หากค้นเจอตัวน้องให้เข้าสู่ระบบการศึกษา 

 

"การศึกษาจะเป็นตัวช่วยให้เขาหลุดจากปัญหา โดยโครงการอาชีวะ อยู่ประจำ เรียนปี มีอาชีพ สนับสนุนให้เด็กอยู่ประจำไม่มีค่าใช้จ่าย ดูแลให้มีโอกาสเรียนในระบบปกติ และสามารถต่อยอดอาชีพได้ ดูแลจนจบ ปวช. เป็นโครงการรองรับในกลุ่มพาน้องกลับมาเรียน"

 

MOE SAFETY CENTER ดูแลความปลอดภัย

 

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ตลอดจนเรื่องความปลอดภัย ทำอย่างไรให้โรงเรียนปลอดภัยสำหรับเด็ก เพราะโรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 ขณะเดียวกัน บริบทความปลอดภัยในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน อาทิ ในต่างจังหวัด มีปัญหาในเรื่องเด็กจมน้ำ ในเขตเมืองอาจเจอปัญหาด้านบูลลี่ โซเชียลต่างๆ ดังนั้น ความปลอดภัย มาหลากหลายทุกมิติ

 

ปัจจุบัน ศธ. มีแพลตฟอร์ม MOE SAFETY CENTER มาดูแลความปลอดภัยให้ครบทุกมิติ  ไม่ว่าจะแอปพลิเคชั่น ไลน์ คอลเซ็นเตอร์ และสร้างความรับรู้ เพื่อให้ผู้ปกครองได้ดาวน์โหลด และสามารถแจ้งข้อมูลเพื่อให้แก้ปัญหาเด็กๆ ได้อย่างทันท่วงที

เตรียมทักษะศตวรรษที่ 21

 

รมว.ศธ. กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมให้นักเรียนมีทักษะในศตวรรษที่ 21 เป็นอีกเรื่องที่จำเป็น ทาง ศธ. มุ่งปรับรูปแบบการเรียนให้เป็น Active learning เพื่อสอนเด็กให้รู้จักตั้งคำถาม คิดและวิเคราะห์ โดยผลรูปธรรมที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือการที่นักเรียนไทยสามารถคว้ารางวัลโครงงานวิจัยในเวทีระดับโลกได้

 

ซึ่งเกิดจากการปรับเปลี่ยนกระบวนการสอน ฝึกการตั้งคำถามในสิ่งที่สนใจ แล้วนำองค์ความรู้มาใช้ประกอบ นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น ทางด้านอาชีวศึกษาก็ได้ให้ความสำคัญกับระบบทวิภาคี เน้นการเรียนรู้จริงและสร้างทักษะให้มีความชำนาญ พร้อมต่อยอดยกระดับคุณภาพด้วยศูนย์ความเป็นเลิศ (Excellent Center) ในสาขาที่ตอบโจทย์และรองรับตลาดแรงงานอีกด้วย

 

“นอกจากนี้ ภาพการศึกษาไทยที่ตนพยายามเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น คือ การออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ที่เด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจได้ ผ่านการค้นหาตัวตนและความถนัด รวมถึงการขยายกำแพงการเรียนรู้เพื่อมอบโอกาสให้เด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ข้ามสถานศึกษาได้ ตนอยากเห็นเด็กทุกคนมีความสุขและได้เรียนในสิ่งที่ชอบ ตลอดจนการพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกช่วงวัยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ตามนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญอีกด้วย” นางสาวตรีนุช กล่าวเสริม