เยาวชนในอาเซียนร่วมจัดการขยะพลาสติกทะเล | ญาณิศา งามสอาด

เยาวชนในอาเซียนร่วมจัดการขยะพลาสติกทะเล | ญาณิศา งามสอาด

แต่ละปีมีขยะพลาสติกรั่วไหลลงสู่ทะเล ราว 8 ล้านตัน และมีสัตว์ทะเลกว่า 100 ล้านตัวต้องเสียชีวิตจากขยะพลาสติก ข้อมูลนี้องค์กร Condorferries ระบุว่าเป็นปัญหาที่ท้าทายและไม่ควรมองข้าม

ด้วยเหตุดัวกล่าวจึงมีความร่วมมือกันผ่านโครงการ Eco-school ที่ดำเนินการโดยศูนย์อาเซียน-ญี่ปุ่น  (ASEAN-Japan Centre: AJC) เพื่อให้ข้อมูลและทางเลือกในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแก่เยาวชน

เปิดโอกาสให้เล่าเรื่องราวและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การลดขยะพลาสติกและการอนุรักษ์ท้องทะเล ในงานสัมมนา “The 2nd ASEAN-Japan Symposium on Marine Plastic Waste Education” มีเยาวชนจากโรงเรียนในอาเซียน 8 ประเทศ และประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วม

เริ่มจากเยาวชนญี่ปุ่นที่เล่าว่า “แต่ก่อนคิดว่าเรื่องขยะพลาสติกเป็นเรื่องของกฎหมายและนโยบายที่หน่วยงานรัฐต้องดำเนินการ แต่หลังจากได้ออกไปเก็บขยะที่ถูกทิ้ง ก็เห็นว่าเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องตระหนัก”

ทำให้เห็นว่าการออกแบบกิจกรรมให้เยาวชนได้เรียนรู้สภาพปัญหาและลงมือทำด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ภาพกิจกรรมที่นักเรียนตัวเล็ก ๆ เดินเก็บขยะชายฝั่ง เห็นได้ในเกือบทุกประเทศ แม้อากาศจะร้อน ขยะมีสภาพและกลิ่นไม่พึงประสงค์ ดูเหมือนว่าเด็ก ๆ ไม่ได้รังเกียจ

แต่กลับชื่นชอบการทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ได้สัมผัสและเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่าการเรียนในห้อง

เยาวชนในอาเซียนร่วมจัดการขยะพลาสติกทะเล | ญาณิศา งามสอาด

สำหรับนักเรียนจากโรงเรียนวชิรวิทย์เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนตัวแทนของประเทศไทย แม้ไม่ได้มีโอกาสได้ทำกิจกรรมดูแลรักษาสภาพแวดล้อมชายฝั่งทะเลโดยตรง

แต่พวกเขาก็เรียนรู้และพยายามลดขยะพลาสติกจากต้นทาง การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก ใช้กระบอกน้ำดื่มแทนแก้วพลาสติก คัดแยกขยะอย่างถูกต้อง

เพื่อให้มั่นใจว่าขยะพลาสติกที่รีไซเคิลได้ จะได้รับการนำกลับไปใช้ใหม่อีกครั้ง โดยไม่หลุดรอดไปสู่แม่น้ำลำคลองและสภาพแวดล้อม

ครูชนัยชนม์ ก้อนทอง โรงเรียนวชิรวิทย์เชียงใหม่ กล่าวว่า“การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยาก หากมีคนหนึ่งที่มองเห็นความสำคัญ และเริ่มลงมือปฏิบัติ”

เช่นเดียวกับโรงเรียนในประเทศกัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอีกหลายประเทศ ได้เสนอความคิดการหยุดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในโรงอาหารอย่างเด็ดขาด

จึงให้นักเรียนนำภาชนะมาจากบ้านสำหรับใส่อาหาร เครื่องดื่มหรือสินค้าอื่น พยายามใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ใช้ใบตองมาห่ออาหาร การรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้า และกระบอกน้ำ

โดยมีตู้กดน้ำตามแหล่งชุมชน เพื่อลดการบริโภคขวดน้ำพลาสติก ตลอดจนสนับสนุนหลอดที่ผลิตจากวัสดุทดแทน แทนการใช้หลอดพลาสติก

“ทุกคนมีส่วนในการนำพลาสติกมาใช้ ดังนั้นจึงต้องมีส่วนในการช่วยกันทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไข” นักเรียน โรงเรียนบากุมบายันเซ็นเตอร์ในฟิลิปปินส์ กล่าวด้วยความเข้าใจและจริงจัง

เยาวชนในอาเซียนร่วมจัดการขยะพลาสติกทะเล | ญาณิศา งามสอาด

นอกจากนี้ โรงเรียนต่าง ๆ ยังได้มีการสอดแทรกการอนุรักษ์ท้องทะเลไปพร้อมกับความพยายามในการลดการทิ้งขยะพลาสติก ด้วยการสร้างสรรค์โปสเตอร์รณรงค์การอนุรักษ์ท้องทะเล จัดกิจกรรมวัน Reuse Plastic Day 

อย่างกรณีโรงเรียนในบรูไน ดารุสซาลาม  และในประเทศ สปป.ลาว ที่มีการปรับแผนการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติซึ่งทำให้เด็กได้สัมผัสและรักธรรมชาติและเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

“การให้เด็ก ๆ ได้เข้าใจที่มาที่ไปของปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นการปลูกจิตสำนึกที่จะรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีของโลกของเราเอาไว้ให้อยู่กับพวกเรานานๆ” ครูแสงตะวัน จากโรงเรียนพัฒนา ประเทศลาว กล่าว

แม้วันนี้การแก้ปัญหาขยะพลาสติก อาจจะยังไม่ได้เห็นผลชัดเจนมากนัก ดังที่นักเรียนในประเทศเมียนมาได้กล่าวถึงการใช้พลาสติกยังมีอยู่มาก

แต่เด็กรุ่นใหม่ได้ถูกปลูกฝังจิตสำนึกในการรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และพวกเขาจะยังคงช่วยกันลดขยะพลาสติกให้ได้มากที่สุด โดยไม่ย่อท้อ

เยาวชนในอาเซียนร่วมจัดการขยะพลาสติกทะเล | ญาณิศา งามสอาด

การสะท้อนผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ของโรงเรียนจากประเทศสมาชิกอาเซียน ทำให้เราเห็นถึงความพยายามในการลดขยะพลาสติกและการอนุรักษ์ท้องทะเล

ผ่านการให้การศึกษา การปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม และสร้างโอกาสให้ลงมือทำอย่างสม่ำเสมอจนติดเป็นนิสัย

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นรากฐานที่สำคัญให้แก่เยาวชนที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ได้เกิดความตระหนักรู้ และดำรงชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกันที่ผู้นำประเทศในอาเซียนได้พยายามผลักดันแผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลปี พ.ศ.2564-2568 ในด้านการสร้างความตระหนัก การให้การศึกษา และเพิ่มการเข้าถึงสู่สาธารณะ

โดยตระหนักดีว่าคนรุ่นนี้จะต้องไม่สร้างภาระให้กับคนรุ่นหลัง จึงเป็นโอกาสและความหวังว่าปัญหาขยะพลาสติกที่หลุดรอดลงสู่ทะเลจะลดลงได้

“ปัญหาการใช้พลาสติกของผู้ใหญ่ในวันนี้ กลายเป็นปัญหาสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมที่เยาวชนรุ่นใหม่จะต้องเผชิญ ดังนั้นจึงถือเป็นภารกิจของเราที่ต้องร่วมกันผลักดันการลดใช้พลาสติก และให้ความรู้แก่เยาวชนในการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืน”

คำกล่าวของ มิชิกาซุ โคจิม่า ที่ปรึกษาอาวุโสด้านสิ่งแวดล้อม จากศูนย์ความรู้ภูมิภาคสำหรับขยะพลาสติกในทะเล สถาบันวิจัยเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชียตะวันออก.