“ฉลาดทางสังคม”...เป็นยังไง | วรากรณ์ สามโกเศศ

“ฉลาดทางสังคม”...เป็นยังไง | วรากรณ์ สามโกเศศ

เมื่ออาทิตย์ที่แล้วผมได้เขียนเรื่อง “ความฉลาดทางสังคม” และมีผู้อ่านหลายท่านบอกมาว่าอยากให้ยกตัวอย่างจริงในหลาย ๆ กรณีเพื่อเอาไปใช้ในชีวิตจริง และจะสอนตัวเองหรือลูกอย่างไรให้มี “ความฉลาดทางสังคม”

ผมขอตอบสนองท่านผู้อ่านที่ถามมาและท่านที่มิได้อ่านข้อเขียนในอาทิตย์ที่แล้ว   โดยจะขอทบทวนเรื่อง “ความฉลาดทางสังคม”  สั้น ๆ และตามด้วยตัวอย่างที่ยืนคิดนั่งคิดและนอนคิดมาหลายวัน

                ความฉลาดทางสังคม (Social Intelligence; SI) คือความสามารถในการเข้าใจผู้คนและความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม ตลอดจนมีความสามารถในการบริหารจัดการคนอื่น   ทั้งหมดนี้เพื่อช่วยให้สามารถกระทำการได้อย่างชาญฉลาดในสถานการณ์สังคมต่าง ๆ

ตัวอย่างเช่น  หากเป็นคนขายของที่มี SI   เมื่อเห็นนักท่องเที่ยวเดินผ่านมาก็พอคาดเดาได้ว่าเป็นคนชาติใดและทักทายด้วยภาษานั้น ๆ    การกระทำอย่างนี้ย่อมสร้างความประทับใจได้มากกว่าการทักทายตามปกติ  

อีกกรณีหนึ่งผมได้ยินเรื่องเล่าจากคนสร้างตัวจนรวยด้วยการขายของว่า ครั้งแรกที่ไปขายวัสดุก่อสร้างจากบริษัทให้ร้ายขายปลีก   วันนั้นมีเซลส์อยู่หลายคนก่อนหน้าเขา    เมื่อถึงคิวเขาเถ้าแก่บอกว่ากลับบ้านได้แล้วเพราะได้สั่งออเดอร์แล้ว    เขาควบคุมสติเดินออกมาก็พบแม่ของเถ้าแก่ซึ่งเขาสังเกตเห็นตอนนั่งคอยว่าลูกเชื่อฟังแม่มาก

 เขาจึงแนะนำตัวกับแม่และคุยกันอย่างสนุกเพราะพูดถึงเรื่องเก่า ๆ จนถูกใจแม่ เธอถามว่ามาทำอะไรเขาบอกเป็นเซลส์มาขายของแต่เถ้าแก่บอกให้กลับบ้านไม่ต้องฟังข้อเสนอของเขาแล้ว   เธอบอกเอางี้เดี๋ยวจะไปบอกให้ลูกสั่งของจากเธอแทน หลังจากนั้นมาเขาก็ใช้ความสามารถพิเศษที่เขามีซึ่งก็คือ SI สร้างความร่ำรวยให้ตนเองทั้งในธุรกิจสีขาวและเทา

 

คนมี SI คือคนที่มีความสามารถในการเรียนรู้ความสัมพันธ์ในสังคมของผู้คน และสามารถเอามาใช้เป็นข้อมูลประกอบการกระทำอันชาญฉลาดของตนเอง    

ถ้าเขาไม่สังเกตก็ไม่รู้ว่าที่นั่นใครใหญ่ที่สุด     ถ้าเขาไม่รู้จักวิธีการพูดให้ Big Mama ชอบเขาแล้ว  ก็ไม่มีโอกาสที่จะขายของได้ในวันนั้นอย่างแน่นอน

                  คนมี SI รู้ว่าเมื่อใดควรพูด  เมื่อใดควรเงียบและพูดอะไรกับใครในแต่ละสถานการณ์ของสังคม   หรือพูดอีกอย่างก็คือรู้ว่าจะ “เล่น” อย่างไรในแต่ละสถานการณ์    คนมี SI จะไม่พูดให้วงแตก   มีแต่วงไม่แตกและชอบเขา  

เพราะเขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนอันเนื่องมาจากการสังเกต    การสะสมการเรียนรู้ของเขาและการพูดที่ถูกหูและรื่นหูผู้คน    ถูกกาลเทศะจนบรรยากาศของการพบปะพูดจาเป็นไปด้วยดี

               องค์ประกอบของ SI ได้แก่

(1) มีทักษะในการพูดจา  รู้ว่าจะพูดอย่างไรให้น่าสนใจและสนุกสนาน    อะไรที่ควรหลีกเลี่ยง    อะไรที่ควรพูด  

(2)  มีทักษะในการฟัง  เป็นนักฟังที่ดี   ให้ความสนใจแก่คนพูดและสิ่งที่เขาพูดโดยแสดงให้เห็นว่าเข้าใจสิ่งที่พูด  

(3)  มีทักษะในการพูดในที่สาธารณะ  ทักษะนี้ทำให้สามารถสร้างความเข้าใจกับคนอื่น ๆ และมีความมั่นใจในสิ่งที่พูด  

(4)  มีความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางสังคม   สามารถเข้าใจ “กฎกติกาสังคม” ที่เป็นรากฐานของความสัมพันธ์ของสังคมนั้นๆถึงแม้ไม่มีใครบอกก็ตาม  เช่น  ไม่เอ่ยชื่อหรือไม่กล่าวถึงความเชื่อหรือบางเรื่องที่สังคมนั้นไม่ชอบอย่างยิ่ง   

(5)  มีความเข้าใจอารมณ์และสิ่งจูงใจของคนอื่น  ความช่างสังเกตและความพยายาม“อ่าน” ความคิดและความรู้สึกของคนอื่นทำให้รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งจูงใจให้คน ๆ หนึ่งขับเคลื่อนเช่น   เงิน    ชื่อเสียง ความดัง การยอมรับ หรือเรื่องเซ็กส์  

(6) รู้จักวิธีที่ทำให้คนอื่นรู้สึกประทับใจในตนเอง        รู้ว่าจะประชาสัมพันธ์ตนเองอย่างไร    ทำอย่างไรให้คนอื่นชื่นชมในตัวเขา
                 เพื่อนบางคนที่เรารู้สึกว่า “ซื่อบื้อ”  เช่น มีรสนิยมในการเลือกแฟนที่แย่ (เลือกคนไม่เอาไหนอยู่เสมอ) อ่านคนไม่เป็น   ไม่ทันคน ไม่รู้จักเลือกคบเพื่อน   มองไม่เห็นทั้งโอกาสและภัยที่ใกล้ตัว   ฉลาดก็จริงแต่ไม่เฉลียว   ไม่สังเกตเห็นอะไรเลย  ฯลฯ    คนลักษณะเช่นนี้แหละคือคนที่ขาด SI

                   คนมี SI มิได้หมายความว่าเป็นคนที่แสวงหาประโยชน์จากคนอื่นหากเป็นคนที่เข้าใจโลก มิได้เห็นโลกสวยอยู่เสมอ     อ่านคนออก    รู้จักเลือกคบคนที่ไม่นำความเดือดเนื้อร้อนใจหรือภัยมาให้   รู้จักกาละเทศะทางสังคม ฯลฯ จนสามารถ “อยู่รอดและอยู่ดี” ในโลกนี้ได้อย่างมีความสุข

                 คนมี SI มักเป็นคนที่มีสามัญสำนึก (common sense) ดี และมีความสามารถ “เอาตัวรอด" ได้ในชีวิต

  ตัวอย่างที่น่ากลัวมากเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็คือข้อความในหนังสือ “Spare” ของอดีตเจ้าชายแฮรี่ที่ว่าได้ฆ่าพวก Talibans ไปรวม 25 คนเมื่อครั้งที่เป็นทหาร   คำพูดที่ไม่สะท้อนการมี SI เช่นนี้อาจทำให้ตนเองตกอยู่ในอันตรายจากการแก้แค้นของกลุ่มหัวรุนแรงนี้ก็เป็นได้    การยืนยันการกระทำสามารถถูกใช้เป็นข้ออ้างในการแก้แค้นได้เป็นอย่างดีเพราะตนเองเป็นคนบอกเอง

                มนุษย์ทุกคนเรียนรู้จนมี SI  อยู่ตลอดเวลาที่เติบโตมาอย่างไม่รู้ตัว    หากเป็นคนช่างสังเกตและมีคนอธิบายให้ฟังว่า SI ในเรื่องนั้น ๆ คืออะไร และเอามาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ก็จะทำให้เห็นสิ่งที่เรียกว่า SI ได้ชัดเจนขึ้นและสังเกตเห็นมันจากชีวิตประจำวันได้มากยิ่งขึ้น

หลักของการเรียนรู้เรื่อง SI ก็คือการเข้าใจว่า SI คืออะไร   สังเกตเห็นจากสิ่งใดและอย่างไร   อีกทั้งเชื่ออย่างจริงใจว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์     เมื่อมีพื้นฐานเช่นนี้แล้ว  ขั้นตอนต่อไปก็คือการสังเกต     เฝ้าดู     ติดตาม   สะท้อนคิด และสรุปเป็นบทเรียนสะสมสำหรับตนเอง

บ่อยครั้งที่คนมี SI สูงมักเป็นนักตุ้มตุ๋นที่เก่งเนื่องจากทักษะของการมี SI สามารถนำไปใช้ได้ทั้งกรณีที่เป็นคุณและเป็นโทษแก่ผู้อื่น  ดังนั้นการมี SI  สูงของตัวเราเองจึงเท่ากับเป็นเครื่องมือป้องกันตัวและควรระวังตัวเป็นพิเศษทุกครั้งเมื่อพบคนที่ดูจะมี SI สูงเป็นพิเศษ

คนฉลาดชนิดที่มีความสามารถในการใช้เหตุใช้ผลและการวิเคราะห์สูงอย่างที่เราเรียกกันว่ามี IQ สูงนั้นไม่จำเป็นว่าจะมี SI สูงตามไปด้วย    

บ่อยครั้งที่คนมี IQ สูงไปไม่ถึงดวงดาวเพราะขาดความเฉลียว    อ่านคนไม่ออกและคบคนไม่เป็น   กล่าวคือ “อยู่เกือบไม่รอด  และอยู่ไม่ดี”  เพราะถูกพาลงเหวเนื่องจากขาดความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์