นักวิจัย มช. ค้นพบ "เหลืองปิยะรัตน์" พืชชนิดใหม่ของโลก

นักวิจัย มช. ค้นพบ "เหลืองปิยะรัตน์" พืชชนิดใหม่ของโลก

นักวิจัย "มหาวิทยาลัยเชียงใหม่" ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก “เหลืองปิยะรัตน” ที่ จ.นราธิวาส พืชหายากในวงศ์กระดังงา ดอกสวยงามและมีกลิ่นหอม แต่หายากและเสี่ยงสูญพันธุ์ วางแผนวิจัยต่อด้านเภสัชเวทและเภสัชวิทยาเพื่อเป็นพืชสมุนไพรรักษาโรค

หลังจากค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลมหาพรหม ซึ่งได้รับพระราชทานนาม “พรหมจุฬาภรณ์” เมื่อปี 2562 ล่าสุด นักวิจัยสังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู และนักศึกษาระดับปริญญาเอก ได้แก่ นางสาวฉัตรธิดา วิยา (สาขาวิชาชีววิทยา) และนางสาวอานิสรา ดำทองดี (สาขาวิชาความหลากหลายทางชีวภาพและชีววิทยาชาติพันธุ์) พร้อมทั้งนายนายกิติศักดิ์ อ๋องย่อง และนายอับดุลรอแม บากา นักวิจัยอิสระ

 

ได้ร่วมกันศึกษาตัวอย่างพืชจากอำเภอจะแนะ และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส โดยบูรณาการข้อมูลสัณฐานวิทยาและวิวัฒนาการชาติพันธุ์เชิงโมเลกุลเข้าด้วยกัน พบว่า เป็น พืชชนิดใหม่ของโลก ในวงศ์กระดังงา (Annonaceae) จำนวน 1 ชนิด คือ เหลืองปิยะรัตน์

 

เหลืองปิยะรัตน์ มีชื่อวิทยาศาสตรว่า Phaeanthuspiyae Wiya, Aongyong & Chaowasku โดยตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น นักวิจัยอาวุโสผู้ริเริ่มการศึกษาพืชวงศ์กระดังงาในประเทศไทย และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Taiwania ปีที่ 66 ฉบับที่ 4 หน้าที่ 509-516 พ.ศ. 2564

 

โดยงานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยอนุกรมวิธานและวิวัฒนาการชาติพันธุ์ของพรรณไม้วงศ์กระดังงาในประเทศไทยที่หายากและยังไม่เป็นที่รู้จัก เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

 

นักวิจัย มช. ค้นพบ \"เหลืองปิยะรัตน์\" พืชชนิดใหม่ของโลก

คณะวิจัย

 

ลักษณะเด่น เหลือปิยะรัตน์

 

เหลืองปิยะรัตน์ มีลักษณะเด่น คือ เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 3 เมตร มีก้านดอกยาว กลีบดอกชั้นนอกมีขนาดเล็กคล้ายกลีบเลี้ยง กลีบดอกชั้นในเมื่อเจริญเต็มที่จะมีสีเหลืองเข้ม ที่โคนกลีบมีสีม่วงอมน้ำตาล ดอกมีกลิ่นหอม ผลเป็นผลกลุ่ม ผลย่อยมีเมล็ดเดียว เมื่อสุกสีแดงสด

 

จากการสำรวจพบเหลืองปิยะรัตน์เพียงไม่กี่ต้นในหย่อมป่าดิบชื้นที่ถูกรบกวน ซึ่งรายล้อมไปด้วยสวนยางและสวนผลไม้ สุ่มเสี่ยงที่จะถูกแผ้วถางจนสูญพันธุ์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้ ก่อนที่จะไม่เหลือให้ชนรุ่นหลังได้ชื่นชมและศึกษา

 

นอกจากเหลืองปิยะรัตน์แล้ว ในประเทศไทยยังพบพืชสกุล Phaeanthus อีก 1 ชนิด คือ หัวลิง ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phaeanthus Iucidus Oliv. โดยพบที่จังหวัดนราธิวาสและยะลา

 

นักวิจัย มช. ค้นพบ \"เหลืองปิยะรัตน์\" พืชชนิดใหม่ของโลก

ผลสุกของเหลืองปิยะรัตน์

 

 

“เหลืองปิยะรัตน์มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นไม้ดอกไม้ประดับได้ เนื่องจากมีดอกที่สวยงามและมีกลิ่นหอม นอกจากนี้พบว่าผู้คนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้พืชสกุล Phaeanthus ชนิดอื่น ๆ เป็นพืชสมุนไพรรักษาโรคตา ดังนั้นอาจพัฒนาเหลืองปิยะรัตน์เป็นพืชสมุนไพรได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมทางด้านเภสัชเวทและเภสัชวิทยาต่อไป” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

 

นักวิจัย มช. ค้นพบ \"เหลืองปิยะรัตน์\" พืชชนิดใหม่ของโลก

ดอกเหลืองปิยะรัตน์