สสส. “อ่าน อาน อ๊าน” ต้นแบบแก้ปัญหาเด็กอ่าน-เขียนไม่คล่อง 

สสส. “อ่าน อาน อ๊าน” ต้นแบบแก้ปัญหาเด็กอ่าน-เขียนไม่คล่อง 

เด็กปฐมวัยส่วนใหญ่ล้มเหลวทางการเรียน คะแนนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทยต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน  เหตุจากความอ่อนแอทางภาษา-การอ่าน สสส.-ภาคีเร่งวิจัย“อ่าน อาน อ๊าน” โรงเรียนต้นแบบอ่านสร้างสุข แก้ปัญหาเด็กอ่าน-เขียนไม่คล่อง 

    สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 2 และองค์การบริหารส่วนตำบลผ่านศึกจ.สระแก้ว ลงนาม MOU โครงการวิจัยและพัฒนาโรงเรียนต้นแบบอ่านสร้างสุข : อ่าน เขียน เรียนรู้ อย่างมีความหมาย สมวัย และมีความสุข (อ่าน อาน อ๊าน) ลดภาวะ Learning Loss ที่ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 อาคารวิจัยและการศึกษาต่อเนื่อง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กรุงเทพฯ

นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า เด็กปฐมวัยอายุ 0 - 6 ปี ประมาณ 4.2 ล้านคนในไทย เป็นช่วงวัยที่ระบบประสาทและสมองเติบโตสูงสุดกว่า 80% ของชีวิตมนุษย์ จึงเหมาะสมต่อการวางรากฐานการเรียนรู้ และส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ

    ที่น่าเป็นห่วง กลับพบเด็กไทยส่วนใหญ่ล้มเหลวทางการเรียน จากความอ่อนแอทางภาษาและการอ่าน

      ขณะที่ผลการจัดอันดับทางการศึกษานานาชาติ เช่น โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA)

       และการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติพื้นฐาน (O-Net) พบว่า คะแนนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย เด็กไทยได้คะแนนต่ำกว่าครึ่งของเกณฑ์มาตรฐาน ชี้ให้เห็นประสิทธิภาพการเรียนรู้ของนักเรียนลดลงต่อเนื่อง

    “การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้โลกการศึกษาเจอความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลายโรงเรียนปิดและเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์ เป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำ ทำให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้ต่ำกว่าที่ควรเด็กบางคนหลุดออกนอกระบบ” นางญาณี กล่าว

     จากรายงานเรื่อง The state of the global education crisis: a path to recovery ของ UNESCO ร่วมกับ UNICEF และ World Bank ยังชี้ให้เห็นว่า ปัญหาร้ายแรงที่แฝงมากับการปิดโรงเรียน อาจกลายเป็นภารกิจใหญ่ ที่รัฐและผู้กำหนดนโยบาย ต้องเอาใจใส่ฟื้นฟูแก้ไขในระยะยาว

         นั่นคือ ภาวะสูญเสียการเรียนรู้ (learning losses) ของเด็กทั่วโลก ทำให้ สสส. โดย แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน จึงเร่งศึกษาโมเดลที่เหมาะสม เพื่อร่วมแก้ไขวิกฤติครั้งนี้

           นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาโรงเรียนต้นแบบอ่านสร้างสุข : อ่าน เขียนเรียนรู้ อย่างมีความหมาย สมวัย และมีความสุข หรือ “อ่าน อาน อ๊าน”

         เลือกพื้นที่ อบต.ผ่านศึก อ.อรัญประเทศจ.สระแก้ว ตามโรงเรียนขนาดเล็ก พัฒนาโมเดลต้นแบบส่งเสริมสถานศึกษาให้ใช้การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง สร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างมีความสุขในเด็กปฐมวัย และเชื่อมรอยต่อของวัยเรียนประถมศึกษา สู่การจัดการความรู้ที่ยังยืน สู่การขยายผลในสถานศึกษาอื่นๆ ต่อไป

       “เชื่อว่า แม้จะเป็นโรงเรียนที่ห่างไกล แต่หากครูได้พัฒนากระบวนการเรียนรู้ โดยให้เด็กเป็นเจ้าของความรู้ ขณะที่ครูมีความเข้าใจระบบนิเวศสื่อ และออกแบบกิจกรรมการอ่านให้สอดคล้องวิถี และบูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ได้ โดยใช้ฐานที่แข็งแรงของ “การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง” จะสามารถทำให้เด็กๆ มีพัฒนาการการเรียนรู้อย่างก้าวกระโดด และแก้ปัญหา Loss Learning ได้” นางสุดใจ กล่าว

สสส. “อ่าน อาน อ๊าน” ต้นแบบแก้ปัญหาเด็กอ่าน-เขียนไม่คล่อง 

ผศ.ดร.รุ่งทิวา แย้มรุ่ง คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า มุ่งหวังให้การดำเนินงานที่เสริมศักยภาพของครู และเด็กในโครงการวิจัยและพัฒนาโรงเรียนต้นแบบอ่านสร้างสุข : อ่าน เขียน เรียนรู้อย่างมีความหมาย สมวัย และมีความสุข จะเป็นโมเดลต้นแบบ ทำให้ระบบการศึกษา และสังคม เห็นการเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆแต่มีความหมาย ทั้งการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของครู ชุมชน และครอบครัวของเด็ก อันจะส่งผลต่อการปฏิรูปการศึกษาในวงกว้างต่อไป

        นายชาญ สมสุขสันต์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลผ่านศึก จ.สระแก้ว กล่าวว่า โครงการนี้ได้พัฒนาศักยภาพครูแกนนำ ระดับก่อนอนุบาลจนถึงประถมศึกษา จำนวน 48 คน จาก 9 สถานศึกษา ได้แก่

-โรงเรียนนิคมสงเคราะห์ 2

-โรงเรียนอนุบาลตาพระยา

- โรงเรียนอนุบาลธรรมศิริวิทยาคาร

- โรงเรียนบีกริม

- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านพัฒนานิคม

-ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองปรือ

-ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านไผ่ล้อม

- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโนนสาวเอ้

- และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองสังข์

มีนักเรียนได้รับประโยชน์จากโครงการ 930 คน และมีหนังสือเด็กที่มีคุณภาพ หมุนเวียนในโครงการกว่า3,360 เล่ม โดยผู้สนใจกิจกรรม สามารถติดตามข้อมูลได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ “อ่านยกกำลังสุข” และเพจ “อ่าน อานอ๊าน