"หนี้กยศ.งดดอกเบี้ย-ค่าปรับ" ช่วยผู้กู้จริง? หรือเพิ่ม"คนโกง"

"หนี้กยศ.งดดอกเบี้ย-ค่าปรับ" ช่วยผู้กู้จริง? หรือเพิ่ม"คนโกง"

ดี หรือไม่ดี? สำหรับมติสภาพผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. หรือ ร่าง พ.ร.บ.กยศ. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว

โดยได้มีการพิจารณาถึงมาตรา 17 แก้ไขมาตรา 44  พ.ร.บ.กองทุน กยศ. เกี่ยวกับผู้กู้ยืมเงินจะต้องมีหน้าที่ชำระเงินกู้ยืมที่ได้รับไปพร้อมทั้งดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินคืนให้กองทุน  ซึ่งมีการลงมติ “ให้ผู้กู้ยืมเงินกองทุนไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้อีก”  แถม “ให้งดเว้นการคิดค่าปรับผิดนัดชำระ” ด้วยเหตุผลที่ว่า ช่วยเหลือและบรรเทาภาระของผู้กู้ยืมเงินหรือผู้ค้ำประกันให้สามารถชำระเงินคืนกองทุนได้

กรณีที่เกิดขึ้น หากแม้ในแง่ของการช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินหรือผู้ค้ำประกันแล้วนั้น อาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่ดี สมควรจะกระทำ แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง “การกู้ยืมเงิน” ไม่ว่าจะเป็นกู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือการกู้ยืมแบบไหน ล้วนต้องจ่ายคืน รวมถึงอาจจะต้องจ่ายดอกเบี้ยร่วมด้วย เพราะการกู้ยืมแล้วไม่คืน อาจไม่ได้แตกต่างอะไรกับการ “โกง”

  • ผู้กู้กยศ. ผิดชำระหนี้ 9หมื่นล้านบาท

นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกองทุนกยศ. จนถึงปัจจุบัน มีผู้ที่กู้ยืมเงินแล้วออกมาจากระบบการศึกษา ไม่จ่ายเงินให้กองทุน กยศ.จำนวนมหาศาล  โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย.2565 พบว่า

  • สถานะกองทุน กยศ.ตอนนี้ มีจำนวนผู้กู้ยืมทั้งหมด 6.2 ล้านราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 696,802 ล้านบาท 
  • มีผู้กู้อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.4 กว่าล้านราย หรือ 56% คิดเป็นเงิน 452,677 ล้านบาท
  • อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1 ล้านกว่าคน หรือ 17%  คิดเป็นเงิน 114,398 ล้านบาท
  • ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1.6 กว่าล้านคน หรือ 26% คิดเป็น 129,183 ล้านบาท
  • เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 6 หมื่นกว่าคน หรือ 1%
  • ในจำนวนดังกล่าวข้างต้น  นี้มีผิดชำระหนี้ 2.5 ล้านคน คิดเป็นเงิน 90,000 ล้านบาท

 

  • กยศ.ปรับวิธีบริหารจัดการกองทุน กู้ยืมไม่เสียดอกเบี้ย

โดยในส่วนการชำระหนี้ นั้น กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการในลักษณะทุนหมุนเวียนที่ไม่ได้มีการแสวงหาผลกำไร เพื่อให้โอกาสทางการศึกษากับนักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์โดยการให้กู้ยืมเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% ต่อปี และให้ระยะเวลาผ่อนชำระนานถึง 15 ปี

ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว. คลัง  กล่าวว่าขณะนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบไปแล้วซึ่งขอไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องนั้น  แต่ตนได้สั่งการให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ศึกษาวิธีการบริหารจัดการเงินกองทุน เพื่อความพร้อมรองรับ กรณีร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม หากร่าง พ.ร.บ.กยศ.ที่ผ่านรัฐสภามีผลบังคับใช้ โดยไม่มีเก็บดอกเบี้ย ไม่คิดค่าปรับ คิดเพียงเงินต้นคืนเท่านั้น กยศ.ต้องปรับแผนการบริหารจัดการใหม่ รวมทั้งแผนบริหารเงินกองทุนในอนาคตตามร่างกฎหมายใหม่ ที่มีความแตกต่าง เพราะจะไม่มีรายได้จากดอกเบี้ยและค่าปรับ ที่นำมาบริหารจัดการองค์กรและใช้เป็นเงินหมุนเวียนเพื่อให้รุ่นต่อไปกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา

จากเดิมที่จะมีรายได้ส่วนนี้มาเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ปล่อยกู้ต่อไป ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าในช่วงต่อไปจะไม่มีดอกเบี้ยและค่าปรับ แต่ผู้กู้ยืมเงินต้องมีวินัยการเงินในการชำระคืนเงินต้น เพื่อให้คนรุ่นต่อๆไปได้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาต่อ แม้ว่าจะมีการร่างกฎหมายใหม่ แต่วินัยทางการเงินของลูกหนี้ กยศ.จะต้องเหมือนเดิม ต้องชำระคืนเงินต้นตามกำหนด

 

  • หวั่นกู้กยศ.ไม่มีดอกเบี้ย ส่งผลผู้กู้ไม่ชำระเงิน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกองทุน กยศ. กล่าวว่า ในขณะนี้มีความเป็นห่วงว่า ผู้กู้เงิน กยศ.จะไม่มีวินัยการเงินในการชำระเงิน และหากกู้ยืมเงิน โดยไม่คิดดอกเบี้ยและไม่คิดค่าปรับ กยศ. ซึ่งเป็นกองทุนหมุนเวียนจะนำรายได้จากแหล่งใดมาปล่อยกู้ให้กับเด็กในรุ่นต่อไปได้ ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมา ไม่ได้หวังกำไรจากดอกเบี้ยและค่าปรับ แต่ กองทุน กยศ.ต้องบริหารจัดการเงินกองทุน เพื่อให้เด็กไทยที่ไม่มีทุนทรัพย์ ได้มีเงินทุนเรียน

“หากไม่มีค่าปรับ ไม่มีดอกเบี้ย จะมีเงินหมุนเวียนมาปล่อยกู้ได้อย่างไร และผู้กู้เงินจะคืนเงินต้นหรือไม่ ดังนั้น ขอไปพิจารณารายละเอียดของกฎหมายที่จะมีผลบังคับใช้ก่อน ซึ่งตอนนี้กฎหมายยังอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา ยังมีเวลาพิจารณาและชี้แจงให้ทุกฝ่ายเข้าใจ ถึงวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุน กยศ.ปลัดก.คลัง กล่าว

  • ขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินหมุนเวียนปล่อยกู้ให้รุ่นน้อง

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.กยศ.ที่กระทรวงการคลัง ได้เสนอให้รัฐสภาพิจารณานั้น คือ อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ค่าเบี้ยปรับไม่เกิน 1% ของวงเงินกู้ แต่เมื่อนำไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการแล้ว อัตราดอกเบี้ย และค่าปรับเป็น 0%

ด้านนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุน กยศ. กล่าวว่า หากไม่มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ อาจกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนให้ลดลง ซึ่งแต่ละปีกองทุนจะมีเงินจากเบี้ยปรับและดอกเบี้ยประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเงินส่วนนี้จะถูกนำมาใช้หมุนเวียนในการปล่อยกู้ให้กับรุ่นน้อง โดยที่กองทุนไม่ได้พึ่งพาเงินจากงบประมาณของรัฐมาตั้งปี 2561 ล่าสุดกองทุนปล่อยกู้อยู่ที่ 40,000 ล้านบาทต่อปี ได้รับการชำระคืนมาแล้ว 27,000 ล้านบาท

“ต้องรอดูกฎหมายว่าจะออกมาแนวทางไหน แล้ววางแผนการบริหารจัดการ เพื่อประเมินวงเงินที่มีอยู่ว่าจะดำเนินการปล่อยกู้ให้รุ่นน้องต่อไปอย่างไร โดยแต่ละปีที่ผ่านมา กยศ.ปล่อยกู้ให้กับนักเรียน นักศึกษารายใหม่ เฉลี่ยปีละ 40,000 ล้านบาท และมีการผ่อนชำระคืนปีละ 27,000-30,000 ล้านบาท ทำให้ กยศ.ปล่อยกู้ต่อเนื่องได้”นายชัยณรงค์ กล่าว

  • Moral Hazard เมตตาเกินไป ส่งเสริม “คนโกง”

อย่างที่ทราบกันดีว่า ที่ผ่านมาแม้ กยศ.จะเป็นการกู้ยืมที่ดอกเบี้ยถูกมาก เมื่อเทียบกับการกู้ยืมในรูปแบบอื่นๆ อีกทั้ง ยังมีมาตรการลดหย่อนหนี้ช่วยเหลือผู้กู้ แต่ด้วยภาวะทางเศรษฐกิจของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน ทำให้บางคนไม่สามารถชำระหนี้กยศ.ได้ตามกำหนด หรือไม่ได้ชำระหนี้เลย จนทำให้เกิดกรณีการฟ้องร้องดำเนินคดี  

“การมีดอกเบี้ย หรือมีเบี้ยปรับในการกู้ยืม” มองอีกมุมหนึ่งก็เป็นเสมือนตัวกระตุ้นให้ผู้กู้มีวินัยในการชำระหนี้มากขึ้น เพราะหากไม่อยากเสียดอกเบี้ยแพง ถูกเบี้ยปรับก็คงต้องไปชำระหนี้ให้ตรงเวลา “การไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีเบี้ยปรับ” แม้จะกล่าวได้ว่าเป็นการช่วยลูกหนี้ แต่อีกนัยยะหนึ่งความช่วยเหลือ ความเมตตาเหล่านี้ อาจจะทำให้มีคนโกงมากขึ้น

MORAL HAZARD หรือภาวะภัยทางศีลธรรม ซึ่งภาวะหรือเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการเสี่ยงภัยสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการกระทำอันไม่สุจริตเพื่อหวังผลประโยชน์จากผลพวงของความเป็นช่วยเหลือดังกล่าว อย่าง กรณี การกู้ยืมเงินกยศ.โดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ไม่ต้องเสียค่าปรับ อาจจะมีผู้ที่ไม่มีวินัยทางการเงิน  ไม่มีวินัยในการชำระหนี้ ใช้ช่องของมติดังกล่าว ไม่ชำระหนี้ หรืออาจจะเอาเงินที่ต้องชำระหนี้ ไปชำระหนี้ในส่วนอื่นๆ ที่มีดอกเบี้ย และมีเบี้ยปรับ

ดังนั้น มติกู้ยืมเงินกยศ.โดยไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีเบี้ยปรับ ถ้าจะดำเนินการในรูปแบบดังกล่าวจริงๆ นอกจากทำให้เกิดภาวะภัยทางศีลธรรม มีคนโกงมากขึ้นแล้ว อาจทำให้ไม่มีเงินไปส่งต่อโอกาสให้แก่รุ่นรวม อีกทั้ง ถ้าผู้กู้กยศ.ไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีค่าปรับ คงต้องหาเงินในส่วนของดอกเบี้ย และค่าปรับที่เสียไปก่อนหน้านี้ คืนผู้กู้ยืมกยศ.อีกจำนวนหลายล้านคนที่ผ่อนชำระหนี้แล้วเสร็จ หรือกำลังชำระหนี้อยู่ เพราะไม่เช่นนั้น คงไม่ยุติธรรมต่อผู้กู้ยืมน้ำดีที่ส่งเงินครบทุกเดือน ไม่ผิดนัด

อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวผ่านความเห็นชอบเพียงขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แต่ยังต้องรอการพิจารณาของวุฒิสภา (ส.ว.) ดังนั้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะไปในทิศทางใด จะเป็นการช่วยเหลือ แบ่งเบาภาระผู้กู้จริงๆ หรือจะยิ่งส่งเสริมให้มี "คนโกง"ในประเทศไทยมากขึ้น