“ภท.” รับศึกรอบด้าน โดนสกัด “พลังดูด-กัญชา-กยศ.”

“ภท.” รับศึกรอบด้าน โดนสกัด “พลังดูด-กัญชา-กยศ.”

หรือว่านี่คือ การสกัด “ดาวรุ่ง” ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า จากแทบทุกพรรคการเมือง แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง?

กรณีผลการลงมติให้ถอนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ.... ออกจากวาระการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 14 กันยายน โดยมติเสียงข้างมาก 198 เสียง “เห็นด้วย” ให้ถอนเนื้อหา ต่อเสียง “ไม่เห็นด้วย” 136 เสียง ทั้งนี้มีผู้งดออกเสียง 12 เสียง

ที่ถูกจับตา ก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคเพื่อไทย ต่างลงมติเสียงข้างมาก คือ “เห็นด้วย”

ความจริงก็มี “พรรคพลังประชารัฐ” ก็เห็นด้วยถึง 47 เสียง แต่ที่พรรคภูมิใจไทย ซึ่งผลักดันร่างพ.ร.บ. ติดใจก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคเพื่อไทย

“ดีเสียอีกที่เป็นแบบนี้ พรรคร่วมรัฐบาลไม่สนับสนุนกันเอง ใกล้เลือกตั้ง ไอ้ที่จะต้องเกรงใจอะไรกัน ก็ไม่ต้องเกรงใจ” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ลั่นประโยคนี้ออกมาเหมือนประกาศศึกพรรคร่วมรัฐบาล  

หลังตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ว่า เป็นเพราะขณะนี้ใกล้จะมีการเลือกตั้ง ส.ส. แล้วใช่หรือไม่ จึงนำการเมืองมาผูกโยงเรื่องต่างๆ ในการสร้างคะแนน? “เรื่องนี้คงไม่ต้องตอบ ทุกคนก็เห็น”

นั่นแสดงว่า “อนุทิน” ค่อนข้างมั่นใจว่า เป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง ส่วนเหตุผลอื่นเป็นเรื่องรอง?

อย่างที่ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงจุดยืนพรรคเพื่อไทย ต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชาฯที่ถูกถอนออกไปปรับปรุงแก้ไข ตอนหนึ่งว่า

ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ใช่กัญชาเพื่อสันทนาการ จุดยืนของเราต้องเป็นกัญชาทางการแพทย์มาตลอด พรรคเพื่อไทยเฝ้ามองมาตลอดว่า ถ้ารัฐบาลทำในกรอบทางการแพทย์จะสนับสนุน แต่ถ้าเกินจากกรอบนี้เราไม่สนับสนุน

ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 62 รัฐบาลมีเวลาในการวางแผน และจัดระเบียบเรื่องการควบคุม ซึ่งรัฐบาล และพรรคภูมิใจไทย ควรเสนอกฎหมายควบคุมก่อน แล้วจึงออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อปลดล็อคกัญชา เมื่อวันที่ 8 ก.พ.64 ขณะที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุม นี่คือข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น

“ไม่ได้มีเพียงพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ลงมติให้ถอนร่างออกไปก่อน ในพรรครัฐบาลเองก็มี หากพรรคภูมิใจไทยไปตรวจสอบดูจะเห็นว่าพรรคพลังประชารัฐ ก็เห็นตรงกันกับพรรคเพื่อไทย จะมาบอกฝ่ายค้านเตะถ่วงคงไม่ใช่ เพราะรัฐบาลก็ขัดขวางกันเอง ส่วนจะมีพรรคฝ่ายค้านไปลงมติเห็นด้วย ไม่ใช่ว่าเขาไม่ค้าน แต่ให้พิจารณาไปก่อนแล้วค่อยคว่ำ...”

เช่นเดียวกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์บางคน ออกมายืนยันว่า การตัดสินใจของพรรค ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่คิดถึงประชาชน  

ประเด็นอยู่ที่ว่า “อนุทิน” และพรรคภูมิใจไทย คิดไปเอง หรือว่า มีอะไร ที่ทำให้คิดได้เช่นกัน

เรื่องนี้อาจต้องย้อนดู “พรรคภูมิใจไทย” ในการต่อสู้ทางการเมืองกับพรรคอื่น ว่ามีกรณีที่จำเป็นต้อง “สกัดดาวรุ่ง” หรือไม่   

เริ่มจาก “พลังดูด” ส.ส.เข้าพรรค ที่แวดวงการเมืองต่างรู้ดีว่า ไม่มีใครเกิน

อย่าง ช่วงที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 21 คน สาย “ผู้กองนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า โบกมือลาพรรค มี 16 ส.ส. (ไม่รวมถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ 2 คน คือ วัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง และ ทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา) มาอยู่กับพรรคเศรษฐกิจไทย

ส่วนอีก 3 คน ไปร่วมกับพรรคภูมิใจไทย ของ “อนุทิน” คือ เอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ วัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น และ สมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา

ความจริง ก่อนหน้านี้มี “พรพิมล ธรรมสาร” ที่ถูกขับออกจากพรรคเพื่อไทย ก็ไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย

นี่ยังไม่นับช่วงหนึ่งมี ส.ส.(อดีต)พรรคอนาคตใหม่ ไปรวมกับภูมิใจไทยถึง 10 คน กล่าวคือ

  1. วิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ
  2. ฐิตินันท์ แสงนาค ส.ส.ขอนแก่น เขต 1
  3. กฤติเดช สันติวชิระกุล ส.ส.แพร่ เขต 2
  4. กิตติชัย เรืองสวัสดิ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต 1
  5. ร.ต.ต.มณฑล โพธิ์คาย ส.ส.กทม เขต 10
  6. อนาวิล รัตนสถาพร ส.ส.ปทุมธานี เขต 3
  7. เอกการ ซื่อทรงธรรม ส.ส.แพร่ เขต 1
  8. โชติพิพัฒน์ เตชะโสภนมณี ส.ส.กทม.
  9. สำลี รักสุทธี ส.ส.บัญชีรายชื่อ
  10. ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่

ทุกวันนี้ยังมี “งูเห่า” อีแอบอยู่พรรคก้าวไกล เช่น นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย พีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย ขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี และคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

นอกจากนี้ ว่ากันว่ายังฝากเลี้ยง อยู่กับพรรคการเมืองอื่นๆ อีกหลายพรรค ไม่เว้นแม้แต่พรรคเพื่อไทย

จนเป็นที่รู้กันว่า เวลานี้พรรคภูมิใจไทย มี ส.ส.ในสภาถึง “70 เสียง” ?   

ความร้อนแรงของ “พลังดูด” แม้แต่ “พี่โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังอดหวั่นใจไม่ได้ ต้องรีบออกมาตีปลาหน้าไซ

โดยมีการหยิบยกเอามาพูดในคลับเฮาส์ของกลุ่มแคร์ คิด เคลื่อนไทย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ว่า “อาจจะมีผู้นำบางคน Hijack ความเป็นนายกฯก็ได้”

ทำเอาผู้สื่อข่าวต้องเอาเรื่องนี้ไปถาม “อนุทิน” ว่า ช่วงนี้ ดูราศีนายกฯจับ? ขณะที่เจ้าตัวส่ายหัว “ไม่เอาหรอก เหนื่อย นอนไม่พอ”

ไม่เพียงเท่านั้น “พี่โทนี่” ยังพูดในวันเดียวกันว่า วันนี้มีข่าวว่า ส.ส.ฝ่ายค้าน โดนวัคซีนไล่ฉีดกันเป็นแถว 20 ล้าน 30 ล้าน จะเตรียมย้ายพรรคอะไรต่ออะไร เตือนไว้นะ มีส.ส.พรรคเพื่อไทย ไปร่วมประชุมกับพรรครัฐบาลอยู่ ตนรู้ว่า ชื่ออะไร แจกคนละ 2 แสนเป็นรายเดือน แต่เอาเงินที่ไหนมา???

ยิ่ง “กติกา” การเลือกตั้งเปลี่ยนจากบัตรใบเดียว มาเป็นบัตรสองใบ “พรรคภูมิใจไทย” จึงโฟกัสไปยังพื้นที่ที่จะได้ ส.ส.แบบเน้นๆ ชัวร์ๆ ทั้ง ภาคกลาง ภาคอีสาน(ใต้) ภาคใต้ตอนล่าง

นี่คือ ปรากฏการณ์ ที่ไม่เพียงเสียงลือเสียงเล่าอ้าง แต่มันเป็นความจริง ที่แม้แต่ “พี่โทนี่” ที่เชื่อว่า ตัวเองจะชนะแบบ “แลนด์สไลด์” หรือ “ถล่มทลาย” ยังหนาวสะท้านออกมาให้เห็น!

สำหรับสนามเลือกตั้ง การต่อสู้ทางการเมืองในภาคใต้ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ “ประชาธิปัตย์” เจ้าของพื้นที่ขัดแย้งกับภูมิใจไทย เพราะแถบอันดามัน พรรคภูมิใจไทยหมายมั่นปั้นมือที่นั่งส.ส.เอาไว้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

ที่น่าสนใจ รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวถึงศึกเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ หลังประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ลงพื้นที่เปิดเวทีปราศรัย แนะนำตัวผู้สมัคร(15ส.ค.65) ว่า

ชั่วโมงนี้ พรรคเพื่อไทย ไม่มองภาคใต้เป็นเป้าหมายอยู่แล้ว แต่ไหนแต่ไรชื่อของพรรคเพื่อไทย เจาะภาคนี้ไม่สำเร็จ สำหรับพรรคที่ดูแล้วมีความพร้อม มีภาษีดีกว่าเพื่อน คือ พรรคภูมิใจไทย ให้ดูจากการไหลเข้ามาของนักการเมือง ถ้าพรรคบ๋อแบ๋ คงไม่มีใครอยากเข้ามาร่วมงานด้วย ผิดกับพรรคที่ดูแล้วมีอนาคต คนก็พร้อมเข้ามาทำงาน

มาดูพรรคประชาธิปัตย์ จะเห็นว่า มีแต่ไหลออก แล้วตัวใหญ่ๆ ทั้งนั้น ส่วนที่ไหลเข้ามายังสู้เขาลำบาก พรรคประชาธิปัตย์ เหมือนพรรคตะวันยอแสง คือ พระอาทิตย์จะตกดินแล้ว มีแสงริบหรี่ ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ตอนนี้ อย่าเพิ่งไปพูดถึง ศึกภายในมันเยอะ ฟื้นตัวลำบาก แล้วที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พูดว่า จะเอามา 52 เสียง เขาไม่ได้มองว่าจะไปเอากับภูมิใจไทย แต่เขาจะเก็บจากพื้นที่ของพลังประชารัฐนี่เอง

“พรรคภูมิใจไทย มีจุดแข็งที่ทำงาน แล้วมันได้เนื้อ ได้หนัง ทำแล้วมันสำเร็จ กัญชานี่มันเห็นเลยนะ เท่านี้ ก็เอาไปหาเสียงได้ เรื่องที่ประกาศว่าจะเอา ส.ส.ฝั่งอันดามัน 11 คน มันก็มีโอกาส เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เขาทำงาน เป็นชิ้น เป็นอัน มีของมาอวด ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ งานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มันไม่ขี้เหล่ แต่มันมีข่าวฉาวเยอะไปหน่อย เรื่องถุงมือยางเอย เรื่องล่วงละเมิด เรื่องที่มีการออกมาแฉสัมพันธ์ระหว่างคนในพรรคอีก มันกลบหมด”

อย่างไรก็ตาม สื่อบางสำนักตั้งข้อสังเกตว่า ช่วง 13-14 สิงหาคม ที่ผ่านมา เกิดวิวาทะ “ราชสีห์-หนู” กันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย หลังทั้งสองพรรคเตรียมการเลือกตั้งใหญ่ที่จะถึงด้วยการลงพื้นที่เปิดตัวผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในพื้นที่ภาคใต้

พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคเลือกไปที่จังหวัดสตูลและสงขลา พร้อมประกาศผู้ชิง ส.ส.หน้าใหม่ด้วยคำโปรย “รวมพลัง 30 เลือดใหม่ ทวงปักษ์ใต้คืน” พร้อมประกาศชิงชัย 35-40 เขตจาก 58 เขตของภาคใต้ ส่วนภูมิใจไทยนำโดย “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรค เลือกไปที่จังหวัดกระบี่และพังงา

พร้อมคำให้สัมภาษณ์ ของ นางนาที รัชกิจประการ เหรัญญิกพรรค “แม่ทัพภาคใต้” ว่า “เราขอแค่ 20 บวก” ในโซนภาคใต้

และหากมองลึกลงไปในส่วนพื้นที่จังหวัดติดทะเลอันดามัน ทางฝั่งตะวันตก จากคำให้สัมภาษณ์ของ นายเศรษฐพงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.จังหวัดกระบี่นั้น ภูมิใจไทยมองไปถึงเป้าหมาย “แลนด์สไลด์” ไว้ว่า จะได้ทั้งหมด 11 ที่นั่ง ในกลุ่ม 6 จังหวัด “ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล” จากทั้งหมด 15 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งปี 2566

ว่ากันว่า ถ้าเป็นช่วง “ประชาธิปัตย์” ยึดหัวหาดภาคใต้เอาไว้ได้หมด จนมีคำพูดทีเล่นทีจริงว่า “ส่งเสาไฟฟ้าลงก็ชนะ” หรือ “คนใต้กรีดเลือดออกเป็นสีฟ้า” การออกมากล่าวเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องเหนือจินตนาการอย่างแน่นอน

แต่วันนี้ชักไม่แน่เหมือนกัน ที่พรรคประชาธิปัตย์ จะยืนหยัดใน “บางพื้นที่” ต่อสู้กับพรรคภูมิใจไทยได้

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น รศ.ดร.พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ อาจารย์จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังเขียนบทความวิเคราะห์ในนิตยสารต่างประเทศ ‘The Diplomat’ มองสภาวะขาลงของพรรคประชาธิปัตย์ว่า มาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่

1. กลุ่มชนชั้นนำรุ่นเก่ากุมอำนาจในพรรคมาอย่างยาวนาน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวรับสถานการณ์ใหม่

2. เชื่อมโยงกับข้อแรกคือ พรรคขาดการสร้างผู้นำของพรรครุ่นใหม่ แม้ในอดีตจะเป็นที่รู้กันอย่างดีว่า พรรคประชาธิปัตย์มีโครงสร้างที่ผลิตนักการเมืองรุ่นใหม่ อย่างโรงเรียนการเมืองของพรรค หรือ โครงการ “ยุวประชาธิปัตย์”

แม้ก่อนเลือกตั้งปี2562 ยังมีการก่อตั้งกลุ่ม “นิวเดม – NewDem” กลุ่มนักการเมืองรุ่นใหม่ของพรรคจำนวน 21 คน นำโดย “พริษฐ์ วัชรสินธุ” แต่เมื่อไม่มีสมาชิกคนใดชนะการเลือกตั้งประกอบกับการเปลี่ยนแปลงกลุ่มการเมืองในพรรคหลังผลเลือกตั้งไม่เป็นไปตามคาด ส่งผลให้กลุ่มต้องสลายไป

3. ปัจจัยสุดท้าย ประชาธิปัตย์ไม่มีทิศทางทางการเมือง และนโยบายที่ชัดเจน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พรรคไม่อาจขยายความนิยมทางการเมืองไปนอกจากพื้นที่ที่พรรคได้รับความนิยมอยู่แล้วได้ ในเชิงรายละเอียดด้านนี้

“พรรณชฎา” ยกข้อมูลจำนวนสาขาพรรคประชาธิปัตย์ว่า ก่อนหน้ารัฐประหารปี 2557 พรรคมีจำนวนสาขาพรรคมากกว่า 200 แห่ง ขณะที่ปัจจุบันลดลงเหลือจำนวนน้อยกว่า 100 แห่ง และนอกจากนั้นสาขาพรรคยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพในการสรรหาผู้ชิงตำแหน่งทางการเมือง หรือแคมเปญทางการเมืองของพรรค รวมทั้งสาขาพรรคหลายแห่งยังตื่นตัวเพียงแค่ช่วงเลือกตั้งเท่านั้น

นี่คือ ภาพรวมของพรรคประชาธิปัตย์ ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ พรรค “ดาวรุ่ง” มาแรงอย่างภูมิใจไทย ที่คืบคลานเข้าสู่ภาคใต้

อีกประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์กันก็คือ แม้ผลการเลือกตั้งปี 2562 ภูมิใจไทยจะได้ส.ส.เขตภาคใต้แค่ 8 ที่นั่ง หากเทียบกับประชาธิปัตย์ซึ่งอยู่ที่ 22 ที่นั่ง และพลังประชารัฐ 13 ที่นั่ง แต่อย่าลืมว่า เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตกอยู่ในมือ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” นักธุรกิจฝั่งอันดามัน และส.ส.สตูล เขต 1 พรรคภูมิใจไทย นั่นแสดงให้เห็นว่า พรรคภูมิใจไทย ให้เห็นความสำคัญในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของภาคใต้อย่างโซนอันดามันอย่างมาก

และตัวผู้สมัคร ส.ส.พังงา ซึ่งภูมิใจไทยเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น ก็เป็นนักการเมืองในพื้นที่ มีฐานเสียงเหนียวแน่น ทั้ง “อรรถพล ไตรศรี” อดีตนายก อบจ.พังงาหลายสมัย และ “อำนาจ ดำรงพิทยากุล” ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 ก็เป็นสมาชิกสภา อบจ. ของจังหวัดพังงา

 

อีกข้อสังเกต จากการเปิดตัวผู้ท้าชิง ส.ส.จังหวัดพังงา ของพรรคภูมิใจไทย ในครั้งนี้ หากย้อนรอยข่าวในหน้าสื่อจะพบว่า มีการเปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการไปแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2564 หรือเกือบ 1 ปีที่แล้ว

ประกอบกับคำให้สัมภาษณ์ของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” เมื่อเดือนเมษายน 2565 ที่บอกว่า พรรคเตรียมพร้อมรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.เรียบร้อยแล้วกว่า 200 เขต จากทั้งหมด 400 เขตเลือกตั้ง นั่นแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของพรรคภูมิใจไทยที่ “ซุ่มเงียบ” เตรียมตัวรับการเลือกตั้งครั้งหน้ามาตลอด

ดังนั้น ประเด็น “กัญชา” ที่ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อ้างว่า

“เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง แต่เป็นเรื่องที่เราเป็นห่วงอนาคตของเยาวชนในประเทศ สถาบันการศึกษา รวมถึงด้านอื่นๆ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ สนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ไม่เห็นด้วยกับกัญชาเสรี เราก็มานั่งดูว่า หากเข้าข่ายที่จะเดินไปสู่ทิศทางกัญชาเสรี เราก็ต้องแสดงความคิดเห็นและแสดงออกเพื่อสะท้อนว่า อย่างน้อยยังมีพรรคการเมืองที่มีความห่วงใยอนาคตประเทศ และเชื่อว่า มีอีกหลายพรรคที่มีความเป็นห่วงเรื่องนี้เช่นเดียวกัน”

อาจต้องวัดความน่าเชื่อถือระหว่าง เหตุผลจริง หรือ เหตุผลรอง ของความหวั่นสะท้าน หรือ “เอาคืน” กรณีถูกเจาะไข่แดง “อันดามัน” ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไม่ต่างจากพรรคการเมืองอื่น ที่ต่างเฝ้าจับตามอง “พลังดูด” ของ พรรคภูมิใจไทย

พูดถึงการเสพติดกัญชา และพิษสงของกัญชา ถ้าส.ส.เกาะติดพื้นที่ และหาข้อมูลจากพื้นที่อย่างจริงจัง จะพบว่า “คนสูบกัญชา” ส่วนใหญ่ ไม่ใช่ “เยาวชน วัยรุ่น” แต่อย่างใด หากแต่เป็นกลุ่มเก่าและเวลานี้ก็กลายเป็นคนวัยกลางคนและสูงวัยแล้ว ซึ่งนับวันจะหมดไป

ส่วน “เยาวชน วัยรุ่น” ตามหมู่บ้าน และคนที่ติดยาเสพติดอย่างแท้จริง คือ “เสพยาบ้า” และนับวันน่ากลัวว่า เยาวชนที่เริ่มเติบโตจะตกเป็นทาส “ยาบ้า” กันหมด เพราะถูกปล่อยปละละเลย ปล่อยให้ตำรวจบางคน บางกลุ่ม ใช้สร้างอิทธิพล หาผลประโยชน์ ซึ่งถ้าจะพูดกันเรื่องปัญหายาเสพติดอย่างตรงไปตรงมา ก็คือเรื่องนี้

และหากส.ส. พรรคการเมืองจริงใจ จะปัญหา “ยาเสพติด” อย่างแท้จริง ต้องกล้าที่จะทำอะไรสักอย่าง ในการล้างอิทธิพลของคนที่อยู่ในขบวนการทั้งหมด เพื่อนำไปสู่การปราบปราม “อย่างจริงจัง”ในระดับหมู่บ้าน ระดับนักเรียน

ส่วน “กัญชา” สำหรับเยาวชน วัยรุ่น ถือว่า อ่อน เชยระเบิด ไม่ใช่ทางของพวกเขา เมื่อเทียบกับ “ยาบ้า” หรือ ยาเสพติดอื่นที่ก้าวล้ำอยู่ในค่านิยมใหม่  

ดังนั้น การกล่าวอ้างพิษภัยยาเสพติดจากกัญชา ส.ส.และพรรคการเมือง ต้องกลับไปหาข้อมูลในชุมชนให้มากกว่านี้ และจะรู้ว่า ตัวเองลอยอยู่เหนือปัญหาไปไกลแค่ไหน และตามปัญหาไม่ทันแล้ว

ส่วนถ้ารู้อยู่แล้ว แต่อาศัยว่า ประชาชนบางส่วน ซึ่งอยู่ห่างไกลชุมชน ห่างไกลปัญหา ห่างไกลข้อมูลความเป็นจริง แถมยังติดภาพเก่าว่า “กัญชาเป็นยาเสพติด” ไม่รู้ว่า เวลานี้ประชาชนแอบปลูกกัญชา เพื่อใช้รักษาโรคของตัวเอง ไม่ว่า เบาหวาน ความดัน ที่สาเหตุหนึ่งมาจากการพักผ่อนนอนหลับไม่เพียงพอ รวมถึงรับรู้กันดีแล้วว่า วงการแพทย์ ก็ใช้กัญชาเยียวยารักษาโรค...

จึงเท่ากับว่า ฉวยโอกาสเอามาเล่นเกมการเมืองหรือไม่  

สิ่งที่พรรคการเมืองหลายพรรค อาจคาดไม่ถึงก็คือ แทนที่การคว่ำร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ จะเป็นการ “ดับฝัน” บางพรรคที่ต้องการใช้หาเสียง แต่อาจกลับ “สวิง” ไปอีกฝ่ายที่ส่งเสริมและสนับสนุน พ.ร.บ.กัญชา ก็ไม่แน่เหมือนกัน เพราะสามารถใช้เป็น“ข้ออ้าง”ถูกพรรคการเมืองอื่นตีกันได้เหมือนกัน  

อย่าลืมว่า ประชาชนในพื้นที่ชุมชนหมู่บ้าน กลุ่มเกษตรกร อย่างน้อยที่สุด ดูจากผลสำรวจในภาคอีสานของ “อีสานโพล” ต่างขานรับ พ.ร.บ.กัญชาฯกันเป็นส่วนใหญ่

หาก พรรคภูมิใจไทย อ้างว่า พวกเขาทำอย่างเต็มที่แล้ว ตั้งแต่ผลักดันนโยบาย จนมีการ “ปลดล็อค” ออกจากบัญชียาเสพติด และพยายามหาทาง “ควบคุม” ไม่ให้มีการใช้อย่างเสรีตามที่ถูกกล่าวหา ด้วยการออกกฎหมายควบคุมในส่วนที่เป็นพิษภัยเอาไว้ แต่ส่งเสริมใช้ในการแพทย์ และวิสาหกิจชุมชน ลดค่าใช้จ่ายด้าน “ยา” ในครัวเรือน ไม่ต่างจาก “พืชสมุนไพร” อื่น เช่น ฟ้าทะลายโจร ก็ลองดูว่า ประชาชนจะเชื่อข้อมูลฝ่ายไหน?

อีกอย่างที่ถือว่า พรรคภูมิใจไทย ขายได้อย่างแน่นอน ก็คือ กรณีผลักดันเงินกู้เพื่อการศึกษา หรือ “กยศ.” ไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งถูกโจมตีเช่นกันว่า ไม่สนใจเรื่องวินัยการเงินการคลัง   

แต่นายอนุทิน อธิบายเอาไว้อย่างน่าคิดว่า เรื่องวินัยทางการเงินของประชาชนอยู่ที่การปลูกฝัง ยืนยันว่า พรรคภูมิใจไทย ไม่ได้บอกให้คนเบี้ยวหนี้ แต่การให้การศึกษากับเยาวชนของชาติความจริงควรจะต้องให้ฟรีด้วยซ้ำไป พรรคภูมิใจไทยไม่อยากไปฝืนกระแสคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพราะอาจยังไม่พร้อมในเรื่องงบประมาณ

แต่เรื่องดอกเบี้ย พรรคภูมิใจไทยได้เขียนมาตั้งแต่ปี 2557 เป็นนโยบายในการเลือกตั้งและถูกเป็นโมฆะไป แต่พรรคยืนยันในนโยบายว่า เยาวชนของชาติต้องได้รับการศึกษาสูงสุดเท่าที่อยากจะเรียน โดยรัฐจะต้องเป็นผู้สนับสนุน เพราะถือเป็นการลงทุนในอนาคตของบ้านเมือง

ยืนยันว่า ไม่มีประเด็นใดๆ ในทางการเมืองเลย เราคิดแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์ และเรื่องที่เป็นความมั่นคงของบ้านเมืองในอนาคต เรื่องที่จะทำให้คนในชาติมีการศึกษาสูง ต้องมองว่า สิ่งนี้คือการวางรากฐานหรือตอกเสาเข็มที่จะทำให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าไปได้ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องการหาเสียง แต่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำถ้ามีโอกาสเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน เราไม่ได้คิดอะไรอย่างอื่น ผลงานของเราเป็นสิ่งที่ประชาชนจะได้พิจารณา

“อันนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องวินัยการเงินการคลังเลย เราไปดูในเรื่องการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดดีกว่า สิ่งไหนที่ไม่จำเป็นควรซื้อหรือไม่ควรซื้อไปดูในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน อย่าให้มีการรั่วไหล ตรงนี้เป็นเรื่องของวินัยการเงินการคลังที่หนักกว่า การดูแลให้เยาวชนได้รับการศึกษาโดยเป็นการให้ยืมจากรัฐโดยไม่คิดดอกเบี้ย เยาวชนเหล่านี้จะเอามาคืนในส่วนของเงินต้น และเมื่อทำงานจะคืนในรูปแบบของการเสียภาษี ซึ่งคำนวณแล้วประมาณ 7 ปี ผู้ที่ยืมเงินไปใช้เพื่อการศึกษาจะคืนเงินต้นได้ทั้งหมด อีกทั้งแต่ละปีจะมีคนที่เก่งได้เงินจำนวนมากและเสียภาษีให้กับรัฐมากขึ้น และยังมีเวลาเฉลี่ยอีกประมาณ 30 ปี ที่จะทำงานและเสียภาษีคืนรัฐ เราต้องมองในลักษณะแบบนี้ ไม่ใช่มองแค่ในระบบราชการ เงินที่รัฐออกไปตรงนี้ก็เหมือนออกไปจากถังๆ หนึ่ง กระจายไปใส่กระป๋องเล็กๆน้อยให้กับประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องการไปจ่ายค่าเล่าเรียน เงินเดือนครู ค่าหนังสือ ซึ่งก็เมกอินไทยแลนด์ทั้งนั้น ไม่ได้หายไปไหน...

ทั้งหมด เห็นได้ชัดว่า พรรคภูมิใจไทย นี่เอง คือ พรรคที่จะดับฝัน “แลนด์สไลด์” ของพรรคเพื่อไทย ถ้าขืนปล่อยให้โดดเด่นเป็นสง่าอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน อย่างน้อยที่สุดการยึดที่นั่ง “ส.ส.อีสานใต้”  บางจังหวัด

และพรรคภูมิใจไทย เช่นกันที่ทำเอา ภาคใต้ “แถบอันดามัน” แทบจะ “ลุกเป็นไฟ” ในการต่อสู้ช่วงชิงที่นั่งส.ส.กับพรรคประชาธิปัตย์ และมีโอกาสสูงที่จะ “แลนด์สไลด์” หรือ “ถล่มทลาย” ตามการวิเคราะห์ของ “กูรู” การเมือง อีกด้วย

แถม “จุดขาย” เรื่องกัญชา แม้ว่า ต้องนำร่างพ.ร.บ.กลับไปแก้ไข ใหม่ แต่ถือว่า ความสำเร็จมาไกล จนใช้หาเสียงได้ไม่ยาก เรื่อง “กยศ.” อย่างที่กล่าวแล้ว ก็เข้าตา ไม่นับ “พลังดูด” ที่วันนี้ยังถือว่า ไม่สิ้นสุด จนกว่าจะอยู่ในช่วงกฎหมายกำหนดเวลาสังกัดพรรคก่อนสมัครรับเลือกตั้ง

ถามว่า ใครไม่กลัว? ใครไม่หวั่นสะท้าน? ใครไม่ต้องการสกัด “ดาวรุ่ง”? จึงนับแต่นาทีนี้ พรรคภูมิใจไทย ทำอะไรก็ต้องอยู่ในสายตาพรรคคู่แข่งทางการเมืองทั้งหมด อย่างไม่ต้องสงสัย

ยื้อได้ สกัดได้ หยุดได้ แทบจะเป็นเกมการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างรู้กันดี อยู่แล้ว!?