อัพเกมเมอร์รุ่นใหม่ สู่นักเขียนโปรแกรม ตอบโจทย์อาชีพยุคดิจิทัล

อัพเกมเมอร์รุ่นใหม่ สู่นักเขียนโปรแกรม ตอบโจทย์อาชีพยุคดิจิทัล

ศธ.ผนึก การีนา เปิดโครงการ "Gamer to Coder" พัฒนาเกมเมอร์รุ่นใหม่ สู่นักเขียนโปรแกรม เพิ่มทักษะดิจิทัลแก่คนทุกช่วงวัย ตั้งเป้า 3-5 ปี คนไทยต้องพัฒนาแพลตฟอร์มขายต่างชาติ

"กระทรวงศึกษาธิการ" นำโดย "ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ" ได้ผลักดันนโยบาย CODING FOR ALL มาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 ปี 

  • "CODIND"พัฒนาคนได้ทุกช่วงวัย

โดยเริ่มตั้งแต่จากการเรียน UNPLUGGED CODIND ก่อน และพัฒนาไปเป็น PLUGGED CODING ซึ่งมีเป้าหมายที่ต้องการเร่งกระจายการเรียนรู้ด้าน CODING ไม่เฉพาะแต่ครูและนักเรียนเท่านั้น แต่ต้องกระจายไปสู่ทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกช่วงวัยให้ได้มากที่สุด 

ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่าทุกอาชีพสามารถนำการ CODING ไปประยุกต์และเชื่อมโยงได้กับทุกศาสตร์ เพราะเป็นการช่วยฝึกให้เยาวชน หรือทุกช่วงวัยมีการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบและนำความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้เป็น 

" CODING เป็นทักษะสำคัญที่เด็กไทยในปัจจุบันทุกคนต้องมี เป็นภูมิคุ้มกันเพื่อเผชิญกับ VUCA WORLD โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคนไทยให้ CODE เองได้ มีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง และเชื่อว่าภายใน 3-5 ปี คนไทยต้องมีความรู้ความสามารถทั้ง CODING และ CODER จนก้าวไปถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มของคนไทยไปขายให้ต่างประเทศ"ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

 

  • นำร่องพัฒนาเกมเมอร์สู่นักเขียนโปรแกรม

ความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และบริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ในการเปิดตัว “โครงการนำร่องฝึกอบรมพัฒนาเกมเมอร์รุ่นใหม่ สู่การเป็นนักเขียนโปรแกรม (Gamer to Coder)” เพื่อเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพในสังคมยุคดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมด้วยดร.ศรุต วานิชพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส Sea (ประเทศไทย)  

ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า โครงการ Gamer to Coder เป็นความร่วมมือระหว่าง ศธ.กับ บริษัท การีนา ออนไลน์(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโครงการนำร่องฝึกอบรมพัฒนาเกมเมอร์รุ่นใหม่ สู่การเป็นนักเขียนโปรแกรม เพื่อพัฒนาเยาวชนไทยให้มีทักษะความรู้ด้านดิจิทัลอย่างมืออาชีพ 

โดยมุ่งส่งเสริมคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความรู้และความสนใจในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและเกมออนไลน์อยู่เดิมและมีความคุ้นชินกับเทคโนโลยีดิจิทัล โดยโครงการนี้จะมุ่งต่อยอดทักษะด้านดิจิทัลต่อไปอย่างเป็นระบบ เพื่อเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพในสังคมยุคดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ

 

  • เพิ่มทักษะด้านดิจิทัลแก่คนรุ่นใหม่ ต่อยอดสู่อาชีพ

โครงการดังกล่าว เป็นการร่วมกันผลักดันทักษะการเรียนรู้ทางด้านดิจิทัลแก่เด็กไทยเพื่อส่งเสริมและให้โอกาสในการพัฒนาต่อยอดอาชีพในอนาคต เชื่อว่าโครงการนี้จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและประสบความสำเร็จในการสร้างบุคลากรคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพในสังคมยุคเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไปในอนาคต น้อง ๆ นักเรียนที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้นอกจากจะได้ความรู้แล้ว ยังสามารถส่งผลงานชิงทุนการศึกษาได้อีกด้วยดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากระทรวงศึกษากระทรวงศึกษาธิการตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาให้เข้าถึงเยาวชน เพราะเยาวชนถือเป็นความหวังของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนยุคใหม่ที่เติบโตในยุคดิจิทัล จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการทำงานของหลายสาขาอาชีพจากทุกอุตสาหกรรม 

การพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านดิจิทัลในประเทศไทย โดยเฉพาะการเรียนการสอนการเขียนโปรแกรม(CODING) ที่เป็นหนึ่งในหัวใจหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในยุคดิจิทัลจึงยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น