3เรื่องต้องเตรียมก่อน“สูงวัย”: เงิน งาน ชีวิต ต้องทำอย่างไร

3เรื่องต้องเตรียมก่อน“สูงวัย”: เงิน งาน ชีวิต ต้องทำอย่างไร

เกษียณแล้วทำอะไรดี เงินหลังเกษียณต้องมีเท่าไร ไม่อยากป่วย...สูงวัยแล้ว ต้องวิ่งหรือเดินแบบไหน ลองอ่านไกด์นำทางหลังเกษียณ เพื่อนำมาใช้ในชีวิต

ในปี 2574 สังคมไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุ ระดับสุดยอด” จะมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ประมาณการอายุขัยเฉลี่ยของคนไทย ในปี 2564 ไว้ว่าผู้ชายอายุขัยประมาณ 73.5 ปี ผู้หญิงอายุขัยประมาณ  80.5 ปี

เมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัย ได้ตระเตรียมเงินที่จะใช้ไปจนถึงบั้นปลายชีวิตหรือยัง และได้วางแผนการใช้ชีวิตอีกแบบ รวมถึงงานที่อยากทำไว้หรือยัง

และถ้าไม่อยากป่วยเป็นภาระให้คนในครอบครัว ถ้าจะออกวิ่ง เดิน มีข้อแนะนำเรื่องนี้

 

1.วางแผนการเงิน

หากพูดถึง การเกษียณมี 3 แบบด้วยกัน คือ เกษียณแบบอัตคัด,เกษียณแบบพออยู่ได้ และเกษียณสุข มีเงินทองเหลือเฟือ

เงินก้อนที่คุณคิดว่าควรมีเงินหลังเกษียณวัย 60 ปีขึ้นไป จะใช้เดือนละเท่าไหร่ ลองอ่านสูตรนี้เพื่อนำไปปรับใช้

-ถ้าเกษียณอายุ 60 ปี และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่ถึง 80 ปี ตอนเกษียณอยากใช้เงินเดือนละ 20,000 บาท (ไม่รวมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ท่องเที่ยว เปลี่ยนรถยนต์ และซ่อมแซมบ้าน)

-ถ้าคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% ต่อปี เงิน 20,000 บาทในวันนี้ในอีก 30 ปีข้างหน้าจะกลายเป็น 48,545 บาท ทำให้เมื่ออายุ 60 ปี จะต้องมีเงินเกษียณประมาณ 11 ล้านบาท

-ดังนั้นต้องวางแผนไว้ว่า หลังเกษียณจะลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4% ต่อปี และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3% ต่อปี เพื่อจะใช้จนถึงอายุ 80 ปี

เช็กเงินออมเพื่อเกษียณ

สำรวจว่าเราได้เก็บหรือลงทุนเพื่อเกษียณไว้ที่ไหนบ้าง และตอนนี้ มีเงินออมเพื่อเกษียณอยู่เท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นภาคบังคับ ได้แก่ 

-กองทุนประกันสังคม 

-กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) 

-กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) 

-กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) 

-ประกันชีวิตแบบบำนาญ 

-สินทรัพย์เพื่อการลงทุนอื่น ๆ

ยกตัวอย่าง อายุ 30 ปี เงินเดือน 30,000 บาทต่อเดือน คาดว่าเงินเดือนเพิ่มขึ้นปีละ 3%

-ตอนนี้มีเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 100,000 บาท 

-แต่ละเดือนมีอัตราเงินสะสมและอัตราเงินสมทบจากที่ทำงานที่ 3% ต่อเดือน ประมาณการว่าจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6% ต่อปี 

-สูตรนี้เมื่ออายุ 60 ปี จะมีเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมด 3 ล้านบาท

เงินออมเพื่อเกษียณที่ยังขาดอยู่

เปรียบเทียบเงินที่จะใช้หลังเกษียณกับเงินออมเพื่อเกษียณว่าเพียงพอหรือไม่ หากไม่พอต้องหาวิธี เช่น ลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมาเก็บออมหรือซื้อ RMF เพิ่มเพื่อให้ได้เงินตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 

-จากตัวอย่าง หากต้องมีเงินเกษียณ 11 ล้านบาท 

-หักเงินออมเกษียณที่น่าจะได้เมื่ออายุ 60 ปี จำนวน 3 ล้านบาท 

-ในขั้นนี้พบว่ายังขาดเงินอีก 8 ล้านบาท

วางแผนออมเงินเพื่อเกษียณเพิ่ม

-หากต้องออมเงินเพิ่มอีก 8 ล้านบาท 

-ต้องลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6% ต่อปี 

-ต้องออมเงินเพิ่มสำหรับเกษียณ 8,500 บาทต่อเดือน 

ในปัจจุบันมีสินทรัพย์ทางการเงินมีหลายอย่าง เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นสามัญ และกองทุนรวม ที่เราต้องทำความเข้าใจทางเลือกในการลงทุนอย่างรอบคอบ จากนั้นแบ่งเงินไปลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

2.วางแผนการใช้ชีวิต

มีทางเลือกมากมายในการใช้ชีวิต ถ้าเลือกไม่ทำงานเลย ไม่เหงาก็เลือกไป แต่ถ้าอยากทำงาน อยู่ที่จะเลือกงานแบบไหน 

1. เพาะต้นไม้จำหน่าย

การทำงานที่ใช้เวลาอยู่กับต้นไม้ เป็นข้อดีอย่างหนึ่งที่ทำให้ชีวิตหลังเกษียณ เมื่ออยู่กับต้นไม้ ร่างกายก็แข็งแรง จิตใจก็สงบ เพราะได้อยู่กับธรรมชาติ

2. ทำอาหารขาย

ไม่ว่าจะอาหารคาว หรืออาหารหวาน นอกจากจะทำให้ชีวิตหลังเกษียณมีคุณค่าแล้ว ยังสนุกในการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้นอีก

3. เป็นที่ปรึกษาให้บริษัท

การเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทต่างๆ ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดี นอกจากรายได้ดีแล้ว ยังเป็นการสร้างคุณค่าในตัวเองของผู้ที่เกษียณอายุได้ดีอีกด้วย

แต่ต้องมีความสามารถเฉพาะทางที่บริษัทต้องการ หรืออาจเป็นคนที่เคยดำรงตำแหน่งนั้นอยู่แล้วและยังมีพลังในทำงาน ทันโลก ทันเหตุการณ์

4. เป็นคอลัมนิสต์ให้เว็บไซต์ เปิดเพจเล่าเรื่อง

การเป็นคอลัมนิสต์เหมาะสำหรับคนที่ชอบการเขียนหรือการอ่าน อาจจะสมัครเป็นนักเขียนคอลัมน์ หรือเขียนบทความที่คุณสนใจ เน้นที่ประสบการณ์การทำงาน

5. เลือกลงทุนในหุ้นปันผล

หากคุณไม่มีความรู้ในการสร้างอาชีพอื่นๆ แต่มีความรู้ในเรื่องของหุ้น ชีวิตหลังเกษียณอายุของคุณก็อาจจะสร้างรายได้มากมายให้กับคุณ

3. ออกกำลังกาย ป้องกันภัยโรค

มาตรฐานการออกกำลังกาย ซึ่งแนะนำโดยวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์การกีฬาอเมริกัน และสมาคมแพทย์โรคหัวใจอเมริกัน (เขียนโดย นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)

1. ควรออกกำลังกายแบบต่อเนื่องหรือแบบแอโรบิก (aerobic หรือ endurance exercise) ให้ได้ถึงระดับหนักพอควร (moderate) ซึ่งทราบจากการที่เหนื่อยจนร้องเพลงไม่ได้ แต่ยังพอพูดได้ อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย 5 วัน

หรือ ออกกำลังกายระดับหนักมาก (vigorous) เช่นวิ่งจ๊อกกิ้งจนเหนื่อยมาก พูดไม่ได้ วันละอย่างน้อย 20 นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย 3 วัน

2. ออกกำลังกายแบบต่อเนื่องในข้อ 1 ควบกับการออกกำลังกายแบบสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (muscle strengthening) อีกสัปดาห์ละ 2 วันที่ไม่ต่อเนื่องกัน

โดยแต่ละวันให้ออก 10 ท่า แต่ละท่าให้ทำซ้ำ 10-15 ครั้ง แต่ละท่าต้องมีการใช้กล้ามเนื้อกลุ่มเป้าหมายด้วยน้ำหนักต้านสูงสุด เท่าที่จะทำซ้ำได้ อย่างมากประมาณ 10 ครั้งก็ล้า

ตัวอย่างของการออกกำลังกายแบบสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น การยกน้ำหนัก การขึ้นบันได การทำกายบริหาร เช่น sit up วิดพื้น เป็นต้น

3. ออกกำลังกายแบบต่อเนื่องหรือแอโรบิก อาจทำเป็นช่วงสั้น (short bouts) ครั้งละไม่ต่ำกว่า 10 นาที หลายๆครั้ง แล้วนับรวมกันได้ แต่ทุกครั้งต้องได้ระดับหนักพอควร (ร้องเพลงไม่ได้)

4. การทำกิจกรรมระดับเบาๆประจำวัน เช่นอาบน้ำ ล้างจาน ทำงานนั่งโต๊ะ หรือกิจกรรมที่ทำจบในระยะสั้นกว่า 10 นาทีเช่น เทขยะ เดินจากที่จอดรถไปห้องทำงาน ไม่ใช่การออกกำลังกายที่จะก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ ดังที่งานวิจัยต่างๆ อ้างถึง

5. เนื่องจากการออกกำลังกายยิ่งทำมาก ยิ่งได้ประโยชน์ (dose response) ผู้ที่หวังให้ร่างกายมีความฟิต ลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง หรือป้องกันการเพิ่มน้ำหนัก ควรออกกำลังกายให้มากกว่าปริมาณพื้นฐานที่แนะนำไว้นี้ (I-A)

6. ผู้สูงอายุควรเพิ่มการออกกำลังกายด้วยกิจกรรมยืดหยุ่น (flexibility) และเสริมสร้างการทรงตัวสัปดาห์ละอย่างน้อยสองวัน วันละอย่างน้อย 10 นาที และควรวางแผนกิจกรรมประจำวันที่ผสมผสานให้มีการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวมากพอ และครบชนิดของการออกกำลังกายที่ต้องการ

หากเป็นผู้สูงอายุที่ไม่แอคทีฟอยู่ก่อน แผนควรกำหนดให้ค่อยๆ เพิ่มการออกกำลังกายเป็นแบบขั้นบันไดโดยอาจใช้เวลาหลายเดือน

........

อ้างอิง : กรมกิจการผู้สูงอายุ และธนาคารแห่งประเทศไทย