ชอบด้อยค่าตัวเอง สัญญาณเตือน "Imposter Syndrome"

ชอบด้อยค่าตัวเอง สัญญาณเตือน "Imposter Syndrome"

หากคุณเคยด้อยค่าตัวเอง หรือ รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง แม้ประสบความสำเร็จในชีวิตไม่น้อย นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือน "Imposter Syndrome" หรือ "อาการคิดว่าตัวเองไม่เก่ง" พฤติกรรมแบบไหนเข้าข่ายบ้าง และหากเป็นแล้วควรจะรับมืออย่างไร

หลายคนอาจเคยมีความรู้สึกหรือความคิดเหล่านี้กับตัวเอง เช่น ประสบความสำเร็จมาโดยตลอดหรือหลายครั้ง แต่กลับไม่รู้สึกยินดี, มองว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่คู่ควรกับสิ่งที่ได้มา หรือ คิดว่าตัวเองไม่ได้เรื่องอะไรเลย ฯลฯ

ความรู้สึกเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของอาการ "Imposter Syndrome" ซึ่งเป็นความรู้สึกที่มองตัวเองในแง่ลบ และ รู้สึกด้อยค่า จนบางครั้งอาจกระทบเข้ากับการทำงานการเรียน หรือการใช้ชีวิตได้

Imposter Syndrome คืออะไร?

Imposter Syndrome หรือชื่อภาษาไทยว่า "โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง" พบได้ตั้งแต่เด็กวัยเรียนจนถึงผู้ใหญ่วัยทำงาน และพบได้มากที่สุดในช่วงอายุ 25-45 ปี ซึ่งเป็นวัยที่กำลังสร้างตัว สร้างฐานะนั่นเอง

ความอันตรายของโรคนี้ไม่ใช่แค่เฉพาะการทำให้ความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำลง (Low self-estreem) แต่ยังนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้อีกด้วย

จุดกำเนิดของโรค Imposter Syndrome เริ่มต้นขึ้นในปี 2521 โดย 2 นักจิตวิทยา คือ ซูซาน ไอม์ส (Suzanne Imes) และ พอลีน โรส แคลนซ์ (Pauline Rose Clance) ได้ศึกษา ปรากฏการณ์ของกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จ แต่ลึก ๆ แล้วกลับรู้สึกว่าไม่คู่ควร คิดว่าที่ตัวเองสำเร็จได้เพราะโชคมากกว่าความสามารถจริง ๆ ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวทำให้ผู้คนเหล่านั้นหวาดระแวง กลัวว่าจะมีคนรู้ว่าพวกเขาไม่เก่งจริง 

การศึกษาดังกล่าวพบว่า อาการนี้มักเกิดขึ้นในเพศหญิงที่ประสบความสำเร็จสูงเป็นหลัก ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่านิยมทางสังคมที่เพศหญิงจะได้รับการยอมรับน้อยกว่าเพศชายในขณะนั้น แต่ในยุคต่อ ๆ มาก็พบว่าโรค Imposter Syndrome เป็นอาการที่เกิดได้กับคนทั่วไปเช่นกัน

อาการเข้าข่าย Impostor Syndrome

อาการที่เข้าข่ายเป็นโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง มีลักษณะหลัก ๆ ดังนี้

1. ติดอยู่กับความกังวลว่า สิ่งที่ทำจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

นอกจากจะกังวลว่าสิ่งที่ทำอยู่จะไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ทุกครั้งที่ประสบความสำเร็จ คนเหล่านี้จะกังวลว่าคนอื่นจะจับได้ว่าตัวเองไม่ได้เก่งพอจะมายืนอยู่จุดนี้ และความสำเร็จนั้นได้มาเพราะโชคช่วยหรือจังหวะเวลาเหมาะสมพอดี 

2. ไม่ค่อยยอมรับคำชื่นชม เพราะคิดว่าตัวเองไม่คู่ควร

คนส่วนใหญ่เวลาได้รับคำชมมักจะกล่าวขอบคุณด้วยความยินดี หรือถ่อมตัวเล็กน้อยพอเป็นพิธี ส่วนคนที่มีอาการ Imposter Syndrome เกินคำว่าถ่อมตัวไปไกลมาก เขาจะไม่ยอมรับคำชื่นชมจากคนอื่น ไม่ใช่เพราะถ่อมตัว แต่เป็นเพราะรู้สึกว่าตัวเองยังไม่คู่ควรกับคำชมเหล่านั้น

3. นึกถึงแต่สิ่งที่ตัวเองยังทำไม่ได้ หรือทำไม่สำเร็จ

ไม่ว่าคนที่มีอาการ Impostor Syndrome จะประสบความสำเร็จและสร้างผลงานมากมายแค่ไหน เขาก็จะโฟกัสแต่ที่สิ่งที่ยังทำไม่ได้ หรือยังไม่สำเร็จ เนื่องจากคนเหล่านี้ตั้งเป้าหมายและคาดหวังกับตัวเองไว้สูง เมื่อสิ่งที่ทำได้ยังไม่มากพอก็จะรู้สึกแย่กับตัวเอง และรู้สึกว่าตัวเองยังเก่งไม่พอ

4. คิดว่าความสำเร็จมาจากปัจจัยภายนอก ไม่ใช่ความสามารถตัวเอง

มักคิดว่าความสำเร็จที่ได้มา ไม่ได้เป็นเพราะความสามารถของตัวเอง แต่เป็นเพราะปัจจัยรอบข้าง เช่น เวลาเหมาะสมพอดี มีคนช่วยเหลือ ได้รับโอกาส หรือความโชคดี

5. ตั้งเป้าหรือคาดหวังสูง หากไม่ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ จะผิดหวังอย่างรุนแรง

เมื่อตั้งเป้าหมาย คาดหวังในตัวเองสูง จึงทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับสิ่งที่ทำมาก และหากผลลัพธ์ที่ออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ หรือไม่สามารถทำตามที่ตัวเองตั้งใจได้ ความผิดหวังจึงสูงเป็นพิเศษตามไปด้วย

รูปแบบ Impostor Syndrome

รูปแบบหลักของผู้มีอาการคิดว่าตัวเองไม่เก่ง หรือ Impostor Syndrome มีดังนี้

1. รักความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist)

คาดหวังในตัวเองสูงมาก ไม่ค่อยพอใจในผลงานของตัวเอง

2. ชอบฉายเดี่ยว (Soloist)

สบายใจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จด้วยตัวเอง มากกว่าขอให้คนอื่นช่วย

3. ต้องรู้ลึก รู้จริง (Expert)

ต้องมีข้อมูลครบถ้วนก่อนจะลงมือทำ ชอบพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

4. ยอดมนุษย์ (Superman)

ชอบทำงานหนักกว่าคนรอบข้าง ต้องการประสบความสำเร็จในทุกด้าน

5. เกิดมาอัจฉริยะ (Natural Genius)

เรียนรู้/ฝึกฝนสกิลต่าง ๆ ได้เร็ว แต่ถ้าต้องใช้ความพยายามมากถึงจะสำเร็จ จะรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งพอ

หากเข้าข่าย Imposter Syndrome ควรรับมืออย่างไร

ข้อมูลจากเว็บไซต์ พบแพทย์ (Pobpad) ระบุว่า Imposter Syndrome เป็นภาวะที่สามารถรับมือได้ โดยอาจเริ่มจากการปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดด้วยวิธีดังนี้

  • Imposter Syndrome เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะไม่มีใครที่จะประสบความสำเร็จในทุกเรื่อง ข้อผิดพลาดและความล้มเหลวเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
  • ประเมินตัวเองข้อดีข้อด้อยของตัวเอง เพื่อปรับปรุงและพัฒนาความสามารถที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น
  • ชื่นชมความสำเร็จของตัวเองบ่อย ๆ เช่น นึกถึงผลงานที่ตัวเองทำได้ดี และคำชมเชยที่ได้รับจากหัวหน้างาน 
  • พ่อแม่ควรชื่นชมของลูกโดยให้ความสำคัญกับความพยายามมากกว่าการชมว่าเก่งเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำมีคุณค่า และสอนให้ลูกรู้จักรับมือกับความผิดหวังได้ด้วยตัวเอง
  • ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ๆ เพราะทุกคนมีความสามารถและความถนัดที่แตกต่างกัน การเปรียบเทียบจะยิ่งทำให้ความมั่นใจในตัวเองลดลง 
  • ปรึกษาคนใกล้ชิด เช่น คนในครอบครัว เพื่อนสนิท และเพื่อนร่วมงาน ซึ่งจะช่วยให้รู้สึกสบายใจขึ้น และอาจได้คำแนะนำในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้

แม้ Imposter Syndrome ไม่ใช่ความผิดปกติทางจิตใจที่ต้องได้รับการรักษา แต่หากปล่อยไว้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและสุขภาพในระยะยาว การปรับเปลี่ยนความคิดแง่ลบให้เป็นพลังบวกด้วยการเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่กดดันตัวเองจนเกินไป และยอมรับความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้นจะช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข แต่หากรับมือกับภาวะที่เกิดขึ้นไม่ได้ด้วยตัวเอง การปรึกษาแพทย์อาจเป็นวิธีที่ช่วยปรับความคิดและทัศนคติต่อตัวเองให้ดีขึ้น

ตัวอย่างคนดังที่เป็นโรคนี้

คนดังระดับโลกหลายคนต่างประสบกับอาการคิดว่าตัวเองไม่เก่ง ถึงแม้จะมีผลงานประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์มากมายก็ตาม ตัวอย่างเช่น

1. ทอม แฮงค์ส
2. เลดี้ กาก้า
3. เอ็มมา วัตสัน

นอกจากนั้นยังมีดาราฮอลลีวูดที่เคยยอมรับผ่านสื่อว่าเป็น Imposter Syndrome อีกหลายคน อย่าง เมอร์รีล สตรีป, โรเบิร์ต แพตทินสัน และ เคต วินสเล็ต เป็นต้น

ชอบด้อยค่าตัวเอง สัญญาณเตือน \"Imposter Syndrome\"

----------------------

อ้างอิง: Kajabi, DNAIndia, Yahooพบแพทย์, iStrong, FWD