ผู้ป่วยมะเร็งตับ วอนภาครัฐขยายสิทธิประโยชน์ด้านยา เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ผู้ป่วยมะเร็งตับ วอนภาครัฐขยายสิทธิประโยชน์ด้านยา เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ ร่วมกับพันธมิตร จัดงานเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น เรื่อง "การรักษาโรคมะเร็งตับด้วยยานวัตกรรม" เพื่อขยายสิทธิประโยชน์ด้านยา ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยกระดับมาตรฐานการรักษาทัดเทียมสากล

เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ (ORWA) ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี, จังหวัดจันทบุรี, มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง (TCS), มูลนิธิมิตรภาพบำบัด และมูลนิธิรักษ์ตับ ร่วมกันจัดงานเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เรื่อง "การรักษาโรคมะเร็งตับด้วยยานวัตกรรม" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือ แลกเปลี่ยนข้อเท็จจริง และรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อแสวงหาแนวทางปรับปรุงสิทธิเบิกจ่ายยารักษามะเร็งตับให้เป็นปัจจุบันและเทียบเท่ามาตรฐานระดับสากล ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสการเข้าถึงการรักษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น

มะเร็งตับ ถือได้ว่าเป็นความท้าทายด้านสุขภาพอันดับ 1 ของประเทศ ด้วยอุบัติการณ์และอัตราการเสียชีวิตที่สูงและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีอีกด้วย เฉพาะปี พ.ศ. 2563 เพียงปีเดียว สถิติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่า พบผู้ป่วยโรคมะเร็งตับรายใหม่จำนวนมากถึง 27,394 ราย และโรคนี้คร่าชีวิตคนไทยไปถึง 26,704 ราย โดยผู้ป่วยมะเร็งตับส่วนใหญ่เป็นเพศชาย และมักตรวจพบในช่วงอายุระหว่าง 41-50 ปี ดังนั้น ความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากมะเร็งตับจึงก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อทรัพยากรบุคคล อันเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ 

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาซึ่งมีมูลค่าค่อนข้างสูงยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างความกังวลให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว จนทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่อาจเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้

ภายในงานเสวนายังมีผู้ป่วยมะเร็งตับชนิด Hepatocellular Carcinoma ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในไทย มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การรักษา โดย ดาบตำรวจรักชาติ เรือนคำ ผู้ป่วยมะเร็งตับ ระยะลุกลามซึ่งไม่สามารถผ่าตัดได้ เล่าว่า ตอนแรกแพทย์พิจารณาจ่ายยามุ่งเป้าภายใต้โครงการเบิกจ่ายตรง (OCPA) ให้ แต่ทว่าเมื่อติดตามผลการรักษาไปสักระยะหนึ่ง กลับพบว่า เซลล์มะเร็งลุกลามเพิ่มขึ้น ผมได้รับคำแนะนำว่าให้ใช้นวัตกรรมการรักษาด้วยยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัดร่วมกับยาต้านการสร้างหลอดเลือด แต่การที่ยากลุ่มดังกล่าวไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิข้าราชการ ทำให้ผมและครอบครัวแบกรับภาระค่าใช้จ่ายซึ่งมีราคาแพงไม่ไหว ในที่สุดจึงตัดสินใจรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดแทน และต้องเผชิญกับผลข้างเคียงค่อนข้างมาก เช่น อาการชาตามร่างกาย และอาการมึนจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในชีวิตประจำวัน ส่วนในช่วงพักการให้ยาเคมีบำบัดก็รู้สึกจุกแน่นบริเวณหน้าอก ดังนั้น ผมอยากขอร้องให้ทางกรมบัญชีกลางขยายตัวยาบางอย่างให้สามารถเบิกจ่ายได้

นายอิทธิเชษฐ์ วงศ์เพ็ชร ผู้ป่วยมะเร็งตับอีกท่านหนึ่ง ที่มีโอกาสร่วมงานเสวนาเพื่อสะท้อนถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมของการเข้าถึงยาที่จำเป็น เนื่องจากต้องยอมจ่ายค่ายานวัตกรรมซึ่งไม่อยู่ในสิทธิบัตรทองด้วยตนเอง กล่าวว่า เมื่อรักษาไปตามขั้นตอน ประมาณเข็ม 2 เข็ม 3 อาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่แทบลุกไม่ไหว ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป ผมอยากเห็นกองทุนบัตรทองช่วยเหลือประชาชนได้มากกว่านี้ ประเทศไทยยังผู้ป่วยที่ไม่แบกรับภาระค่ารักษาไม่ไหวอยู่อีกมาก

 

ผู้ป่วยมะเร็งตับ วอนภาครัฐขยายสิทธิประโยชน์ด้านยา เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ความก้าวหน้าทางการแพทย์ทุกวันนี้ทำให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยมีตัวเลือกในการรักษาด้วยยานวัตกรรมมากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต นายแพทย์ภาสกร วันชัยจิระบุญ อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา รองประธานศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี อธิบายถึงแนวทางการรักษามะเร็งตับว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ยานวัตกรรม ซึ่งประกอบด้วย ยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัดร่วมกับยาต้านการสร้างหลอดเลือด มีข้อบ่งใช้ให้เป็นการรักษาขนานแรก (first line therapy) พร้อมทั้งมีหลักฐานทางวิชาการที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการรักษาและเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับได้สูงกว่ายากลุ่มยับยั้งไทโรซีนไคเนสอย่างมีนัยยะสำคัญ คือจาก 10-13 เดือน เป็น 19 เดือน รวมถึงเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งได้มากขึ้น อีกทั้ง แนวทางการรักษาโรคมะเร็งตับในระดับสากลได้ระบุให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ ระยะลุกลามหรือไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ควรได้รับยยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัดร่วมกับยาต้านการสร้างหลอดเลือดเป็นยาขนานแรกในการรักษา

แม้ประชาชนไทยจะได้รับความคุ้มครองด้านสุขภาพจาก 3 กองทุน ได้แก่ สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ทุกวันนี้ผู้ป่วยมะเร็งตับกลับต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านการเบิกจ่าย เนื่องจากยังไม่สามารถเบิกจ่ายยานวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพในการรักษาได้

"แม้ค่าบริการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตับระยะเริ่มต้นที่สามารถผ่าตัดได้ จะอนุญาตให้มีการเบิกจ่าย แต่ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับระยะลุกลามสามารถเบิกจ่ายค่ายามะเร็งแบบมุ่งเป้ายับยั้งไทโรซีนไคเนสได้เฉพาะสิทธิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ (กรมบัญชีกลาง) ขณะที่ชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ไม่ได้ระบุการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หรือยามะเร็งแบบมุ่งเป้า หรือยาภูมิคุ้มกันบำบัดไว้อย่างชัดเจน" นายแพทย์ภาสกร วันชัยจิระบุญ กล่าวเสริม

ผู้ป่วยมะเร็งตับ วอนภาครัฐขยายสิทธิประโยชน์ด้านยา เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ พลตรีหญิงพูลศรี เปาวรัตน์ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ ยังได้อภิปรายถึงปัญหาของการเบิกจ่ายของกระทรวงการคลัง (สิทธิสวัสดิการข้าราชการ) ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ไม่สามารถเบิกจ่ายบริการตรวจคัดกรอง วินิจฉัย และ/หรือ รักษาโรคมะเร็งตับบางรายการได้ รวมถึงระเบียบของการเบิกจ่ายมีความซับซ้อนและมีหลายขั้นตอน ทำให้ผู้ป่วยบางคนต้องสำรองค่าใช้จ่าย ด้วยเหตุนี้ สมาคมฯ จึงมีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงรูปแบบการเบิกจ่ายที่ผู้ให้บริการและผู้ป่วยสามารถปฏิบัติได้ง่ายขึ้น รวมถึงควรบูรณาการบริการของทั้ง 3 กองทุนให้มีความเท่าเทียมกันโดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

สุดท้ายนี้ ทุกฝ่ายที่ส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่กำหนดนโยบาย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และภาคประชาสังคม ควรให้ความสำคัญต่อการรับมือกับโรคมะเร็งตับอย่างจริงจัง เพื่อให้การดูแลและรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทยได้มาตรฐานทัดเทียมกับระดับสากล รวมทั้งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเพื่อผลักดันการเข้าถึงยานวัตกรรม ซึ่งมีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนว่ามีประสิทธิภาพในการดูแลและรักษาผู้ป่วยให้มีอายุยืนยาวและทำให้คุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น