"วัคซีนสูตรไขว้"เข็ม 3 สูตรไหน ภูมิคุ้มกันขึ้นเท่าไร

"วัคซีนสูตรไขว้"เข็ม 3  สูตรไหน ภูมิคุ้มกันขึ้นเท่าไร

ตรวจเช็ค"ภูมิคุ้มกันวัคซีนสูตรไขว้"เข็ม 3 จากข้อมูลของทีมนักวิจัยศิริราช แต่ละสูตรของวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันต่างกัน และการใช้ครึ่งโด้สกับหนึ่งโด้ส ภูมิคุ้มกันไม่ต่างกันมาก

ก่อนจะฉีดวัคซีนเข็ม 3 ลองตรวจเช็คดูว่า วัคซีนสูตรไหน ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นแค่ไหน เพื่อใช้ป้องกันโควิดสายพันธุ์ใหม่ 

ผลการศึกษาวิจัยในโครงการการศึกษาความปลอดภัยและการตอบสนองภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 กระตุ้นเข็มที่ 3 : Booster Study โดยศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 

มีคำแนะนำการใช้วัคซีนสูตรไขว้เข็มที่สามที่องค์การอนามัยโลก นำไปเผยแพร่ โดยโครงการนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2564 ทำการศึกษาโดยแบ่งการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ แอสตร้าเซเนก้า ซิโนฟาร์ม ไฟเซอร์เต็มโดส และไฟเซอร์ครึ่งโดส

วัคซีนสูตรไขว้ แต่ละสูตรภูมิคุ้มกันขึ้นเท่าไร

รศ.พญ.ณสิกาญจน์ อังคเศกวินัย  สาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

หัวหน้าทีมวิจัยโครงการการศึกษาความปลอดภัยและการตอบสนองภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 กระตุ้นเข็มที่ 3 : Booster Study กล่าวว่า  ในอาสาสมัครที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มไปแล้ว 2 สัปดาห์ มีภูมิคุ้มกันเฉลี่ยอยู่ที่ 230 BAU/mL

เมื่อเวลาผ่านไป 12 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันลดลงเหลือ 33 BAU/mL และเมื่อฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ผ่านไป 2 สัปดาห์ ด้วยวัคซีน 4 กลุ่ม ผลการศึกษาพบว่า

-กระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์เต็มโดสภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 5,152 BAU/mL ไฟเซอร์ครึ่งโดส ภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 3,981 BAU/mL

-กระตุ้นด้วยวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 1,358 BAU/mL 

-กระตุ้นด้วยวัคซีนซิโนฟาร์ม ภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 155 BAU/mL

\"วัคซีนสูตรไขว้\"เข็ม 3  สูตรไหน ภูมิคุ้มกันขึ้นเท่าไร

 

ผู้ที่รับวัคซีนแอสตร้า 2 เข็มมาแล้ว

-กระตุ้นด้วยแอสตร้าเซเนก้าเป็นเข็มที่ 3 ระดับภูมิคุ้มกันเพียง 246 BAU/mL

-กระตุ้นด้วยซิโนฟาร์ม ได้ภูมิอยู่ที่ 129 BAU/mL

-กระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์เต็มโดส ระดับภูมิคุ้มกันอยู่ที่  2,377 BAU/mL

-ไฟเซอร์ครึ่งโดส ระดับภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 1,962 BAU/mL ซึ่งนับว่าสูงกว่ามาก 

นอกจากนี้ ยังได้ติดตามผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่สาม และตรวจระดับภูมิคุ้มกันเมื่อเวลาผ่านไปเป็นระยะเวลานานประมาณ 4-5 เดือน

พบว่าระดับภูมิคุ้มกันตกลงมากประมาณ 5-10 เท่าเมื่อเทียบกับหลังฉีดที่ 2 สัปดาห์ ซึ่งทำให้ทราบว่า เมื่อมีเชื้อกลายพันธุ์ระบาด อาจจะต้องเริ่มให้มีการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 4 ในบุคลากรด่านหน้าและกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับซิโนแวค- ซิโนแวค - แอสตร้า หลังเข็มสุดท้ายนานกว่า 3 เดือน

 ผศ.ดร.พญ.สุวิมล  นิยมในธรรม รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช  พบว่า หากกระตุ้นเข็มที่สามด้วยวัคซีนเชื้อตาย ซึ่งในการศึกษานี้ใช้วัคซีนซิโนฟาร์ม ที่ผลการศึกษาพบว่าภูมิคุ้มกันไม่เพิ่มขึ้น

หรือผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มสองด้วยไวรัสเวกเตอร์ แล้วกระตุ้นเข็มที่สามด้วยเชื้อตาย ภูมิคุ้มกันก็ไม่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน 
รวมถึง การฉีดไวรัสเวกเตอร์ทั้งสามเข็ม ระดับภูมิคุ้มกันก็เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ การศึกษาของเรายังพบว่า การฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์ซึ่งเป็นสูตรไขว้เข็มที่สามนี้ แม้ใช้เพียงครึ่งโดสก็ให้ผลดีมาก
ดังนั้นการเลือกเข็มกระตุ้นวัคซีนโควิด -19 แนะนำให้ผู้ที่ฉีดซิโนแวคหรือซิโนฟาร์มในสองเข็มแรก สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยไวรัสเวกเตอร์หรือ mRNA (ไฟเซอร์หรือโมเดน่า) ก็ได้

แต่สำหรับผู้ที่รับแอสตร้าเซเนก้ามาแล้ว 2 เข็ม คำแนะนำสำหรับเข็มที่ 3 ต้องเป็น mRNA เท่านั้น เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้เพิ่มสูงเพียงพอที่จะป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้