ดูแล"ปอด"ดีๆ อย่าให้ป่วยเป็นโรค"ปอดอุดกั้นเรื้อรัง"

ดูแล"ปอด"ดีๆ อย่าให้ป่วยเป็นโรค"ปอดอุดกั้นเรื้อรัง"

ถ้าไม่อยากเป็นโรค"ปอดอุดกั้นเรื้อรัง" ก็ต้องดูแลปอดดีๆ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และบริเวณที่มีคนสูบบุหรี่ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ด้วย เพราะปัจจุบันคนไทยยังขาดความตระหนักถึงภัยร้ายจากโรคนี้

ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือโรคซีโอพีดี (COPD: Chronic Obstructive Pulmonary Disease) เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตในลำดับต้นๆ ของคนไทย 

ในปี 2561 มีผู้ป่วยด้วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมากกว่า 3 ล้านคน และมีแนวโน้มการเสียชีวิตสูงขึ้นตามลำดับเช่นเดียวกับทั่วโลก

ขณะที่ปัจจุบันคนไทยจำนวนมากยังขาดความตระหนักถึงภัยร้ายจากโรคดังกล่าว ดังนั้น การส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจต่อโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง จึงมีความสำคัญอย่างมาก

ในวันโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโลกในปีนี้(15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ) มีคำขวัญว่า “Healthy Lungs – Never More Important” หรือ “ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการมีปอดที่แข็งแรง”

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับโครงการ Healthy Lung Thailand โดย บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย จำกัด มุ่งสร้างการตระหนักรู้และสนับสนุนการเข้าถึงการวินิจฉัยโรคและการรักษาโรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด ผ่านความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และการแพทย์ เพื่อเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาพปอดที่แข็งแรง

ทั้งสองหน่วยงานจึงร่วมมือกันจัดทำคลิปวิดีโอ (ลิงค์สำหรับ VDO) นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโรคดังกล่าวเพื่อเชิญชวนให้ประชาชนคนไทย ตระหนักถึงภัยของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และเล็งเห็นถึงความสำคัญในการป้องกันดูแลตนเองรวมไปถึงการรักษาโรคนี้

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มักพบในผู้ป่วยที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มากกว่า 90% มีสาเหตุจากการสูบบุหรี่หรือการสูดดมควันบุหรี่เป็นเวลานาน

ดูแล\"ปอด\"ดีๆ อย่าให้ป่วยเป็นโรค\"ปอดอุดกั้นเรื้อรัง\"

 

ขณะที่มลพิษทางอากาศ หรือการสูดหายใจละอองสารเคมีบางชนิดเป็นปริมาณมากและติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ก็สามารถก่อให้เกิดโรคนี้ได้

โดยผู้ป่วยโรคนี้ต้องทรมานจากอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น อาการไอเรื้อรัง เหนื่อย และหายใจลำบาก อันสืบเนื่องมาจากความเสื่อมของถุงลมและปอด

การสังเกตอาการของผู้ที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ในระยะแรกผู้ป่วยมักมีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะมาก เหนื่อย อ่อนเพลียง่าย

บางรายอาจมีอาการแน่นหน้าอกร่วมด้วย หากมีอาการมากขึ้น ผู้ป่วยจะเหนื่อยหอบ จนไม่สามารถทำกิจกรรมตามปกติได้

เมื่อผู้ป่วยมีอาการในระยะสุดท้ายนั้น มีโอกาสที่จะมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ระบบการหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถป้องกัน และดูแลไม่ให้อาการของโรคลุกลามได้

แม้วิวัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบันจะพัฒนามากขึ้น จนทำให้มีวิธีการดูแลและรักษาผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังให้มีอาการที่ดีขึ้นได้

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดยังคงเป็นการดูแลตนเอง เช่น การกินอาหารที่มีประโยชน์, การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ, การงดสูบบุหรี่, การหมั่นตรวจสมรรถภาพปอดอย่างน้อยปีละครั้ง

และการพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี และการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

ผู้ที่มีสุขภาพดีสามารถป้องกันโรคนี้ได้ หากไม่สูบบุหรี่ อยู่ห่างจากผู้ที่สูบบุหรี่หรือแหล่งละอองสารเคมี และออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อหัวใจและสร้างภูมิคุ้มกันอย่างเป็นนิสัย เช่น แอโรบิค หรือวิ่ง เป็นต้น