เรื่องหูๆ ใครคิดว่าไม่สำคัญ "หูไม่ได้ยิน เสี่ยงสมองเสื่อม"

เรื่องหูๆ ใครคิดว่าไม่สำคัญ "หูไม่ได้ยิน เสี่ยงสมองเสื่อม"

องค์การอนามัยโลก ออกมาเตือน ปัญหา"หูไม่ได้ยิน" มีความเสี่ยงสมองเสื่อมในวัยผู้ใหญ่ ส่วนเด็กก่อนวัยเรียนทุกคน อาจก่อให้เกิดพัฒนาการช้า หมอจุฬาฯ จึงแนะให้ตรวจคัดกรองก่อนจะสายเกินแก้

ปัจจุบันประชากร 1 ใน 5 ของโลกมีปัญหาการได้ยินและมีแนวโน้มที่จะเป็นสูงขึ้นถึง 1 ใน 4 และจากเหตุผลดังกล่าว ทำให้ในช่วงเดือนที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกแถลงการเป็นทางการครั้งแรกของโลกถึงแนวทางในการตรวจคัดกรองปัญหาการได้ยิน เพื่อเป็นแนวทางการทำงานสำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้

หูไม่ได้ยิน เสี่ยงสมองเสื่อมอย่างไร

อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร แพทย์เฉพาะทาง หน่วยโสตประสาทวิทยา ฝ่ายโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และนักวิจัยอาวุโส ระดับ senior fellow หนึ่งในทีมวิจัย University College London บอกว่า ปัจจุบันจำนวนผู้มีปัญหาการได้ยิน โดยเฉพาะในผู้มีอายุเกินกว่า 60 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในขณะนี้ สามารถพบผู้มีปัญหาการได้ยินกว่า 65% 

“ปัญหาการได้ยิน นำมาซึ่งภาวะไม่พึงประสงค์หลายประการ เช่น ภาวะแยกตัวจากสังคม ภาวะซึมเศร้า ปัญหาการทรงตัวพลัดตกหกล้ม สับสน มีอารมณ์ฉุนเฉียว ทะเลาะกับครอบครัว กลายเป็นไม่พูดคุยกัน

ซึ่งภาวะเหล่านี้นอกจากทำให้คุณภาพชีวิตลดลง ยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมตามมา”

ปัญหาการได้ยินนับเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสุดของการเกิดภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั่วไปนึกไม่ถึง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีปัญหาการได้ยินจะมีความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับคนวัยเดียวกันที่ไม่มีปัญหาทางการได้ยิน”

เรื่องหูๆ ใครคิดว่าไม่สำคัญ "หูไม่ได้ยิน เสี่ยงสมองเสื่อม" (ตรวจระดับการได้ยินหูชั้นในในตู้เก็บเสียง)

ภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากปัญหาการได้ยินนี้เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ คุณหมอนัตวรรณ บอกว่า ทีมวิจัยพบว่าความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมนี้จะหายไปถ้าผู้สูงอายุได้รับการดูแลและรักษาด้านการได้ยินจนหายดี 

"ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยินเกิดความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมนั้น เกิดจาก เมื่อมีเสียง คำพูด การสนทนาเข้าไปกระตุ้นสมองน้อยลง สมองก็จะเสื่อมถอยและประมวลผลได้น้อยลง ช้าลงเรื่อย ๆ

จากงานวิจัยและภาพสแกนสมอง พบว่าเนื้อสมองฝ่อลงได้ โดยเฉพาะเนื้อสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแปลผลภาษา ซึ่งเมื่อถึงภาวะนี้แล้วนั้น การกระตุ้นให้สมองกลับมาทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพดังเดิมอาจต้องใช้เวลามาก”

เรื่องหูๆ ใครคิดว่าไม่สำคัญ "หูไม่ได้ยิน เสี่ยงสมองเสื่อม"

การดูแลสุขภาพหูเด็กก่อนวัยเรียน

นอกจากในวัยผู้สูงอายุแล้ว องค์การอนามัยโลกก็ให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กก่อนวัยเรียนไม่แพ้กัน ชี้ชัดเป็นครั้งแรกว่า เด็กก่อนเข้าโรงเรียนควรตรวจคัดกรองระดับการได้ยินทุกคน

ทั้งนี้เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มีการเรียนรู้และพัฒนาการทางด้านภาษาและสติปัญญาอย่างเต็มความสามารถ

นอกจากนี้ยังแนะว่าโรงเรียนและแพทย์ควรให้ความรู้กับเด็ก ๆ และครอบครัวในการดูแลสุขภาพหู

อ.ดร.พญ.นัตวรรณ เสริมว่า กว่า 60% ของปัญหาการได้ยิน โดยเฉพาะในเด็กเกิดจากสาเหตุที่ป้องกันได้ เช่น การรักษาภาวะติดเชื้อในหู การรับเสียงดังเกินควร การได้รับยาบางชนิดที่เป็นพิษต่อหู ปัญหาการติดเชื้อ หูน้ำหนวก ปัญหาขี้หูอุดตัน ปัญหาสิ่งแปลกปลอมในช่องหู และความผิดปกติผิดรูปอื่น ๆ ของช่องหู เป็นต้น

"ซึ่งปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะการติดเชื้อเรื้อรังในช่องหูนั้นเป็นปัจจัยที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องตรวจหาปัญหาและตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันปัญหาด้านการได้ยินที่อาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อ เพราะปัญหาเหล่านี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที”

ตรวจคัดกรองการได้ยิน

ปัญหาการได้ยินทั้งในผู้สูงวัยและเด็กก่อนวัยเรียน คุณหมอนัตวรรณ บอกว่า องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และเด็กก่อนวัยเรียนควรได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยินทุกคน เพื่อทำการวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและดูแลรักษาที่ถูกต้อง

“ถ้าไม่มีการตรวจคัดกรองการได้ยิน หลายคนอาจไม่ทันได้สังเกตตนเอง เนื่องจากความเสื่อมมักจะค่อย ๆ เกิดขึ้นทีละน้อย

จากสถิติพบว่าในผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่มีปัญหาการได้ยิน กว่าที่จะตัดสินใจเข้ารับการรักษานั้น หลาย ๆ ท่านทนทุกข์ทรมานกับปัญหาการได้ยินมากว่าสิบปี ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ตามมา"

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook ทางศูนย์การได้ยิน การสื่อสารและการทรงตัว โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย หรือ https://www.facebook.com/ChulaHearingBalance