"ภูมิแพ้" กับ "โควิด" มีอาการแตกต่างกันอย่างไร

"ภูมิแพ้" กับ "โควิด" มีอาการแตกต่างกันอย่างไร

ฤดูกาลที่เปลี่ยนไป ทำให้อากาศเปลี่ยนแปลง คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ก็มีอาการมากขึ้น ในขณะที่การแพร่ระบาดของโควิดก็ยังอยู่ อะไรคือความแตกต่างระหว่างโรคภูมิแพ้กับโควิด จะแยกแยะได้อย่างไร คุณหมอมีคำตอบ

อากาศหนาว ทำให้ร่างกายมีการปรับตัวเยียวยาตัวเองด้วยการทำให้มีน้ำมูกไหลมากขึ้นเพื่อสร้างความชุ่มชื่นให้กับโพรงจมูกที่แห้ง ทำให้หลายคนไม่รู้ว่าตัวเองกำลังแพ้อากาศหรือว่าติดโควิดกันแน่ 

ในเรื่องนี้ รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช มีวิธีแยกแยะโรคภูมิแพ้ เป็นหวัด หรือโควิด มีคำตอบ

  • อาการของโควิด

มีตั้งแต่ ไม่มีอาการ หรือ มีอาการเหมือนไข้หวัด เช่น มีไข้ ไอ หายใจเหนื่อยหอบ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ท้องเสีย คัดจมูก จมูกได้กลิ่นน้อยหรือไม่ได้กลิ่น น้ำมูกไหลบางครั้ง อ่อนเพลีย หนาวสั่น ปวดศีรษะ

ไปจนถึงมีอาการมาก เช่น ไอมาก เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ เนื่องจากมีปอดอักเสบโดย เฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุ หรือมีโรคประจำตัวร่วมด้วย ต่างจากผู้ป่วยเด็ก ที่ติดเชื้อโควิดซึ่งมีอาการน้อยมาก หรือไม่มีอาการเลย

 

  • อาการของโรคแพ้อากาศ หรือ โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้

คัดจมูก น้ำมูกไหล คันตา จาม อาจมีบางครั้งที่จมูกได้กลิ่นน้อยลง โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือ โรคแพ้อากาศ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

สารก่อภูมิแพ้ในประเทศไทยที่พบบ่อยที่สุดเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการ คือ ไรฝุ่น ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มักจะแพ้สารก่อภูมิแพ้หลายชนิด โรคนี้มีผลต่อคุณภาพชีวิตคนไทย ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง

  • ร่างกายทำงานอย่างไร

เยื่อบุจมูกจะมีจำนวนตัวที่จับหรือรับเชื้อโควิด (angiotensin-converting enzyme (ACE) 2 receptor) มากที่สุดในระบบทางเดินหายใจ เมื่อโรคโควิดเกิดการติดเชื้อที่เยื่อบุจมูก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการทางจมูกได้

ส่วนผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ มีการติดเชื้อไวรัสที่ทางเดินหายใจส่วนบน รวมทั้งผู้ป่วยโควิด จึงมีอาการคล้ายกันได้

ในระยะแรก ผู้ป่วยโควิดจะสูญเสียการรับกลิ่น และ/หรือ การรับรสอย่างเฉียบพลันมากขึ้น เป็นอาการนำ ก่อนที่จะมีอาการอื่นๆ ตามมาถึงร้อยละ 20-60 และมักพบในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี

ส่วนผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่มีการสูญเสียการรับกลิ่น และ/หรือ การรับรส อาจเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าติดเชื้อโควิดได้ การที่เยื่อบุจมูกของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มีอาการอักเสบเรื้อรังตลอดเวลา ทำให้มีโอกาสติดเชื้อไวรัสได้ง่ายกว่าคนปกติ แต่ไม่ได้เพิ่มความรุนแรงของโควิด

  • ความแตกต่างระหว่าง ภูมิแพ้ กับ โควิด

ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ถ้าไม่มีการติดเชื้อร่วมด้วย จะไม่มีไข้, เจ็บคอ, ไอ, อ่อนเพลีย, เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว มักมีอาการทางจมูกเด่นกว่าผู้ป่วยโควิดที่มีอาการทางเดินหายใจส่วนล่างเด่น

ผู้ป่วยโรคจมูกอาจมีโรคหืดร่วมด้วย ต้องพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยง เช่น เดินทางมาจากประเทศหรือพื้นที่เสี่ยงในช่วง 14 วันก่อนมีอาการ หรือมีคนใกล้ชิด คนในครอบครัวเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง หรือไม่ 

ในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เช่น ล้างจมูก, ใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก, รับประทานยาต้านฮิสทามีน หรือยาแก้แพ้ หรือใช้ยาต้านฮิสทามีนชนิดพ่นร่วมกับยาสเตียรอยด์พ่นจมูก อาการทางจมูก แล้ว ความผิดปกติในการรับกลิ่นควรจะดีขึ้น

แต่ถ้าได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะมีความผิดปกติในการรับกลิ่น และ/หรือ การรับรส ที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด ควรให้แพทย์วินิจฉัยแยกโรค

  • การดูแลผู้ป่วยภูมิแพ้ ในช่วงโควิด

การหาสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้ โดยทดสอบทางผิวหนัง ควรเลื่อนไปก่อน แต่ถ้าจำเป็น อาจใช้วิธีเจาะเลือดหาสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้แทน

การรักษาผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เป็นไปเพื่อควบคุมไม่ให้มีอาการทางจมูก (คัดจมูก, คัน, จาม, น้ำมูกไหล) ไม่มีอาการทางตา (คัน, เคืองตา, แสบตา, น้ำตาไหล) ไม่รบกวนการนอนหลับ ไม่รบกวนกิจวัตรชีวิตประจำวัน

จากการศึกษาพบว่า ร้อยละ 20-30 ของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษามักมีอาการคัดจมูกเป็นอาการเด่น ถ้าหากผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ติดเชื้อโควิดร่วมด้วย แล้วมีอาการจาม จะแพร่กระจายเชื้อโควิดได้มากขึ้น

  • การล้างจมูกช่วยรักษาโควิดได้ไหม

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ ที่แสดงให้เห็นว่า การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะป้องกันการติดเชื้อไวรัสหรือโควิดได้ ถ้าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ต้องการล้างจมูกเพื่อบรรเทาอาการทางจมูกหรือไซนัส ก็สามารถล้างได้ แต่ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ในการล้างจมูก เช่น ขวดบีบน้ำเกลือ, กระบอกฉีดยา หรือลูกยางแดงให้ดี เพื่อลดการติดเชื้อ

สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ การล้างจมูกให้ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่เป็นโควิด อาจทำให้แพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นได้ ถ้าผู้ป่วยอยู่คนเดียวในที่อยู่อาศัย หรือกักตัวอยู่ การล้างจมูกไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาอะไร ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ว่า การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะทำให้ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่เป็น โควิด หายจากการติดเชื้อเร็วขึ้นหรือไม่

  • ยาพ่นจมูกช่วยรักษาภูมิแพ้ได้

ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หากเคยใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกอยู่แล้ว สามารถใช้ต่อได้ ไม่จำเป็นต้องหยุดใช้ หรือผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่ยังไม่เคยใช้ ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกก็สามารถใช้ได้

แม้ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่ติดเชื้อโควิด ก็สามารถใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกได้ ไม่ได้ทำให้การติดเชื้อ หรือภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยแย่ลง และไม่แนะนำให้หยุดใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก

  • การใช้วัคซีนรักษาภูมิแพ้

ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่ได้รับการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้อยู่แล้วในช่วงที่ปรับขนาดวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ควรนัดมารับวัคซีนห่างออกไปเป็นทุก 2-4 สัปดาห์ได้ ถ้าอยู่ในช่วงที่ให้ขนาดวัคซีนคงที่ (คือได้ขนาดสูงสุดที่ผู้ป่วยรับได้แล้ว) อาจนัดมารับวัคซีนห่างออกไปเป็นทุก 6-8 สัปดาห์ได้

วัคซีนชนิดอมใต้ลิ้น มีข้อได้เปรียบตรงที่ผู้ป่วยไม่ต้องมาโรงพยาบาลบ่อย สามารถรับการรักษาที่บ้านได้ ถ้าอาการของผู้ป่วยคงที่ และไม่ได้มีอาการมากขึ้น อาจหยุดการรักษาไปก่อนก็ได้

ถ้าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่รักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ติดเชื้อโควิด ควรหยุดการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ไว้ก่อน จนกว่าผู้ป่วยจะหายดี หรือมีภูมิคุ้มกันต่อโควิดแล้ว ค่อยมาพิจารณาเริ่มการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ใหม่

  • ภูมิแพ้กับโควิด คล้ายแต่ไม่เหมือน

อาการของโรคอาจคล้ายกันได้ในระยะแรก โควิดจะมีการสูญเสียการรับกลิ่น การรับรสอย่างเฉียบพลัน เป็นอาการนำ ก่อนที่จะมีอาการอื่นๆ ตามมา ส่วนผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงของโควิด ไม่ได้ทำให้ติดเชื้อโควิดได้ง่ายขึ้นหรือมีความรุนแรงของโรคมากขึ้น