”เชื้อดื้อยา”จากฟาร์มสัตว์สู่คน : กินหรือไม่กินเนื้อสัตว์ ก็เสี่ยง

”เชื้อดื้อยา”จากฟาร์มสัตว์สู่คน : กินหรือไม่กินเนื้อสัตว์ ก็เสี่ยง

ไม่ว่าจะกินหรือไม่กินเนื้อสัตว์ ทุกคนก็มีความเสี่ยงกรณี"เชื้อดื้อยา" สามารถแพร่จากสัตว์สู่คน เนื่องจากการใช้"ยาปฏิชีวนะ"ในฟาร์มสัตว์ เชื่อมโยงถึงมนุษย์ในหลายมิติ

การงดกินเนื้อสัตว์เป็นกระแสทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมังสวิรัติ กินเจ รวมไปถึง การกินมังวิรัติแบบยืดหยุ่น(Flexitarian)และกินแบบวีแกน( Vegan)

โดยเฉพาะวีแกน จากที่เคยเป็นอาหารทางเลือกของคนกลุ่มเล็ก ๆ วันนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการคาดประมาณตัวเลขผู้บริโภคอาหารวีแกนทั่วโลกราว 75 ล้านคน แม้จะยังมีจำนวนน้อยกว่าคนกินเจ และมังสวิรัติ แต่เป็นกลุ่มที่เติบโตมากที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

 ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจก่อนว่า แต่ละกลุ่มมีแนวปฏิบัติที่แตกต่างกันอย่างไร

 มังสวิรัติ – งดกินเนื้อสัตว์ทุกชนิด

 เจ – งดเนื้อสัตว์ พืชผักฉุน 5 ชนิด (กระเทียม, พืชตระกูลหอม, กุยช่าย, หลักเกียว และยาสูบ) ผลิตภัณฑ์นม รวมทั้งไม่ใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์

 Flexitarian –เป็นการกินมังวิรัติแบบยืดหยุ่น เป็นกลุ่มที่พยายามลดการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง และบางครั้งครอบคลุมไปถึงนมจากสัตว์และไข่ด้วย

 วีแกน – งดเนื้อสัตว์ และไม่บริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทุกชนิด

”เชื้อดื้อยา”จากฟาร์มสัตว์สู่คน : กินหรือไม่กินเนื้อสัตว์ ก็เสี่ยง

(ภาพ : World Animal Protection-Julia Bakker)

ส่วนใหญ่รับรู้เรื่องการลดและงดการบริโภคเนื้อสัตว์ว่ามาจากเหตุผลด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมหรือความเชื่อทางศาสนา

เชื้อดื้อยาหรือซูเปอร์บั๊ก

ซูเปอร์บั๊ก หรือ”เชื้อดื้อยา” ในฟาร์มสัตว์ เกิดจากการเลี้ยงดูอย่างแออัด ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้สัตว์เครียด อ่อนแอ และเจ็บป่วยได้ง่าย เมื่อกลัวว่าสัตว์จะไม่สบาย คนเลี้ยงก็จะให้กินยาปฏิชีวนะ เพื่อกันไว้ก่อน

คนเลี้ยงจำนวนมากยังเข้าใจว่ายาปฏิชีวนะเป็นวิตามินบำรุง กินแล้วจะทำให้หมูไก่โตไว ได้น้ำหนัก จึงให้แบบรวมหมู่ ด้วยการผสมยาในน้ำหรืออาหารกินกันทั้งฟาร์ม

เมื่อสัตว์เหล่านี้กินยาปฏิชีวนะในปริมาณต่ำ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เชื้อแบคทีเรียในตัวสัตว์ก็จะพัฒนาตัวเองให้คงทนต่อยา

พอถึงเวลาที่เจ็บป่วยขึ้นมาจริง ยาที่เคยใช้รักษาไม่ได้ คนเลี้ยงก็ต้องเปลี่ยนยา หายาแรงขึ้น ให้กินยาเยอะขึ้น เชื้อโรคก็จะยิ่งพัฒนาตัวหนียา จนกลายเป็นซูเปอร์บั๊ก ที่ยาไหน ๆ ก็เอาไม่อยู่ 

ประเด็นสำคัญคือ ยาปฏิชีวนะที่สัตว์กินหลายชนิดเป็นยาเดียวกับที่เราใช้กัน ดังนั้น ถ้าเรารับเชื้อมา ยาชนิดนั้นก็จะใช้รักษาไม่ได้ ทำให้อาการป่วยเล็กน้อยกลายเป็นป่วยหนัก และอาจลุกลามจนถึงขั้นเสียชีวิต


แต่อีกแนวคิดมาแรง คือเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ โดยเฉพาะปศุสัตว์แบบอุตสาหกรรม ซึ่งมีความแออัด สิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ

ตลอดจนวิธีการปฏิบัติที่สร้างความเจ็บปวดต่อสัตว์ เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อทุกคน ไม่ว่าจะบริโภคเนื้อสัตว์หรือไม่ก็ตาม

“เชื้อดื้อยา” จากฟาร์มสัตว์สู่คน

ถ้าเชื้อดื้อยาเหล่านี้แพร่จากฟาร์มสัตว์สู่คนได้อย่างไร...

มีคำตอบ ดังนี้

1. คนเลี้ยงรับเชื้อโดยตรงจากสัตว์ในฟาร์ม แล้วนำไปแพร่กระจายต่อให้คนอื่น

2. เชื้อดื้อยา เล็ดลอดจากฟาร์มพร้อมกับน้ำเสีย ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ และในดิน รวมถึงอยู่ในรูปของมูลสัตว์ที่ถูกนำไปใช้ต่อในภาคเกษตรกรรม

3. ผู้บริโภค เมื่อไปซื้อเนื้อสัตว์ไปก็จะมีการสัมผัสขณะปรุงอาหาร และการกิน

ในแต่ละปี คนไทยติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 88,000 ครั้ง ในจำนวนนี้กว่า 38,000 คนเสียชีวิต สร้างความสูญเสียไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท หรือราวร้อยละ 0.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 

”เชื้อดื้อยา”จากฟาร์มสัตว์สู่คน : กินหรือไม่กินเนื้อสัตว์ ก็เสี่ยง

 

ภาพ - KOOKLE-Shutterstock

ความเสี่ยงในการรับเชื้อดื้อยา

ในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่ว่ากลุ่มบริโภคหรืองดบริโภคเนื้อสัตว์ ก็มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อดื้อยาไม่แตกต่างกัน การดูแลความปลอดภัยสำหรับทุกคน จึงเป็นภารกิจสำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ปี 2558 เวทีสมัชชาอนามัยโลกมีมติขอให้ประเทศสมาชิกจัดทำแผนระดับประเทศ ไทยซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกจึงจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ คือลดการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ ร้อยละ 30 ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของกรมปศุสัตว์

และถูกตั้งข้อสังเกตว่าขาดมิติด้านสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งจะช่วยสกัดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างได้ผล ส่วนการดูแลเพื่อให้มีการผลิตและจำหน่ายเนื้อสัตว์ปลอดภัย ก็เป็นการ “ให้รางวัล” คนทำดี แทนที่จะกำหนดเป็นมาตรการบังคับ

นับเป็นเรื่องน่ายินดี ที่ในปีนี้ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนแม่บทต้านเชื้อดื้อยา กรมปศุสัตว์ได้ออกมาระบุถึงความก้าวหน้าในแง่มุมด้านสวัสดิภาพสัตว์ว่า จะมีการยกร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักการด้านสวัสดิภาพสัตว์ : ระบบการผลิตสุกร โดยจะนำต้นแบบจากมาตรฐานสากลมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับประเทศไทย

และจะใช้เป็นแนวทางประกอบการตรวจประเมินมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร หรือ GAP เพื่อให้เป็นมาตรฐานบังคับ

จากเดิมที่เป็นเพียงภาคสมัครใจ กระนั้นยังจำกัดว่าเป็นการบังคับสำหรับเฉพาะฟาร์มที่มีประชากรหมูเกินกว่า 500 ตัวขึ้นไป หรือมีแม่พันธุ์สุกรตั้งแต่ 95 ตัวขึ้นไปเท่านั้น

โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าและจริงจังในการแก้ไขปัญหาวิกฤติเชื้อดื้อยามาก แต่นั่นยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคปศุสัตว์

“เราเสนอให้รัฐออกกฎหมายห้ามใช้ยาปฏิชีวนะในการป้องกันโรคในสัตว์แบบรวมกลุ่ม ซึ่งหลายประเทศเริ่มประกาศใช้แล้ว ตลอดจนยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ให้สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ฟาร์มได้อย่างยั่งยืน”

ถือเป็นวาระสำคัญที่ทุกคนต้องร่วมกันเรียกร้องให้เกิดสวัสดิภาพสัตว์ ไม่ใช่แค่เพื่อประโยชน์ต่อสัตว์ แต่ยังรวมถึงความปลอดภัยของทุกคน โดยการติดตามและผลักดันมาตรฐานการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ให้สอดคล้องตามมาตรฐาน FARMS (Farm Animals Responsible Minimum Standard) ที่ทั่วโลกยอมรับ

รวมทั้งเรียกร้องการกำหนดนโยบายห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคในสัตว์ฟาร์มให้ชัดเจนไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาแผนฉบับถัดไป จะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุมและยั่งยืนสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะชาววีแกน มังสวิรัติ กลุ่มกินเจ หรือคนรักเมนูเนื้อสัตว์

ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th