วิถีแ่ห่ง'เซน' ฝึกจิตโดยปราศเงื่อนไข

วิถีแ่ห่ง'เซน' ฝึกจิตโดยปราศเงื่อนไข

อีกคำสอนง่ายๆ แฝงไว้ด้วยความลุ่มลึกของภิกษุณีชุนโด อาโอยาม่า ตามวิถีแบบเซน

นึกถึงบรรยากาศแบบเซนๆ ก็เลยอยากเล่าถึงเรื่องนี้สักนิด ในบรรดาครูบาอาจารย์ทางเซน ภิกษุณีชุนโด อาโอยาม่า เป็นอีกท่านที่เคยเดินทางมาไทย เมื่อหลายปีที่แล้วผู้เขียนได้ฟังท่านปาฐกถาเซน งามจากด้านใน ณ สวนโมกข์ กรุงเทพฯ      

อาจารย์อาโอยาม่า เป็นผู้นำจิตวิญญาณ คนสำคัญของญี่ปุ่นที่อุทิศตนเผยแพร่คำสอนนิกายเซน ทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลก การเดินทางมาเมืองไทยครั้งนั้น เพื่อร่วมประชุมนานาชาติศากยธิดาเพื่อพุทธสาวิกา ครั้งที่ 12 ณ เสถียรธรรมสถาน

เมื่อได้ฟังอาจารย์เซนพูดในครั้งนั้น ทำให้ผู้เขียนกลับไปอ่านหนังสือ งามอย่างเซน เกือบจบ และไม่ได้คิดว่าอยากจะงามอย่างเซนอะไรมากมาย แต่ทำให้เห็นวิถีเซนที่ต้องมีการฝึกจิตให้อ่อนโยนต่อเพื่อนมนุษย์ โดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ 

ท่านเคยเล่าย้อนถึงช่วงหนึ่งของชีวิตว่า แม้จะเริ่มเห็นความลึกซึ้งของธรรมะมากขึ้น แต่สิ่งที่เรียนและปฏิบัติเรียนรู้ยังไม่เพียงพอ ต้องเรียนรู้อยู่เรื่อยๆ

“เหมือนเรายืนอยู่ในป่า แล้วมองออกไปรอบๆ ตัว เราก็คิดว่านั่นคือทั้งหมด แต่ไม่ใช่ ภาษิตญี่ปุ่นบอกว่าเหมือนกบในบ่อน้ำ เมื่ออยู่ตรงนั้น แล้วมองออกไป ก็นึกว่าโลกกว้างใหญ่แล้ว แต่พอเราออกมา ก็จะรู้สึกว่า เรายังอยู่ในโลกแคบๆ”

เซน ในความหมายของท่าน จึงมีความหมายกว้างมาก อาจารย์อาโอยาม่า เล่าไว้ว่า ท่านอาจารย์โดเก็น ผู้ก่อตั้งนิกายโซโต อาจารย์เซนที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในญี่ปุ่น เคยสร้างวัดโคโชจิ วัดทางการแห่งแรกของนิกายโซโต อาจารย์สอนลูกศิษย์มากมายทั้งพระและผู้มาปฏิบัติ และเป็นผู้เข้าใจซาเซนอย่างลึกซึ้ง อาจารย์บอกว่า สิ่งที่ปฏิบัติ ไม่จำเป็นต้องเรียกว่า “เซน” ก็ได้ เพราะเซนคือความจริงหรือธรรมะของโลก

“ฉันไม่อยากแบ่งแยกสิ่งเหล่านี้ จริงๆ แล้วไม่มีธรรม ไม่มีเซน มันคือ ความจริงของสรรพสิ่งในโลกนี้ เราไม่ควรยึดติดกับศาสนาหรือนิกาย แต่ให้มองความจริง ต่างจากกฎที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ว่ากฎหมายหรือกฎระเบียบ ย่อมเปลี่ยนแปลงได้ตลอด แต่กฎของธรรมชาติคือความจริง ไม่ว่าเราจะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าธรรมะหรือเซนก็ตาม เซนเป็นรากฐานของชีวิต”

อาจารย์อาโอยาม่า ยกตัวอย่างวิถีแห่งเซนที่อยู่ในวิถีชีวิตให้ฟังว่า มีเพื่อนคาทอลิคคนหนึ่ง สมัยนั้นเธอเป็นซิสเตอร์ฝึกหัดในอเมริกา ได้รับมอบให้จัดเตรียมอาหาร ขณะที่จัดเตรียมก็คิดในใจว่า เป็นงานที่น่าเบื่อ และทำงานด้วยความรู้สึกเบื่อ

160171145452

หากเราทำงานเช่นเดียวกับหุ่นยนต์ ก็เท่ากับเราใช้เวลาอย่างสูญเปล่าหรือไร้ค่า ถ้าเราจัดเรียงจานโดยอธิษฐานว่า ขอให้คนที่มาทานอาหารมีความสุข เท่ากับว่าเราใช้เวลานั้นไปเพื่อความรัก ไม่ว่าผู้เรียงจานจะรู้สึกเช่นไร จานก็ถูกเรียงให้เป็นระเบียบ แต่วิธีการใช้เวลาของแต่ละคนจะแตกต่างกันตามความใส่ใจในการเรียงจาน เหมือนเช่นที่ฉันอยากบอกว่า ใช้เวลาเช่นไร ก็ใช้ชีวิตเช่นนั้น      

 “ต้องใช้ทุกวินาทีให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะทุกช่วงเวลา ทุกย่างก้าวของชีวิต ไม่มีสิ่งใดมาทดแทนได้ หรือกลับไปแก้ไขได้อีกต่อไป”

    ..............

   หมายเหตุ :ข้อมูลบางหนึ่งจากหนังสืองามอย่างเซน เขียนโดยภิกษุณีชุนโด อาโอยาม่า แปลโดยช่อฟ้า เจตนาวีระบุตร