แกนโลกขยับนิดเดียว 'ซาฮาร่า' เปลี่ยนไป

แกนโลกขยับนิดเดียว 'ซาฮาร่า' เปลี่ยนไป

ธรรมชาติตบมือข้างเดียวยังไม่ดังเท่าไหร่ พอมีมนุษย์มาช่วยตบอีกข้าง ระบบนิเวศทุ่งก็ถูกผลักตกขอบเหวไปเป็นทะเลทราย

 

เมื่อ 6,000 ปีก่อน ซาฮาร่าเป็นทุ่งหญ้าซาวันนาเขียวๆ มีจระเข้และฮิปโปเกลือกกลิ้งในธารหลายสาย แต่วันนี้มันกลับกลายเป็นทะเลทรายที่กว้างใหญ่ที่สุดในโลก

มันเกิดอะไรขึ้น?

กำเนิดทะเลทรายซาฮาร่าเคยเป็นเรื่องถกเถียงมานาน ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมนุษย์ทำ เมื่อ 50 ปีก่อนเราเชื่อว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติล้วนๆ แต่หลักฐานเชื่อมโยงกับมนุษย์ก็ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ จนตอนนี้เรารู้แล้วว่า เป็นทั้งสองฝ่ายผนึกกำลังกัน

ปัจจัยตัวแรกของการเปลี่ยนแปลงคือแกนโลก มันขยับ ซึ่งมันก็ขยับนิดๆ หน่อยๆ เป็นครั้งคราวของมันมาเรื่อยๆ ในชีวประวัติดาวเคราะห์ดวงนี้ จริงๆ มันขยับเพียงนิดเดียว จากแกนเอียงขยับตรงขึ้นมาติ๊ดนึงไม่ถึงครึ่งองศา แต่ไอ้เศษเสียวองศานั้นก็กระทุ้งเมฆฝน ทำให้รูปแบบมันเปลี่ยนไป

ฝนที่ตกน้อยลงกระทบทุ่งหญ้าซาวันนา ถ้าปล่อยตามธรรมชาติ มันจะเปลี่ยนไปเป็นระบบนิเวศทุ่งที่แล้งขึ้น เป็นหย่อมพงไม้แห้งๆ กระจัดกระจาย

สองพันปีก่อนหน้านี้ มนุษย์แถบอาฟริกาเหนือเปลี่ยนจากพุ่งหอกล่าสัตว์ไปเป็นเกษตรกร เพาะปลูกธัญพืชจากตะวันออกกลางและเลี้ยงปศุสัตว์ ผสมสัตว์กีบป่าพันธุ์หนึ่งจนได้สายพันธุ์ใหม่กลายเป็นอูฐสัตว์พาหนะเชื่องๆ ใช้ขนของ

ทั้งอูฐและพืชผลเกษตรต้องการน้ำ และอูฐต้องกินหญ้า ยิ่งผลผลิตดี ประชากรมนุษย์ก็มั่นคงขึ้น เพิ่มจำนวนมากขึ้น ก็บริโภคมากขึ้น คนและฝูงสัตว์ของเขาต้องออกหากินกว้างไกลขึ้นเรื่อยๆ เล็มหญ้ามากขึ้นไปเรื่อยๆ พืชคลุมผืนดินน้อยลง คายน้ำสู่ท้องฟ้าน้อยลง ความชื้นในอากาศลดลง และในที่สุดฝนก็ตกน้อยลง

ธรรมชาติตบมือข้างเดียวยังไม่ดังเท่าไหร่ พอมีมนุษย์มาช่วยตบอีกข้าง ระบบนิเวศทุ่งก็ถูกผลักตกขอบเหวไปเป็นทะเลทราย

อลัน ไวส์แมน ผู้เขียนหนังสือ The World Without Us (เมื่อโลกไร้มนุษย์) ตั้งข้อสังเกตว่า มนุษย์ในยุคนั้นไม่อาจล่วงรู้ได้ว่า แกนโลกมันขยับ ทำให้ฝนฟ้าเขยื้อนเปลี่ยนไป เมื่อเกิดภาวะแล้งขึ้น คนก็คงคิดว่า แค่ช่วงไม่กี่ปีที่อากาศเพี้ยน เดี๋ยวมันก็กลับไปเหมือนเดิม พวกเขาไม่รู้ว่าโครงสร้างฤดูกาลมันเปลี่ยนไปแล้ว พวกเขาจึงไม่ได้ปรับตัว

แต่ก็ไม่แน่ อาจมีแม่มดผู้หยั่งรู้ด้วยญาณทัศนะลุกขึ้นเตือนคนว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว เราต้องลดการบริโภคลง พวกเขารำคาญจึงจับนางย่างกิน โดยไม่เหลือหลักฐานทางโบราณคดีใดๆ

ประเด็นก็คือ ในวันนี้ 6,000 ปีต่อมา เรามีเครื่องมือและข้อมูลเพียงพอที่ให้ทั้งภาพใหญ่และรายละเอียดว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นกับถิ่นอาศัยของเรา เรารู้ว่าโลกร้อนขึ้น รู้ว่าภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลง พายุแรงขึ้น ไฟป่ารุนแรงขึ้น น้ำทะเลสูงขึ้น มรสุมผิดเพี้ยน อเมริกาหนาวกว่าขั้วโลก ออสเตรเลียร้อนกว่านรกขุมสาม มันวิกฤตถึงขั้นที่ไม่สามารถกลับลำยูเทิร์นได้ในเวลาสั้นๆ เราไม่มีวันได้ภูมิอากาศแบบเดิมที่เราคุ้นเคยและเข้าใจกลับคืนมาในชั่วชีวิตคน แต่พูดกันเท่าไหร่ ยังไง เราก็ไม่ยอมปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเรา

โดยเฉพาะในเมืองไทย เราแทบไม่ขยับเลย

อย่างไรก็ตาม ปรากฎการณ์ฝุ่นพิษครอบกรุงที่่คนเมืองเคยประสบ ทำให้ตอนนั้นคนตื่นตัวกับอากาศพิษในเมืองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งๆ ที่ปัญหาอากาศนิ่งทับมลพิษ ก็เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะ เคยมีเหตุการณ์ที่รุนแรงและยาวนานมากเป็นพิเศษ คนที่ปกติไม่มีอาการแพ้มลพิษก็เริ่มมีอาการ

แต่ส่วนหนึ่ง เพราะเรามีเครื่องมือที่ช่วยให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลที่ไม่เคยมองเห็นมาก่อน

เทคโนโลยีการตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบใหม่ ราคาถูกทำให้ประชาชนทั่วไป สามารถติดตั้งเครื่องวัดอากาศเองได้และแชร์ข้อมูลร่วมกันในแอพหรือเว็บไซต์เป็นข้อมูลสาธารณะ

ตัวที่นิยมที่สุดในขณะนี้คือ Air Visual ในเมืองไทยเริ่มติดกันเยอะในภาคเหนือก่อนประมาณเมื่อ 4  ปีที่แล้ว ในกรุงเทพก็มีติดกันบ้าง เช่น ในซอยบ้านฉัน ชุมชนเราก็ลงขันซื้อเครื่องหนึ่งมาติดตั้ง 

ความรู้ผสมประสบการณ์ตรงก่อให้เกิดความตระหนักและความใฝ่รู้มากยิ่งขึ้นต่อไปอีก หวังจริงๆ ว่าเมื่ออากาศเริ่มระบาย วิกฤตคลี่คลายขึ้นชั่วคราว สังคมจะไม่ลืมมัน

เราต้องเปลี่ยนวิถีและวัฒนธรรมเมือง ถ้าจะแก้ปัญหาก็ไม่มีทางเลี่ยงที่จะหย่าจากรถยนต์ส่วนตัว

ทางเลือกขนส่งมวลชนที่ทำได้เร็วที่สุดคือ รถไฟฟ้า คุณภาพดี มีเลนของมันเอง มาบ่อยตรงเวลาโครงข่ายทั่วถึง เชื่อมโยงกับระบบรางและระบบเรือดีๆ ไม่ปล่อยควันเหม็นแบบปัจจุบัน ฟุตบาทต้องดี กว้างขวาง พื้นเรียบ ร่มรื่นเดินสบาย จักรยานต้องขี่กันได้ทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะเซียนปั่น

ทั้งหมดต้องเอาที่คืนมาจากเลนรถยนต์ส่วนตัว บทเรียนให้ศึกษามีมากมายจากทั่วโลก อาทิ ประกาศโซนกลางเมืองเก็บค่ารถติดและมลพิษจากรถยนต์ส่วนตัวในราคาที่เจ็บจริง สิบปีหลังจากที่ลอนดอนประกาศโซนดังกล่าว อุบัติเหตุรถยนต์ลดลง 40 เปอร์เซ็นต์ อุบัติเหตุจักรยานลดลง 80 เปอร์เซ็นต์

เราต้องมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนเมืองให้เกื้อกูลชีวิตคน ไม่ใช่สนองรถยนต์ แม้รัฐบาลกี่ยุคกี่สมัยจะไม่ยอมทำ เพราะผู้มีอำนาจในสังคม เราไม่เคยติดดิน ไม่เคยยอมใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้คนทั่วไป แต่เราก็สร้างกระแสกดดันได้ แน่นอนว่าในช่วงเปลี่ยนผ่าน มันย่อมมีความไม่สะดวกบ้างเป็นธรรมดา แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องยอมด้วยเหตุผลตามความจำเป็น

ขอเพียงแต่เราจะไม่ลืมเมื่อวิกฤตเฉพาะหน้าผ่านพ้นไปและเราเริ่มหายใจได้ เพราะมันจะหวนกลับมาอีก ไม่นานเกินรอ และรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

จะยอมถูกผลักตกเหว เฉกเช่นทะเลทรายซาฮาร่า หรือจะลุกขึ้นปรับตัวเพื่อกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง