‘ดื่มไม่ขับ’ ต้องหาตัวช่วยพากลับบ้าน จะได้ไม่ทำร้ายใคร

‘ดื่มไม่ขับ’ ต้องหาตัวช่วยพากลับบ้าน จะได้ไม่ทำร้ายใคร

ดื่มแล้วเมา ขับรถกลับบ้าน ความเสี่ยงเกิดขึ้นแน่ ถ้าอย่างนั้นต้องแก้ปัญหาอย่างไร

     “แม้สถานการณ์อุบัติเหตุบ้านเราจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่คดีเมาแล้วขับ จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายและเสียชีวิต หลายคดียังมีช่องว่างทางกฎหมาย"  นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.)กล่าว ในเวทีเสวนาเรื่อง “ดื่มแล้วขับ” 

ตามสถิติ เคยมีการดำเนินคดีขับรถในขณะเมาสุราปี 2562 ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2562 เฉพาะเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์มี 33,339 คดี เทียบกับปี2561 มี57,048คดี ลดลง 23,709 คดี 

ขณะที่ปี 2563 สถานการณ์ผู้ขับขี่ดื่ม แล้วขับที่บาดเจ็บและเสียชีวิตในช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน พบว่า มีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบกับปี2562 โดยมีสาเหตุจากมาตรการล็อกดาวน์ช่วงระบาดโควิด-19 แต่หลังจากมีมาตรการผ่อนปรนหลังวันที่ 3 พฤษภาคม ตัวเลขอุบัติเหตุเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น 

อย่างไรก็ตาม สำหรับมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากอุบัติเหตุทางถนน โดยในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2562 มีมูลค่าความเสียหาย 77,510 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี2563 ที่มีมูลค่าความเสียหาย 59,592 ล้านบาท ลดลง17,917 ล้านบาท 

ทั้งหมดนี้สะท้อนความสำเร็จการดำเนินงานเชิงรุกของทุกภาคส่วน ประกอบกับการที่ สสส.ได้พัฒนาภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนให้มีความเข้มแข็ง เช่น เครือข่ายสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) เครือข่ายลดอุบัติเหตุ มูลนิธิเมาไม่ขับ ชมรมคนห่วงหัว เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นต้น

 “ผมมองว่า ผู้ก่อเหตุไม่ได้รับโทษอย่างที่ควรจะเป็น จึงขอสนับสนุนให้กำหนดมาตรฐานวิชาชีพในคดีจราจร โดยเฉพาะการใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์ ที่มีความน่าเชื่อถือกว่าพยานบุคคลมาหักล้างคำกล่าวอ้าง และควรจัดให้มีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลในกระบวนการยุติธรรม ระหว่างตำรวจ อัยการ และศาล สร้างความเชื่อมั่นทางคดีตั้งแต่กระบวนการต้นทาง และควรกำหนดเป้าการสุ่มตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ให้มากขึ้น” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว

ส่วน ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สมัยก่อนการดื่มแล้วขับ เป็นเรื่องปกติของคนในสังคม หลังมีกฎหมายออกมาบังคับร่วมกับการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ทำให้สังคมเกิดการรับรู้และตื่นตัวมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากวัฒนธรรมใหม่ในวงเหล้าที่ต้องมีคนไม่ดื่มหนึ่งคน คอยอาสาขับรถพาเพื่อนกลับบ้าน รวมถึงบริการหาคนขับรถแทน ส่งผลให้ปัจจุบันสถิติการบาดเจ็บและชีวิตของผู้ที่ดื่มแล้วขับลดลง 

ขณะเดียวกันคดีเมาแล้วขับหลายคดี ยังมีช่องโหว่ทางกฎหายที่ทำให้ผู้ก่อเหตุหลุดรอด เป็นโจทย์ที่กระบวนการยุติธรรมต้องนำกลับไปแก้ไขหรือทำคดีตัวอย่างเพื่อสร้างบรรทัดฐานให้สังคม ป้องกันพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ อาทิ หลีกเลี่ยงการตรวจวัดแอลกอฮอล์ รวมถึงการชนแล้วหนี เพื่อถ่วงเวลาให้ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดลดลง

159781368532  “เพื่อให้การทำงานที่ผ่านมาไม่สูญเปล่า เราต้องออกมาต่อสู้ผลักดันให้ออกกฎหมายเพิ่มโทษ “ชนแล้วหนี” ดื่มขับต้องโดนจับ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สร้างความเข้าใจในเรื่องของการเยียวยาเหยื่อที่ไม่ใช้แค่เงิน พร้อมสร้างความตระหนักรู้ ในกติกาสังคมควบคู่กับการสร้างบรรทัดฐานให้เกิดขึ้น ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมหารือ และแนวทางใหม่ให้เกิดการแก้ไขอย่างเร่งด่วน” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว

 รัชฐิรัชฎ์ ซุ่นสั้น ภรรยาดาบตำรวจอนันต์ ซุ่นซั้น ผบ.หมู่งานสืบสวน สภ.คลองเต็ง อ.เมืองตรัง เหยื่อจากอุบัติเหตุรถกระบะพุ่งเข้าชนกลุ่มหน่วยกู้ภัยและตำรวจ เสียชีวิตรวม 5 ราย กล่าวว่า หลังสามีเสียชีวิต ตนต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว แผนอนาคตที่เคยสร้างไว้กับสามี ต้องพังทลายลง ตนอยากเห็นคดีเมาแล้วขับลดลงให้มากที่สุด จึงผันตัวเข้าร่วมทำงานกับภาคีเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต รณรงค์กระตุ้นเตือนสังคมให้เห็นภัยของการดื่มแล้วขับ 

“ที่น่าห่วงคือครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัยอีก 4 ครอบครัว ขณะนี้ยังคงยากลำบากอยู่มาก แทบไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆเลยจากผู้ก่อเหตุและส่วนที่เกี่ยวข้องเลย ซึ่งพวกเราเองก็พยายามหาทางช่วยเหลือกันไปบ้างในเบื้องต้น”

 ด้าน พระสุราษฏร์ เตชวโร ผู้เคยก่อเหตุเมาแล้วขับชนนักศึกษามหาวิทยาลัยชื่อดังเสียชีวิต 2 รายกล่าวว่า ในวันเกิดเหตุเมาเหล้าและขับรถชนคนเสียชีวิต ซึ่งในช่วงแรกๆหลังเกิดเหตุยังคิดที่จะสู้คดี มีคนแนะนำมากมายว่า สู้ได้ แต่ในเวลาต่อมา ได้ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ จนตัดสินใจที่จะยอมรับผลทุกอย่าง ยอมเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายโดยตั้งใจเยียวยาให้รายละ 1 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การชดเชยดังกล่าวเทียบไม่ได้กับการทำให้คนต้องจบชีวิตลงก่อนวัยอันควร และด้วยความรู้สึกทุกข์ใจบวกกับความรู้สึกผิด จึงตั้งใจบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับเยาวชนทั้งสอง

 “อาตมายังคงรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น จึงอยากฝากไปถึงนักดื่มทุกคนว่า น้ำเมา มีแต่โทษจริงๆ ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน หากกระทำผิดต่อผู้อื่นยังเป็นกรรมติดตัวไปตลอดชีวิต และทิ้งบาดแผลในใจให้กับคนรอบข้างอีกมากมาย” พระสุราษฏร์ กล่าว