ว่าที่ 'รมต.สาธารณสุข' กับโจทย์ 'กัญชา-สุรา'ที่ต้องตอบ

ว่าที่ 'รมต.สาธารณสุข' กับโจทย์ 'กัญชา-สุรา'ที่ต้องตอบ

ใครจะมานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) กับโจทย์ใหญ่ที่ต้องตัดสินใจทั้ง “กัญชา” และ “สุราก้าวหน้า”  รวมถึง การเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ป่วย ส่วนมุมของ “ระบบสาธารณสุข”อื่นๆนั้น เรียกว่าเข้ามาต่อยอด จากที่ค่อนข้างมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว   

การจัดตั้งรัฐบาลที่มี “ก้าวไกล” พรรคอันดับ  1 เป็นแกนนำนั้น ถึงนาทีนี้ยังอาจจะเร็วเกินไปที่ ระบุได้แบบแน่ชัดว่า “ใคร”จะมานั่ง “รัฐมนตรีสาธารณสุข” ท่ามกลางการ “ตกลงแบ่งโควต้า”กระทรวงที่ยังไม่ชัดเจนให้กับแต่ละพรรค  และ “กระทรวงสาธารณสุข” ที่ต้องผ่านการรับมืออย่างหนักหน่วงช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจาการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโรคโควิด-19 จะอยู่ในสายตาพรรคใหญ่อย่างเบอร์ 1 และเบอร์ 2 หรือจะเกลี่ยไปให้พรรคเล็กๆที่ร่วมรัฐบาล แต่ที่แน่นอนคงจะมีทั้งรมว.และรมช.

โอกาส ใครเป็นรมว.สาธารณสุข

หากมองถึงบุคคลที่มีความเป็นไปได้ที่จะมานั่งตำแหน่ง “รมต.สาธารณสุข” ที่เป็นไปได้ว่า “ก้าวไกล”นั้นไม่ได้มองที่คุมกระทรวงนี้เป็นหลัก จึงอาจจะสละตำแหน่งรมว.สาธารณสุขให้เป็นของพรรคร่วมอื่นๆ แต่ส่งคนของพรรคมานั่งในตำแหน่ง “รมช.”เท่านั้น 

แน่นอน ชื่อที่โดดเก่นของพรรคก้าวไกลที่จะมาดำรงตำแหน่งกระทรวงหมอ คือ “นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง” ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 17 ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงแนวทางการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลเก่า 

สำหรับตำแหน่ง “รมว.สาธารณสุข” หากโควต้าเป็นของพรรคเพื่อไทย (พท.) เดิมที่มีการมองพุ่งไปที่ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคที่เคยเป็นอดีตรมช.สาธารณสุขมาก่อน  แต่จากโผฝั่งสภาฯล่าสุด ดูเหมือนชื่อ “หมอชลน่าน” จะถูกส่งออกไปในตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ทว่า ตำแหน่งนี้ ก็มีชื่อ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา”จากพรรคร่วมรัฐบาลเข้าชิงด้วย

ว่าที่ \'รมต.สาธารณสุข\' กับโจทย์ \'กัญชา-สุรา\'ที่ต้องตอบ

ฉะนั้น ถ้ายกตำแหน่งประธานสภาฯให้ผู้อาวุโสอย่าง “ท่านวันนอร์” แม้ว่าเสียงจากชาวทวิตเตี้ยน จะต้องการให้พรรคก้าวไกลคุมตำแหน่งนี้ไว้เอง  ที่สุดแล้ว “นพ.ชลน่าน” จะนั่งตำแหน่งรองประธานสภาฯ หรือจะกลับมาที่สธ.อีกครั้ง ในตำแหน่งที่ใหญ่กว่าเดิม คือ “รมว.”

ขณะเดียวกัน บุคคลาจากพรรคเพื่อไทย ก็มีการผุดชื่อของ “นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช” ที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ว่าจะเข้ามารับตำแหน่งรมว.สาธารณสุข

อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้ง 2566  “นพ.พรหมมินทร์” เป็นประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของพรรค อาจเป็นการสะท้อนหรือไม่ว่า “นพ.พรหมมินทร์ จะสนใจงานในด้านเศรษฐกิจมากกว่า”

ทั้งนี้ หากสธ.ไม่ได้รับความสนใจจากพรรคใหญ่เบอร์1และ2  โควต้านี้ก็จะตกเป็นของพรรคเล็กที่ร่วมรัฐบาลอื่นๆ หากมองน้ำหนักแล้ว  “พรรคไทยสร้างไทย” ที่มี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรมว.สาธารณสุขเป็นหัวหน้าพรรค น่าจะสนใจอยู่ไม่น้อย ดูจากนโยบายที่ใช้ในการหาเสียง ประเด็นเรื่อง “ 30 บาท พลัส” ก็เป็นหนึ่งนโยบายหลัก

เพียงแต่ว่า “คุณหญิง”จะกลับมารับตำแหน่งเอง หรือจะส่งใครมานั่ง  เมื่อมีการมองว่า “คุณหญิง” น่าจะสนใจตำแหน่ง “รองนายกฯมากกว่าหรือไม่  หรือที่สุดแล้วพรรคไทยสร้างไทยจะได้เพียงโควต้า “รมช.”เท่านั้น 

และก็อาจเป็นไปได้เช่นกันที่จะมี “ม้ามืด”ที่ไม่ใช่ตัวเต็งมานั่งในตำแหน่ง “รมว.สาธารณสุข”

ต้องตัดสินใจกัญชา-สุราก้าวหน้า

ในส่วนงานด้านสาธารณสุข ที่รอต้อนรับรัฐมนตรีใหม่อยู่นั้น เรื่องที่ต้องอาศัยการตัดสินใจโดยเร็ว คงหนีไม่พ้นเรื่องที่คาราคาซังมาจากรัฐบาลชุดเก่า คือ “กัญชา” ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลใหม่นี้ ล้วนมีแนวทางที่ไม่เห็นด้วยกับการ “ปลดล็อกกัญชา” ทั้งสิ้น  เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว รมว.สธ. จะมีแนวนโยบายเรื่องนี้ไปยังปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ให้นำเรื่องเข้าคณะกรรมการฯก่อนส่งเข้าสู่บอร์ดป.ป.ส. เพื่อนำ “กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด” หรือไม่   

ขณะเดียวกัน ก้าวไกล แกนนำจัดตั้งรัฐบาลมีนโยบายเรื่อง “สุราก้าวหน้า” แม้ว่า “สุรา” จะไม่ใช่ยาเสพติดมานานแล้ว แต่ก็ยังเป็น “สารเสพติด” ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

ฉะนั้น ในฐานะรมว.สาธารณสุข หากจะ “ปฏิเสธกัญชา” แต่ “รับสุรา” ควรจะต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจน  เพราะที่สุดแล้วทั้งกัญชา และสุรา กลุ่มแพทย์ก็ระบุว่าเป็นสิ่งอันตรายต่อสุขภาพ เพียงแต่สุรานั้น สังคมถูกลบภาพจากการเสพติดไปมาก ส่วนกัญชา เพิ่งมีการปลดล็อกและภาพการเป็นยาเสพติดยังชัดเจน 

ว่าที่ \'รมต.สาธารณสุข\' กับโจทย์ \'กัญชา-สุรา\'ที่ต้องตอบ

ต่อยอดนวัตกรรรมจากโควิด-19

กรณีสถานการณ์โควิด-19นั้น รัฐบาลใหม่ ไม่ต้องเข้ามารับมือกับภาวะวิกฤตหนักหน่วงของการระบาดที่เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน

เพียงแต่อาจมีเรื่องสืบเนื่องจากโควิด-19 ที่จะต้องพิจารณา  เรื่องของการ “ต่อยอดนวัตกรรม” ต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงของโควิด เช่น การพิจารณาเรื่องของ  Home Ward หรือเตียงผู้ป่วยที่พักรักษาตัวที่บ้าน ในบางโรคหรือความเจ็บป่วย  หรือ เทเมดิซีนในการให้บริการประชาชน  ที่ปัจจุบันมีการดำเนินการอยู่แล้ว จะมีแนวทางในการขยายรูปแบบหรือบริการอย่างไรต่อไป

ส่วนเรื่องอื่นเกี่ยวกับบริการประชาชน ก็คงเป็นพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลให้กับผู้ป่วย ในสิทธิหลักประกันสุขภาพภาครัฐ โดยเฉพาะ บัตรทอง 30 บาท 

รวมถึง นโยบาบต่างๆที่แต่ละพรรคหาเสียงไว้  บางเรื่องก็มีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่อาจจะเป็นเฉพาะบางพื้นที่ แล้วจะมีการขยายให้ครอบคลุมทั้งระบบอย่างไร เช่น ธนาคารอุปกรณ์  หรือการจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียง ที่เป็นระบบอย่างไร  เป็นต้น 

 

แต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง

มุมของการบริหาร ในปีนี้ จะมีผู้บริหารระดับสูงของสธ. ในระดับ 10 เกษียณอายุราชการ รวม  6 คน ได้แก่ อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบดีกรมอนามัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และรองปลัดฯ

จึงเป็นโอกาสหนึ่งที่ “รมต.ใหม่” จะเข้ามาจัดทัพผู้บริหาร เพียงแต่รัฐบาลใหม่ จะจัดตั้แล้วเสร็จ ก่อนฤดูกาลเกษียณในช่วงสิ้นเดือนกันยายนหรือไม่  มิเช่นนั้น ก็จะมีช่วงสูญญากาศที่ขดผู้บริหารไปหลายกรม  หากจะให้รมต.เดิมแต่ตั้งก็อาจจะผิดทำเนียบหรือไม่