รพ.รามาฯ เปิดให้บริการในห้าง นำร่อง 2 แห่ง 2 โซน

รพ.รามาฯ เปิดให้บริการในห้าง นำร่อง 2 แห่ง 2 โซน

เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพได้สะดวกมากขึ้น คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาฯ ม.มหิดล จัดตั้ง “Rama Health Space”ในห้างสรรพสินค้า นำบริการออกไปนอกพื้นที่ใกล้ประชาชน เปิดนำร่อง2 แห่ง ล่าสุดเตรียมเปิดแบบครบวงจรที่ศูนย์การค้า พาราไดซ์ พาร์ค ในไตรมาส 4 ปี 2566

         รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ รักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายดูแลสุขภาพและผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล มุ่งเน้นการให้บริการทางการแพทย์ ทำการขยายรูปแบบการรักษาพยาบาลไปยังภายนอกพื้นที่ของโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวกมากขึ้น โดยไม่ต้องเดินทางเข้ามายังพื้นที่กรุงเทพชั้นใน  ด้วยการร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าในการร่วมจัดตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพ ภายใต้ชื้อ “Rama Health Space” ที่เป็นเหมือนหน่วยบริการหนึ่งของโรงพยาบาล
         วัตถุประสงค์สำคัญในการจัดตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพครบวงจรนอกพื้นที่โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือ “Rama Health Space” เพื่อเป็นการเสริมสร้างสุขภาพให้แก่ประชาชนในทุกช่วงอายุ เพื่อให้ประชาชนเช้าถึงบริการง่ายและสะดวก  และเป็นต้นแบบของสถานบริการสุขภาพภาครัฐ สำหรับประชาชนในเขตเมือง ส่วนบริการในแต่ละแห่งอาจจะครอบคลุมแตกต่างกัน เป็นไปตามความเหมาะสมของขนาดพื้นภายในห้างสรรพสินค้านั้นๆ 

รพ.รามาฯ เปิดให้บริการในห้าง นำร่อง 2 แห่ง 2 โซน

     ก่อนหน้านี้มีการเปิดให้บริการศูนย์สุขภาพ ที่ห้างสรรพสินค้าโลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์ โดยให้บริการเจาะเลือด บริการเก็บสิ่งส่งตรวจ ส่งต่อไปยังห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลรามาธิบดี และเอกซเรย์ และจะมีบริการอื่น ๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต ล่าสุด เตรียมจะเปิดให้บริการ Rama Health Space @ Paradise Park เป็นศูนย์ดูแลสุขภาพครบวงจรนอกพื้นที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยนอกแบบบูรณาการใน 3 ด้าน

         ทั้งด้านการสร้างเสริม ป้องกัน ได้แก่ คลินิกฝากครรภ์คุณภาพ ศูนย์ตรวจสุขภาพทั่วไป ศูนย์สุขภาพเพศชายและหญิง ศูนย์วัคซีน คลินิกพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น  ด้านการดูแลรักษา ได้แก่ คลินิกสุขภาพเด็กและวัยรุ่น คลินิกดูแลโรคทางระบบกล้ามเนื้อที่เกิดจากการทำงาน คลินิกโรคเรื้อรังกลุ่ม NCDs คลินิกควบคุมน้ำหนักและดูแลโภชนาการ คลินิกความจำ คลินิกโรคสุภาพสตรีและด้านการบำบัดฟื้นฟู ได้แก่ ศูนย์กายภาพบำบัด ศูนย์กิจกรรมบำบัดและโภชนาการผู้สูงอายุ

     ผู้ที่มาใช้บริการ “Rama Health Space” จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.ผู้ป่วยของรพ.รามาฯ  ที่มีนัดพบแพทย์ มีใบสั่งแพทย์ในการเจาะเลือด อัลตราซาวด์ เอ็กซเรย์ คลื่นหัวใจ หรือเอคโค่หัวใจ ก็สามารถเข้ารับบริการได้ที่นี่ได้ตามสิทธิ์ เพียงแต่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนที่เบิกจากกองทุนหลักประกันสุขภาพภาครัฐไม่ได้ เช่น  ค่าอำนวยความสะดวกบริการของพื้นที่ เป็นต้น และ2.ผู้ป่วยทั่วไป ที่เข้ารับบริการด้วยเจตจำนงของตัวเอง  ซึ่งจะมีบริการให้ครอบคลุมทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น วัยทำงานและผู้สูงอายุ

รพ.รามาฯ เปิดให้บริการในห้าง นำร่อง 2 แห่ง 2 โซน

        การให้บริการที่ศูนย์สุขภาพ จะต้องเป็นความเจ็บป่วยที่ไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน และจะมีแพทย์ให้บริการที่คลินิกเฉพาะทางเป็นวันตามที่กำหนด โดยการพบแพทย์ที่เป็นการให้คำปรึกษาหรือการอธิบายในข้อมูลหรืออาการขั้นต้น จะเป็นในรูปแบบของเทเลเมดิซีน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีส่วนนี้มากขึ้น จะเป็นการให้และรับบริการที่ WIN WIN ทั้ง 2 ฝ่าย  เพราะหากนำทรัพยากรไปต้นทุนจะสูงมาก ขณะเดียวกันแพทย์ก็ยังมีเวลาทำงานอยู่ในรพ.ดูแลผู้ป่วยที่มีอาการมากหรือซับซ้อนได้ เพียงแต่จัดเวลาบางชั่วโมงมาให้บริการผ่านเทเลเมดิซีน
      “แต่ละปีรพ.รามาฯมีผู้ป่วยนอกเข้ามารับบริการราว 2.2 ล้านครั้ง ซึ่งคนไข้กระจายตัวทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล การเปิด Rama Health Space อาจช่วยลดความแออัดของรพ.ได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่วัตถุประสงค์หลัก เพราะการเปิดศูนย์สุขภาพนอกพื้นที่รพ.ที่แท้จริง ต้องการเพิ่มความเข้าถึง เป็นทางเลือกในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ”รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าว 

      สำหรับแผนขยาย Rama Health Space รพ.รามาฯจะดำเนินการให้ครอบคลุมจุดจัดตั้งทั้ง 4 มุมเมืองรอบกรุงเทพฯหรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า  โดยหลักคิดแล้วรพ.ก็มีความต้องการขยายไปทั้ง 4,6,8 มุมมอง แต่จะต้องดูการตอบรับของประชาชนและมีการประเมินเป็นระยะๆ เนื่องจากการจัดตั้งศูนย์สุขภาพนอกพื้นที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องระบบ เครื่องมือแพทย์ และกำลังคน  นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ในแต่จุดจัดตั้งมาพัฒนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปรับใช้ในการจัดตั้งศูนย์สุขภาพนอกพื้นที่ในจุดอื่นๆต่อไป อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รพ.รามาฯดำเนินการนี้ มุ่งหวังให้เป็นต้นแบบสำหรับสถานพยาบาลภาครัฐแห่งอื่นๆที่จะดำเนินการด้วย 

รพ.รามาฯ เปิดให้บริการในห้าง นำร่อง 2 แห่ง 2 โซน

     ขณะที่ ไกรวิน ศรีไกรวิน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ศูนย์การค้า พาราไดซ์ พาร์ค ปรับคอนเซปต์เป็น Shopping Center with Health & Wellness รูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมาทำมาก่อน ด้วยการเปิด ศูนย์ดูแลสุขภาพครบวงจรนอกพื้นที่โรงพยาบาลรามาธิบดี "Rama Health Space @Paradise Park" โดยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพแบบครบองค์รวม ซึ่งใช้งบลงทุนรวม 1,000 ล้านบาท ปรับพื้นที่ชั้น 3 ขนาดพื้นที่ 8.40 หมื่น ตร.ม. พร้อมเปิดให้บริการในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ซึ่งการทำศูนย์ดูแลสุขภาพครบวงจนแห่งนี้เป็นความร่วมมือพันธมิตรรายใหญ่กับ โรงพยาบาลรามาธิบดี เชื่อมโยงการบริการด้านสุขภาพ Health & Wellness แบบองค์รวม ทั้งการสร้างเสริม ป้องกัน ดูแล รักษา บำบัด ฟื้นฟู ที่ใหญ่ที่สุดในย่านศรีนครินทร์

         สมพล ตรีภพนารถ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวคิดการเปิดศูนย์กลางด้านสุขภาพแบบครบองค์รวม มาจากการที่บริษัทได้ศึกษาตลาดและความต้องการของลูกค้า จึงพบว่าผลกระทบของโควิด ทำให้ลูกค้าสนใจดูแลสุขภาพมากขึ้น และการดูแลเรื่องอาหารที่มีประโยชน์ รวมถึงให้ความสนใจเรื่องสุขภาพและความงาม ทำให้บริษัทวางกลยุทธ์ศูนย์การค้าใหม่ ที่กลายเป็นพื้นที่สำหรับทุกคน และกลุ่มครอบครัว สามารถมาร่วมทำกิจกรรมได้พร้อมกัน

         “การร่วมมือโรงพยาบาลรามาธิบดี จัดตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพครบวงจรนอกพื้นที่โรงพยาบาล ทำให้กลุ่มลูกค้าทั้งในย่านศรีนครินทร์และพื้นที่ใกล้เคียง ได้เข้าถึงการดูแลสุขภาพและการบริการแพทย์แบบครบวงจร จึงไม่ต้องเดินทางเข้าเมือง ตลอดจนมีการขยายพื้นที่ร้านค้าและบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพและความงามครบวงจร อาทิ ร้านอาหารและร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ศูนย์รวมจำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์ และคลินิกเฉพาะทาง”สมพลกล่าว