‘Smart Aging’ สูงวัยออกกำลังกายได้ทุกที่ ฟิตสมวัยในยุค 5G

‘Smart Aging’ สูงวัยออกกำลังกายได้ทุกที่  ฟิตสมวัยในยุค 5G

ปีนี้ (2566)ถือเป็นปีที่สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ด้วยจำนวนประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี จำนวนมากเกือบ 20% ของประชากรทั้งหมด และที่น่าสนใจ คือผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 100 ปีขึ้นไป มีจำนวนเพิ่มขึ้นหลายพันคน

Keypoint:

  • โลกเปลี่ยนแปลง และเทคโนโลยีเป็นเสมือนปัจจัยที่ 5 ของทุกคนผู้สูงวัยกับเทคโนโลยีต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน กระตุ้นให้ผู้สูงอายุเกิน 50 ปี เดินและส่งเสริมการเดิน ผ่านโครงการ DMS Senior Virtual Run  2033  
  • การออกกำลังกาย เป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างมากและทุกคนต้องให้ความสำคัญ กลุ่มผู้สูงอายุ สามารถออกกำลังกายง่ายๆ เช่น การเดิน การแกว่งแขน ได้
  • สูงวัยต้องประเมินร่างกายให้เหมาะสมกับสุขภาพ ประเมินจากสภาพแวดล้อมที่บ้าน และให้คำแนะนำการป้องกันการหกล้ม

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลตัวเลขอายุคนไทยที่กรมกิจการผู้สูงอายุได้บันทึกสถิติไว้ พบว่าเมื่อสิ้นปี 2565 ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวน 12,698,362 คน หรือคิดเป็นจำนวน 19.21% ของประชากรทั้งหมด 66,090,475 คน ในจำนวนผู้สูงอายุกว่า 12 ล้านคนนี้ เป็นชาย 5,622,074 คน และหญิง 7,076,288 คน โดยกลุ่มที่มากที่สุดประมาณครึ่งหนึ่งคือกลุ่มอายุ 60-69 ปี

ล่าสุดสิ้นเดือนมีนาคม 2566 จากฐานข้อมูลประชากรของกรมการปกครอง พบข้อมูลน่าสนใจ คือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว มีจำนวน 36,986 คน เป็นชาย 18,456 คน หญิง 18,530 คน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2556 เพิ่มขึ้นประมาณ 7 พันคน จากจำนวน 29,935 คน เป็นชาย 14,604 คน หญิง 15,331 คน

นอกจากนั้น ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ผ่านระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ (Health Data Center : HDC) (วันที่ 31 สิงหาคม 2565) พบว่า เป็นกลุ่มติดสังคม 96.66% ติดบ้าน 2.73%และติดเตียง 0.62 %  

‘Smart Aging’ สูงวัยออกกำลังกายได้ทุกที่  ฟิตสมวัยในยุค 5G

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เทรนด์ดูแลสุขภาพ 'ยุคใหม่' 18ปีลดน้ำหนัก-ฝังเข็มแก้โรคทำงาน

หลงลืม พูดติดขัด สัญญาณเตือน ! อาการ 'โรคสมองเสื่อม'

เมื่อ ‘ต่อมรับรส’ เปลี่ยนไป ทำให้ ‘ผู้สูงอายุ’ กินอาหารได้น้อยลง

วิจัยใหม่พบวิธีตรวจหา ‘พาร์กินสัน’ ได้แม่นยำ แม้ในผู้ที่ยังไม่มีอาการ

 

ออกกำลังกายสูงวัย อย่างไรให้ฟิต

กรมการแพทย์ โดย สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ จัด Smart Aging Talk  ‘ฟิตสมวัยในยุค 5G ; การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงวัยใจเกินร้อย (Active aging) ในยุค 5G’ เพื่อเป็นการส่งเสริมสมรรถนะผู้สูงอายุให้มีภาวะพึ่งพาตนเองได้ ก่อให้เกิดศักยภาพในการใช้ชีวิตได้อิสระตลอดช่วงวัย ลดการเกิดโรคเรื้อรังและภาวะทุพพลภาพในช่วงวัยสูงอายุ

นพ.มานัส  โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์แบบ (Completed Aged Society) โดยในปี 2565 ประชากรผู้สูงอายุมีประมาณร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด จากอัตราการเกิดต่ำและอัตราการตายลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สังคมไทยมีประชากรวัยเด็กลดลงในขณะที่ประชากรวัยสูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ การที่จะมีอายุยืนยาวและคุณภาพชีวิตที่ดี จำเป็นต้องส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีและพึ่งพาตนเองได้ 

‘Smart Aging’ สูงวัยออกกำลังกายได้ทุกที่  ฟิตสมวัยในยุค 5G

“การออกกำลังกาย เป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างมากและทุกคนต้องให้ความสำคัญ ซึ่งในกลุ่มผู้สูงอายุ สามารถออกกำลังกายง่ายๆ เช่น การเดิน การแกว่งแขน เป็นต้น โดยอยากให้เริ่มออกกำลังกายด้วยความเชื่อมั่นว่าการออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี ทำให้รู้สึกสดชื่น กระปรี่กระเปร่า เพราะการออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬา เป็นยาวิเศษ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง มีความสมดุล สุขภาพกายใจดีขึ้น ซึ่งในกลุ่มสว. อยากให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายให้เหมาะกับวัย  ควรประเมินร่างกายว่าสามารถออกกำลังกายประเภทไหน เพื่อป้องกันการกระแทก ขณะเดียวกัน ควรออกกำลังการช่วงเช้า หรือช่วงเย็น เพื่อไม่ให้แดดร้อนเกินไป เน้นความปลอดภัย และความเหมาะสมกับร่างกายของแต่ละคน” นพ.มานัส   กล่าว

 

'เดิน' ออกกำลังกายที่ง่ายสุดเหมาะกับผู้สูงอายุ

‘การเดิน’ ถือเป็นการออกกำลังกายที่ง่ายและต้นทุนน้อยที่สุดที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ แต่อยากให้มีการวางแผนในการเดินว่าควรเดินในระยะเวลาเท่าไหร่ จำนวนเท่าไหร่ ตั้งเป้าหมาย ความท้าทายในการเดิน

มีข้อพึงระวังหรือไม่ และมีโรคประจำตัวหรือไม่ รวมถึงควรเลือกสวมใส่รองเท้ากีฬา เพื่อลดการกระแทกที่เกิดขึ้น

“กรมการแพทย์ ซึ่งรับผิดชอบในการดูแลผู้สูงอายุทั้งกลุ่มติดสังคม ติดเตียง และติดบ้าน ได้มองหาแนวทางดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุให้กลุ่มติดเตียงลดลง จึงได้เตรียมพร้อมสถานการณ์ Smart Aging ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้ทุกคนตื่นตัว และปรับตัวให้เข้ายุคสมัยในปัจจุบัน”

ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลง และเทคโนโลยีเป็นเสมือนปัจจัยที่ 5 ของทุกคน ซึ่งผู้สูงวัยกับเทคโนโลยี  ต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน กระตุ้นให้ผู้สูงอายุเกิน 50 ปี เดินและส่งเสริมการเดิน ผ่านโครงการ DMS Senior Virtual Run  2033  โดยทุกคนที่เข้าร่วมโครงการสามารถเดินได้ที่ไหน กี่กิโลเมตร  ส่งข้อมูลมาร่วมโครงการเปรียบเทียบ 3 เดือน เบื้องต้นเปิดให้ผู้สูงอายุเข้าร่วมได้ประมาณ 500 คน

‘Smart Aging’ สูงวัยออกกำลังกายได้ทุกที่  ฟิตสมวัยในยุค 5G

เพิ่มกิจกรรมในชีวิตประจำวัน พึ่งพาตนเองให้มากสุด

ด้าน พญ.บุษกร  โลหารชุน ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุควรเพิ่มกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นการส่งเสริมสมรรถนะผู้สูงอายุให้มีภาวะพึ่งพาตนเองได้

โดยไม่ต้องพึ่งเครื่องช่วยเดิน ไม้เท้า ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายในระดับ Non impact เป็นการออกกำลังกายแบบไม่มีแรงกระแทก ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น การยืดเหยียดกล้ามเนื้ออยู่กับที่ ออกแรงต้านกับน้ำหนักตนเอง โดย Body weight เป็นต้น

นอกจากนั้น Low impact เป็นการออกกำลังกายที่ส่งผลให้เกิดแรงกดหรือแรงกระแทกที่ข้อต่าง ๆ น้อย เช่น การเดิน ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ การใช้อุปกรณ์การออกกำลังกายที่มีระบบแรงต้านลม เป็นต้น ปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้นำนวัตกรรมอุปกรณ์ออกกำลังกายเสนอให้กับผู้สูงอายุอย่างหลากหลาย

สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุได้เปิดศูนย์บริการนวัตกรรมสุขภาพผู้สูงอายุ โดยมีเครื่องออกกำลังกายที่ทันสมัยเหมาะสำหรับวัย Active aging และมีผู้เชี่ยวชาญทำการประเมินสมรรถภาพของผู้สูงอายุก่อนจะใช้อุปกรณ์ออกกำลังกาย เพื่อความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ หัวใจ หลอดเลือด และสมรรถนะการทรงตัว ป้องกัน และฟื้นฟู ทำให้ผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือตนเองได้ และช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

‘Smart Aging’ สูงวัยออกกำลังกายได้ทุกที่  ฟิตสมวัยในยุค 5G

เมื่ออายุมากขึ้นความเสื่อมของระบบต่างๆในร่างกายจึงตามมา ส่งผลให้การควบคุมการทำงานต่างๆเปลี่ยนแปลงไป พบได้ในผู้สูงอายุคือ การเดินที่ไม่มั่นคง ซึ่งเกิดจากการทรงตัวที่บกพร่อง อาจทำให้เกิดการหกล้มได้ ซึ่งส่งผลกระทบตามมา หากเกิดการหกล้มรุนแรงทำให้กระดูกหัก บางรายเกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะ อาจมีเลือดออกในสมองได้ ทำให้ผู้สูงอายุไม่ยอมเดินหรือกลัวการหกล้ม ทำให้จำกัดการทำกิจวัตรประจำวัน หรือกิจกรรมต่างๆ ซึ่งนำมาสู่ภาวะถดถอยของสมรรถภาพของร่างกาย

ทั้งนี้  ปัจจัยเสี่ยงต่อการหกล้ม มี 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยภายใน ได้แก่ เพศหญิง มีอายุที่เพิ่มขึ้น การมองเห็นบกพร่อง โรคประจำตัว เช่น โรคสมองและระบบประสาท โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูกและกล้ามเนื้อ ปัจจัยภายนอก ได้แก่ สภาพแวดล้อมภายในบ้าน เช่น แสงสว่างไม่เพียงพอ พื้นต่างระดับ พื้นเปียกหรือลื่น การวางของระเกะระกะ เป็นต้น

แนวทางการป้องกันโดยแพทย์ จะประเมินผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยง ประเมินจากสภาพแวดล้อมที่บ้าน และให้คำแนะนำการป้องกันการหกล้ม การออกกำลังกายในผู้สูงอายุได้แก่ การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และการออกกำลังกายเพิ่มการทรงตัว เช่น การรำมวยจีน ไทเก็ก เป็นต้น

‘Smart Aging’ สูงวัยออกกำลังกายได้ทุกที่  ฟิตสมวัยในยุค 5G

อย่างไรก็ตามการป้องกันการหกล้ม ในผู้สูงอายุทั้งที่ปกติและมีโรคประจำตัว จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยหลีกเลี่ยงและลดปัจจัยเสี่ยง จะช่วยป้องกันภาวะทุพพลภาพในผู้สูงอายุได้

สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อ ณ อาคาร DMS 6 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หรือ เบอร์โทรศัพท์ 0 2024 8481