เอาชนะความ “ทุกข์ใจ” | วรากรณ์ สามโกเศศ

เอาชนะความ “ทุกข์ใจ” | วรากรณ์ สามโกเศศ

มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ตลอดชีวิตหรือบางครั้งในชีวิตรู้สึกไม่ชอบตัวเอง หรือถึงขนาดเกลียดชังเอาด้วยซ้ำโดยอาจมาจากการคิดว่าได้กระทำสิ่งที่ผิดพลาด หรือไม่สมควรทำในอดีต จนทำให้เกิดความทุกข์ใจ  หาความสุขไม่ได้ เกิดผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจในที่สุด

 ปัจจุบันนักจิตวิทยามีคำแนะนำ อันจะช่วยให้เกิดความรู้สึกที่เห็นความสำคัญของตนเองตลอดจนมีภาพลักษณ์ของตนเองที่ดีขึ้นอีกด้วย

        คนที่รู้สึกไม่ชอบหรือเกลียดชังตัวเองอย่างสุด ๆ นั้น น่าหวาดหวั่นเพราะบ่อยครั้งอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่เกี่ยวพันกับความสุ่มเสี่ยงในเรื่องเพศ  การทำร้ายตัวเอง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักเกิดความคิดในการลงโทษตนเองด้วยความรุนแรง

มีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่สุขใจจนรู้สึกหดหู่ เมื่อนึกถึงความผิดพลาด   ความล้มเหลว   การไม่ปฏิบัติสิ่งที่ควรทำ   หรือกระทำสิ่งที่ไม่ควรทำครั้งหนึ่งหรือหลายครั้งในอดีต 

โดยเอาสิ่งเหล่านั้นมาขยายใหญ่ในความคิดทั้ง ๆ ที่อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่โตเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งดี ๆ อื่น ๆ ที่ได้ทำมาในชีวิต  

แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคิดสุดโต่ง หรือ การคิดคำนึงเป็นบางครั้งก็ตามล้วนไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพทั้งสิ้น

นิตยสาร Psychology Today มีบทความชื่อ Yourself More โดย Katherine Cullen (April 20, 2023) ซึ่งให้คำแนะนำที่เป็นรูปธรรมในการ ”ลดทุกข์และสร้างสุข” ดังต่อไปนี้

(1)  ให้ความรักและความเมตตาแก่ผู้อื่น  การให้ความรักความเมตตาแก่สรรพสิ่งในโลก รวมทั้งตัวเองด้วยของชาวพุทธเป็นเรื่องน่าปฎิบัติ  จงเอามือแตะหัวใจและหายใจเข้าลึก ๆ ยาวและปล่อยลมหายใจออกยาว ๆ  

พร้อมกับท่องว่า “ขอให้มีความมั่นใจ” 5 ครั้ง และทำซ้ำอีก 5 ครั้งโดยท่องว่า “ขอให้รู้สึกว่าสมควรได้รับความรัก”  ทำเช่นนี้ทุกวันไม่น้อยกว่า 1 อาทิตย์  แล้วจะมีทางโน้มว่ารู้สึกอ่อนโยนมากขึ้นกับตนเองและตำหนิตนเองน้อยลง

          (2) นึกถึงความสำเร็จในอดีต  เมื่ออยู่ในห้วงความรู้สึกที่เป็นลบ และหดหู่เกี่ยวกับตนเอง      เราอาจลืมไปว่าได้เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในชีวิต และเคยรู้สึกดีๆ กับความสำเร็จนั้น   จงใช้เวลา              5-10 นาทีเขียนสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกดี ๆ ในชีวิตไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ก็ตามที    

การกระทำนี้จะเตือนใจเราว่าแท้จริงแล้วเราสามารถประสบความสำเร็จได้   และเรามีความสามารถที่จะชื่นชมยินดีกับมัน

        ความสำเร็จที่กล่าวถึงนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่โตเพราะหมายถึง การเลี้ยงลูกดี ๆ ทิ้งไว้   ในโลก  การได้ทำงานเพื่อสังคม   การไม่เบียดเบียนคนอื่นอย่างตั้งใจ   

การงานที่ช่วยทำให้คนอื่นมีรายได้  การทำบุญทำทาน    การได้ช่วยเหลือผู้อื่น     การเป็นพลเมืองดี  การสามารถมีอายุยืนยาวอย่างพึ่งตนเองได้  ฯลฯ

            (3) นึกถึงการช่วยเหลือที่เคยได้รับ นึกถึงคนที่เชื่อถือเรา  ไว้วางใจและสนับสนุนเราในอดีต    นึกถึงคำพูดที่ให้กำลังใจ   นึกถึงโมเม้นที่รู้สึกอบอุ่นเพราะความรักความเมตตาที่ได้รับ   นึกถึงมือที่ลูบหัวลูบหลังให้กำลังใจ   นึกถึงคำพูดหรือการกระทำที่ทำให้เรามีความเชื่อมั่นสูงขึ้น และทำให้ใจสงบ

 (4) ทำดีกับคนอี่น ๆ  ความจริงของชีวิตก็คือถ้าเราไม่ “ทำสิ่งที่ดี” มันก็ยากที่เราจะรู้สึกดี ๆ กับตนเองได้   ดังนั้นการมีพฤติกรรมที่ทำให้คนอื่นเห็นว่าเราเป็น “มนุษย์ที่มีความดีงาม” จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก

        มนุษย์ส่วนใหญ่รู้สึกดีขึ้นกับตนเองเมื่อได้ทำสิ่งที่ดี ๆ ให้แก่คนอื่น (การให้และการได้รับคือสิ่งเดียวกัน) ถ้าทำดีอย่างน้อยวันละหนึ่งอย่างก็จะช่วยจิตใจเราเองได้มาก 

เช่น การเปิดประตูให้คนอื่น   การพูดจาดี ๆ ให้เกียรติคนอื่น  การช่วยเหลือคนรู้จัก  การแสดงความซาบซึ้งใจต่อสิ่งที่คนอื่นทำให้  ทำบุญทำทาน   ทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคม   ฯลฯ

 ถ้าเราทำสิ่งเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยเพิ่มความรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญและชีวิตมีความหมายยิ่งขึ้น  

         (5) ยกโทษให้ตนเอง  มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เกิดมาแล้วจะไม่เคยกระทำสิ่งใดผิดพลาดในชีวิต  ใคร ๆ ก็รู้ความจริงข้อนี้  แต่ในยามที่เราอยู่ในห้วงความรู้สึกหลังจากกระทำผิดพลาดจนล้มเหลวในงาน  ในธุรกิจ หรือในชีวิต (แฟนบอกเลิกหรือทิ้งไป)   

เราจะตกอยู่ในห้วงคิดที่เป็นลบ  จะคิดว่าตนเองเป็นคนล้มเหลว  ไม่เคยทำอะไรสำเร็จ   การคิดสรุปที่ผิดพลาดนี้จะนำไปสู่ความทุกข์   

ผู้เขียนแนะนำว่าให้หยุดการครุ่นคิดเช่นนี้และไปค้นหาเรื่องราวของคนที่ล้มเหลวและลุกขึ้นมายืนได้มาอ่าน  หรือพูดคุยกับคนอื่นในเรื่องความผิดพลาดของชีวิตในอดีต    

เมื่อเห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนเคยประสบมาด้วยกันทั้งนั้นก็อาจทำให้เรารู้สึกยกโทษให้ตนเองขึ้นบ้างสำหรับสิ่งที่เราคิดว่าผิดพลาด  

          (6) อย่าหลีกหนีความท้าทาย  อย่าหลบหนีผู้คนไปขังตัวเองอยู่คนเดียว   ลองท้าทายตัวเองด้วยการทำอะไรที่ไม่เคยชินเดือนละหนึ่งอย่าง    เช่น   ออกไปร่วมงานปาร์ตี้   พบปะผู้คนใหม่ ๆ    เข้าคลาสเรียนรู้งานอดิเรก   ออกไปดูร้านค้าใหม่ที่เปิดในละแวกบ้าน   เข้าวัดฟังธรรม นั่งสมาธิ  ฯลฯ  หากนั่งจดสิ่งที่ตนเองสนใจแต่ยังไม่เคยลงมือก็จะเห็นหลายสิ่งที่ท้าทาย 

 (7) ใช้เวลาในการชอบตนเอง  การตัดความรู้สึกที่เป็นลบเกี่ยวกับตนเองออกไปนั้นต้องใช้เวลาแต่หากฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอก็สามารถเอาชนะได้   

สำหรับคนที่รู้สึกไม่ชอบตนเองเป็นครั้งคราวนั้น  การฝึกฝนจิตใจและมีพฤติกรรมของความมีเมตตากรุณา   การให้     การยกโทษ การช่วยเหลือนั้นจะทำให้รู้สึกในที่สุดว่าตัวเราก็เป็น "คนใช้ได้”

        มนุษย์นั้นหากรู้สึกดี ๆ กับตนเองแล้วก็จะเห็นคุณค่าของตนเอง   อุปมาเหมือนคนเห็นคุณค่าของจานสังคโลกอันทรงคุณค่าก็ย่อมไม่เอามาโยนเล่น แต่หากเขาไม่เห็นคุณค่าเหมือนที่ไม่เห็นคุณค่าชีวิตตนเองแล้วก็สามารถกระทำสิ่งที่สุ่มเสี่ยงได้เสมอ  

เราเห็นพฤติกรรมของคนที่คิดว่าตนเองล้มเหลว  ผิดหวังในชีวิตอย่างรู้สึกไร้ค่าที่ออกไปทางความรุนแรงอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าทำร้ายผู้อื่นหรือตนเอง

          มนุษย์เกิดมามีชีวิตเดียว  มีจิตใจดวงเดียว  สำหรับคนที่รู้สึกไม่มีความสุขใจเป็นบางครั้งเพราะนึกถึงบางความผิดพลาดในชีวิตแต่หนหลังจนคิดขยายใหญ่เกินความจริงนั้น  

 ข้อแนะนำข้างต้นน่าจะเป็นประโยชน์มาก   แต่สำหรับคนสุดโต่งในเรื่องการเกลียดชังไม่ชอบตนเองอย่างรุนแรงนั้น จำเป็นต้องใช้เวลาและอาจต้องรักษาด้วยการบำบัดทางจิตวิทยา

      สุขกายเท่าใดก็ไม่มีวันสู้สุขใจได้  ต่อให้มีเงินทองสามารถซื้อที่นอน  หมอน  เครื่องปรับอากาศราคาแพงแต่ก็ไม่อาจซื้อการนอนหลับอย่างปกติสุขซึ่งเกิดจากการมีความสุขทางใจได้.