'ค่าจ้างขั้นต่ำ-สิทธิ-สวัสดิการ' ข้อเสนอจากพรรคการเมืองที่แรงงานควรรู้!

'ค่าจ้างขั้นต่ำ-สิทธิ-สวัสดิการ' ข้อเสนอจากพรรคการเมืองที่แรงงานควรรู้!

‘การเลือกตั้งปี 2566’ นี้ เป็นศึกครั้งดุเดือดที่ทุกพรรคการเมืองต่างออกนโยบายหาเสียงจากประชาชนอย่างเข้มข้น ทั้งสวัสดิการ เงินอุดหนุน การสร้างงาน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนนำไปประกอบการตัดสินใจเลือกพรรคที่ใช่ พรรคที่ชอบในวันที่ 14 พ.ค.2566 นี้

Keypoint:

  • ปัญหาแรงงานไม่ใช่เพียงเรื่องของคุณภาพเท่านั้น แต่ยังมีการขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก อีกทั้งคนรุ่นใหม่ที่กำลังเข้าสู่วัยทำงานในปัจจุบันแตกต่างไปจากเดิม พวกเขาต้องการค่าแรงที่เหมาะสม ความมั่นคงในการทำงาน และต้องทำงานไปด้วยจัดสมดุลในการชีวิตร่วมด้วย
  • โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งปี 2566 ซึ่งจะมีการเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 7 พ.ค.2566 และการเลือกตั้งปกติในวันที่ 14 พ.ค.2566 ส่งผลให้แต่ละพรรคการเมืองลงพื้นที่หาเสียงเรียกคะแนนจากประชาชน
  • 'นโยบายด้านแรงงาน' เป็นหนึ่งนโยบายหลักของพรรคการเมืองที่จะใช้ดึงดูดคะแนนเสียงจากประชาชน โดยส่วนใหญ่จะเน้นค่าจ้างขั้นต่ำ  สิทธิ และสวัสดิการจัดเต็มยกระดับคุณภาพแรงงานไทย 

วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม ปีนี้ ดูจะเป็นอีกหนึ่งปีที่สำคัญของ 'แรงงาน' ทุกคนที่จะได้มีโอกาสไปเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ส. และพรรคการเมืองที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของปากท้อง และการพัฒนาทักษะให้สามารถทำงานได้ เท่าทันต่อการปรับเปลี่ยนของเทคโนโลยี และหมุนปรับตัวตามกระแสโลก กระแสสังคมที่เปลี่ยนไป

 ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ได้รวบรวม ‘นโยบายหาเสียงด้านแรงงาน’ของพรรคการเมือง ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานไทย ซึ่งแต่ละพรรคได้มีการประกาศนโยบายด้านแรงงานทั้งเหมือนและแตกต่างกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ปี 66 ปีทองตลาดผู้สมัครงาน แนะผู้ประกอบการปรับตัวก่อนขาดบุคลากร

เปิดแล้ว!หลักสูตร “The Data Master” รองรับความต้องการของตลาดทั่วโลก

จากการ "ล็อกดาวน์" ครั้งใหญ่ สู่ "ภาวะหมดไฟ" ที่ลุกลาม

เมื่อเทรนด์จ้างงานเปลี่ยนไป “เด็กจบใหม่” กำลังมีโอกาสสดใสใน "ตลาดแรงงาน"

 

สวัสดิการอัดแน่น คนทำงานอย่างยั่งยืน

‘พรรคก้าวไกล’ มี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้กำหนดนโยบายด้านแรงงาน โดยหยิบยกเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทันที 450 บาทต่อวัน ถ้าก้าวไกล ได้เป็นรัฐบาล แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับการวางระบบเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้นทุกปี โดยคำนวณจากภาวะเงินเฟ้อ และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP

พร้อมยกระดับสวัสดิการ ‘สัญญาจ้างเป็นธรรม ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์’ ถ้าเกินเวลาต้องมีค่า OT รวมทั้ง ประกันสังคมถ้วนหน้า เจ็บป่วยได้เงินชดเชย-ค่าเดินทางหาหมอ แรงงานทุกกลุ่มตั้งสหภาพได้ สอดคล้องหลักการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) อีกทั้งจะมีคูปองเรียนเสริมทักษะอาชีพ ผ่านสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงและเรียนได้โดยไม่จำกัด บริการจับคู่กับผู้ประกอบการและจัดหางานโครงการ Upskill - Reskill แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของคนวัยทำงาน

\'ค่าจ้างขั้นต่ำ-สิทธิ-สวัสดิการ\' ข้อเสนอจากพรรคการเมืองที่แรงงานควรรู้!

นอกจากนั้น ก้าวไกลยังมี สวัสดิการที่ให้แบบถ้วนหน้าและครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนแก่ เพื่อลดภาระของคนวัยทำงาน ไม่ว่าจะเป็น เงินเด็กเล็ก 1,200 บาทต่อเดือน เงินผู้สูงวัย 3,000 บาทต่อเดือน

 

เพิ่มค่าแรง 600 บาท แรงงานต้องไม่จน

‘พรรคเพื่อไทย’ ซึ่งมีแคนดิเดต 3 คน ได้แก่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ,นายเศรษฐา ทวีสิน และนายชัยเกษม นิติสิริ โดยวิสัยทัศน์ของเพื่อไทยจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ของประเทศ เติบโตเฉลี่ยอย่างต่ำ ปีละ 5% เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 ,คนจบปริญญาตรี รวมถึง คนทำงานข้าราชการ ต้องได้เงินเดือน เริ่มต้น 25,000 บาท

ส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ซอฟท์พาวเวอร์ ในทักษะ ด้านการทำอาหาร ร้องเพลง ออกแบบ ศิลปะ กีฬา เพื่อสร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน ที่มีรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปี ส่วนนี้จะมีการสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่งรองรับ และยังจะสนับสนุนทุกอุตสาหกรรมซอฟท์พาวเวอร์ ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

ขณะเดียวกันจะมีการลดช่องว่างรายได้คนไทย ให้ทุกคนมีรายได้เพียงพอ ต่อการดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เติมรายได้ให้ทุกครอบครัวมีรายได้ขั้นต่ำ 20,000 บาท / เดือน พร้อมทั้งลงทะเบียนผ่านระบบบนแพลตฟอร์ม Life-Long Learning เพื่อเสริมทักษะและหางาน และมีการลงทะเบียนและอัพเดตข้อมูลทุก 6 เดือนเพื่อดึงคนเข้าระบบ และทำให้รัฐสามารถเข้าช่วยเหลือได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งใครทำงานมากก็จะได้รับเงินสบทบมาก เพื่อไม่ให้แรงงานจนอีกต่อไป

ค่าจ้างฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้น ลดภาษีเด็กจบใหม่

‘พรรคพลังประชารัฐ’ มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้นำเสนอนโยบายหาเสียงเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาท ที่ไม่ใช่สำหรับทุกคน แต่เป็นค่าแรงสำหรับแรงงานที่มีฝีมือ (skilled labor) เพื่อยกระดับความสามารถแรงงานให้สูงขึ้นกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการพัฒนาฝีมือแรงงานจะมีกระบวนการยกระดับร่วมกับรัฐ เป็นการนำนโยบายเป้าหมายค่าแรงมาดำเนินการเพื่อผลักดันนโยบายแรงงานคุณภาพทั้งระบบให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

รวมถึงเสนอเงินเดือนเริ่มต้น ปริญญาตรี 2 หมื่นบาท เงินเดือนเริ่มต้นอาชีวะ 1.8 หมื่นบาท และเด็กจบใหม่ยกเว้นภาษี 5 ปี ส่วนพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ยกเว้นภาษี 2 ปี และลดภาษีบุคคลธรรมดา 10%

พลังประชารัฐจะมีการสานต่อนโยบายที่เคยกำหนดไว้สมัยเป็นรัฐบาล อาทิ สานต่อ ‘บัตรประชารัฐ’ จาก 300 บาท เพิ่มเงินเป็น 700 บาท มอบสวัสดิการผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยเกิน 80 ปี รับ 5,000 บาท เป็นต้น

กองทุนเครดิตประชาชน สร้างงานทางเลือก

‘พรรคไทยสร้างไทย’ มีแคนดิเดตนายกฯ 3 คน ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ,นายสุพันธุ์ มงคลสุธี และน.ต. ศิธา ทิวารี โดยมีนโยบายหาเสียงด้านแรงงาน ดังนี้ จัดตั้ง ‘กองทุนเครดิตประชาชน’ ให้ประชาชนกู้เงินในอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน เพื่อนำเงินไปสร้างงานทางเลือกอื่นๆ โดยประชาชนทั่วไปสามารถเอาบัตรประชาชนใบเดียวมาขอกู้ได้ โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ ไม่ต้องตรวจสอบเครดิตบูโร เริ่มต้นที่ 5,000-50,000 บาท แต่ว่าต้องรักษาเครดิตของตัวเอง ถ้าจ่ายตรงเวลาเครดิตสกอร์จะสูงขึ้น 

รวมถึง มีนโยบาย ‘บำนาญประชาชน 3,000 บาท’ สำหรับผู้สูงอายุวัย 60 ขึ้นไป เพื่อผ่อนภาระของคนวัยทำงาน รวมทั้งไรเดอร์ที่ต้องทำงานหาเลี้ยงพ่อแม่วัยชรา

งานดี ประกันสังคมดี เลี้ยงดูตัวเอง-ครอบครัวได้

‘พรรคภูมิใจไทย’ มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นแคนดิเดตนายฯ ประกาศนโยบายหาเสียงด้านแรงงาน ดังนี้ สร้างงานดี 10 ล้านตําแหน่ง เพิ่มอัตราการจ้างงาน สร้างแรงจูงใจ พัฒนาศักยภาพแรงงาน รวมถึงมีนโยบายพรรคหนี้ เพื่อลดปัญหาหนี้สินให้ประชาชน ไม่ต้องหาเงิน จ่ายต้น จ่ายดอกทบเท่าทวีคูณ จะได้นำเงินที่มี และหาได้ มาใช้ยังชีพ เลี้ยงดูครอบครัว เป็นลำดับแรก และประชาชนมีเวลาตั้งหลัก เริ่มต้นใหม่ เป็นเวลา 3 ปี จะทำให้มีความสามารถชำระหนี้ เพิ่มขึ้น

‘พรรคประชาธิปัตย์’ มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ โดยชูนโยบายดูแลแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ หมายรวมถึงแรงงานแพลตฟอร์ม ต้องได้รับสิทธิและความคุ้มครองของกฎหมายประกันสังคม มาตรา 33 ส่วนเสรีภาพในการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิหรือต่อรองกับนายจ้าง แรงงานสามารถทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องอิงกับอนุสัญญา ILO 87 และ 98 เพื่อให้ทุกคนต้องอยู่ในระบบประกันสังคมอย่างทั่วถึง สนับสนุนให้แรงงานมีรายได้ตามสมควร โดยไม่ได้ประกาศตัวเลขรายได้ขั้นต่ำ แต่เน้นสวัสดิการต่างๆ ด้านค่าครอง เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ใช้แรงงาน

‘พรรคชาติไทยพัฒนา’ มีนายวราวุธ ศิลปอาชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ นำเสนอนโยบายหาเสียงด้านแรงงาน โดยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีความสอดคล้องกับความสนใจของแต่ละบุคคล บนพื้นฐานความต้องการของตลาดแรงงาน พัฒนาระบบการประกันสังคมให้มีประสิทธิภาพ อำนวยประโยชน์สำหรับผู้ใช้แรงงานให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง จะให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสวัสดิภาพของแรงงาน เด็กและสตรี ส่งเสริมให้มีระบบแรงงานสัมพันธ์ และกระบวนการในการระงับข้อพิพาทแรงงานที่รวดเร็ว และเป็นธรรมสร้างมาตรฐานจูงใจ และเคร่งครัดต่อการจัดระบบความปลอดภัยในการทำงาน และให้สวัสดิการแก่ผู้ใช้แรงงานสนับสนุนให้ผู้ใช้แรงงานมีเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน

‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้ชูนโยบายหาเสียงด้านแรงงาน โดยแรงงานเดือดร้อน สามารถขอเงินสะสมมาตรา 33 คืน 30% มาใช้ก่อนได้ พร้อมเพิ่มสิทธิให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการพลัสเป็น 1,000 บาทต่อเดือน เริ่มจากกลุ่มรายได้น้อย และอาชีพอิสระ เข้าระบบประกันสังคมถ้วนหน้า

อย่างไรก็ตาม นโยบายหาเสียงด้านแรงงานของพรรคการเมือง ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งแข่งขันกันว่าพรรคใดจะเสนอค่าจ้างขั้นต่ำได้สูงกว่ากัน และการสร้างงานใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ รวมถึงการจัดสรรสวัสดิการทั้งเพิ่ม แถมเพียบ!!!!

ข้อเสนอจากภาคเอกชน-นักวิชาการถึงพรรคการเมือง

จากนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองในการเพิ่มเงินค่าแรงขั้นต่อ และสวัสดิการ ประกันสังคมอีกมากมาย ส่งผลให้ภาคเอกชน องค์กรนายจ้าง รวมถึงสหภาพแรงงาน นักวิชาการต่างๆ เกิดข้อกังวล เพราะหากมีการเพิ่มในอัตราการดังกล่าวจริงจะใช้เงินจากภาคส่วนไหน และกระทบต่อเศรษฐกิจหรือไม่? 

ในงานสัมมนาสาธารณะในประเด็นค่าแรงขั้นต่ำขายฝันแรงงานไทย ของหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ บสก.รุ่นที่ 11 โดยสถาบันอิศรา 

‘นายธนิต โสรัตน์’ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า นโยบายประชานิยมของพรรคการเมือง ในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมองว่าเป็นนโยบายชวนเชื่อทางการตลาด

“การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้แก่แรงงานนั้น สามารถทำได้จริง เพราะเป็นเรื่องของนายจ้าง ไม่ได้ใช้งบประมาณของพรรคการเมือง หรืองบจากภาครัฐ แต่ทั้งนี้ หากค่าจ้างที่สูงขึ้นเกินจากความเป็นจริง จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่ของการอุปโภคบริโภคทั้งหมด มองว่าการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำของไทยควรจะขึ้นเป็นแบบอัตโนมัติ ตามอัตราเงินเฟ้อ และต้องไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซง” นายธนิต กล่าว

ขณะที่ 'นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์' ที่ปรึกษาฝ่ายการวิจัยนโยบายทรัพยากรมนุษย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI กล่าวว่า การหาเสียงด้วยการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ อาจทำต้นทุนสูงการผลิตสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อพรรคการเมืองนำค่าจ้างมาหาเสียงจะเป็นอันตรายต่อประเทศ ขอฝากไปยังพรรคการเมืองว่า ควรทำให้ค่าจ้างเป็นไปตามกลไกไตรภาคี เพราะถ้ามีการแทรกแซงจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง

นอกจากนั้น TDRI ได้จัดทำข้อเสนอแนะด้านนโยบายแรงงานต่อพรรคการเมือง ดังนี้

1.ควรกำหนดระดับค่าจ้างขั้นต่ำเป้าหมายที่เหมาะสมที่ทำให้แรงงานมีรายได้สูงขึ้น ในขณะที่นายจ้างยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ พร้อมกับกำหนดระยะเวลาในการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว 

2.พรรคการเมืองควรมีนโยบายสนับสนุนให้ SMEs เพิ่มผลิตภาพด้วยการลดความสูญเสียในการประกอบการ และใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อทดแทนแรงงานทักษะต่ำ ตลอดจนมีนโยบายในการฝึกทักษะแรงงานอย่างต่อเนื่อง 

3.พรรคการเมืองควรเสนอนโยบายลดจำนวนแรงงานต่างด้าวลงในระยะยาว