เตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดในอนาคตอย่างไร? | ธราธร รัตนนฤมิตศร

เตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดในอนาคตอย่างไร? | ธราธร รัตนนฤมิตศร

วิกฤตโควิด-19 ได้คลี่คลายลงไปในปัจจุบัน หลังจากที่คนทั่วโลกได้เผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ไปพร้อมกันกว่า 3 ปี โดยได้สร้างความสูญเสียทั้งในด้านชีวิตและความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล

วิกฤตดังกล่าวถือเป็นบททดสอบครั้งสำคัญของระบบการเตรียมรับมือ และจัดการกับวิกฤตของแต่ละประเทศ วิกฤตแต่ละครั้งจึงไม่ควรสูญเปล่าโดยที่ไม่ได้เรียนรู้บทเรียนอะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้น

เพราะในอนาคต อาจจะเกิดวิกฤตซ้ำแบบเดิม หรืออาจมีวิกฤตในรูปแบบอื่นเกิดขึ้นอีกได้ ประเทศที่พร้อมรับมือวิกฤตจึงจะสามารถขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคง 

ศาสตราจารย์ Máire Connolly ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาและสุขภาพระดับโลก ได้เตือนว่าโรคระบาดอื่นๆ ในอนาคตถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาดครั้งใหม่มีสูงขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา โดยสถานการณ์ที่เป็นไปได้มากที่สุดสำหรับการแพร่ระบาดครั้งต่อไป คือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ หรือไวรัสที่เพิ่งค้นพบ เช่น ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของการระบาดครั้งใหม่ มีหลายอย่าง เช่น การทำฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ การตัดไม้ทำลายป่า มาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพที่หละหลวมในห้องปฏิบัติการ และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการปล่อยสารชีวภาพโดยเจตนาหรือการใช้อาวุธชีวภาพ

การเกิดโรคระบาดมีลักษณะเป็นความเสี่ยงของเหตุการณ์ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ในโลก ซึ่งสัตว์และมนุษย์อาศัยอยู่ใกล้กัน เชื้อโรคสามารถทำให้เกิดโรคระบาดได้ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาดใหญ่

เตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดในอนาคตอย่างไร? | ธราธร รัตนนฤมิตศร

อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้แมลงซึ่งเป็นพาหะนำโรคสามารถขยายพันธุ์และรุกรานดินแดนใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม ระบบการจัดการโรคระบาดของทั่วโลก มีแนวโน้มน่าจะมีความพร้อมมากขึ้น สำหรับการระบาดครั้งใหญ่ครั้งต่อไป เนื่องจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นสำหรับวัคซีน การตรวจวินิจฉัย และการรักษา

ในการรับมือกับวิกฤตการระบาดใหญ่ในอนาคตนั้น ผู้ดำเนินนโยบายแต่ละประเทศจะต้องทบทวนวิกฤตที่เกิดขึ้น ถอดบทเรียน และลงทุนเตรียมความพร้อมหรือจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงให้กับประเทศ เพื่อพร้อมเผชิญวิกฤตในอนาคต ซึ่งตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดีคือกรณีประเทศสิงคโปร์

ในช่วงเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้ออกเอกสารสมุดปกขาวฉบับหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเตรียมประเทศสิงคโปร์ให้พร้อมรับมือกับโรคระบาดในอนาคต (White Paper on Singapore’s response to COVID-19: Preparing Singapore better for the next pandemic)

โดยได้ทบทวนสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงสามปีที่ผ่านมา สิ่งที่ประเทศทำได้ดี สิ่งที่ประเทศน่าจะทำได้ดีกว่านี้ และบทเรียนในการรับมือกับอนาคต

ในสมุดปกขาวฉบับนี้ได้ทบทวนการรับมือกับโรคระบาดของสิงคโปร์ นำเสนอกรณีศึกษาทั้งในด้านความสำเร็จและโอกาสในการเรียนรู้

สิงคโปร์เป็นประเทศที่นับว่า ประสบความสำเร็จพอสมควรในการปกป้องชีวิตและรักษาวิถีชีวิตของประชาชน สามารถรักษาความยืดหยุ่นของระบบการรักษาพยาบาล และสามารถให้วัคซีนกับประชากรได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ ยังสามารถให้ความช่วยเหลือสำคัญแก่ภาคธุรกิจ ทำให้ห่วงโซ่อุปทานมีความต่อเนื่อง และเศรษฐกิจของประเทศก็สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม จากการทบทวนพบว่ามีหลายเรื่องที่ประเทศสิงคโปร์ควรปรับปรุง เช่น การรับมือกับการระบาดในระยะแรกในหอพักแรงงานข้ามชาติ การต้องเพิ่มความพยายามในการติดตามผู้ติดเชื้อ และการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้รวดเร็วขึ้นและรัดกุมมากขึ้น รวมถึงมาตรการชายแดนที่ควรมีความเด็ดขาดมากขึ้น

เตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดในอนาคตอย่างไร? | ธราธร รัตนนฤมิตศร

จากประสบการณ์เหล่านี้ สมุดปกขาวได้กลั่นกรอง 7 บทเรียนสำคัญสำหรับเตรียมรับกับการแพร่ระบาดครั้งต่อไป ได้แก่
1.    จัดลำดับความสำคัญที่ชัดเจนในมิติต่างๆ ในการรับมือกับโรคระบาดตามระยะหรือเฟสของสถานการณ์ พร้อมปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ 
2.    เสริมสร้างความยืดหยุ่นของประเทศ โดยการเสริมความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจ สังคม และประเทศด้วยการรับประกันในการเข้าถึงทรัพยากรที่สำคัญ การลงทุนในระบบที่สำคัญ และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและความสามารถในการปรับตัวของแรงงาน
3.    ส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาชน สร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างกันในช่วงเวลาปกติ เพื่อเตรียมพร้อมสร้างความร่วมมือในช่วงวิกฤตในอนาคต
4.    เพิ่มขีดความสามารถด้านการดูแลสุขภาพและความเชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข ขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพและปรับปรุงความเชี่ยวชาญในการควบคุมและจัดการโรคติดต่อ
5.    ใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงทุนในความสามารถด้านวิศวกรรมข้อมูล ระบบต่างๆ ที่ทำงานร่วมกันได้ และความปลอดภัยทางไซเบอร์
6.    ปรับปรุงการวางแผนและการจัดการวิกฤตที่มีประสิทธิภาพ
7.    พัฒนาการสื่อสารสาธารณะที่ชัดเจนและโปร่งใส การแจ้งให้ประชาชนทราบและสร้างความมั่นใจ ความเชื่อมั่นในภาครัฐ ตลอดจนสร้างกลยุทธ์ในปัจจุบันเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในช่วงวิกฤต

โรคระบาดใหญ่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตอย่างแน่นอน เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร ดังนั้น ประเทศจึงควรเตรียมความพร้อมรับมือไว้ล่วงหน้า

ถอดบทเรียนความสำเร็จและความล้มเหลวที่เกิดขึ้น ลงทุนในระบบการรับมือวิกฤต ทั้งในเชิงทรัพยากร บุคลากร ระบบเทคโนโลยี และความสัมพันธ์ของคนในสังคม เพื่อให้ประเทศมีขีดความสามารถในการตอบสนองต่อวิกฤตในอนาคต และสามารถบริหารจัดการได้ดีกว่าเดิม