อย่าลืมหน้ากาก! “PM 2.5” ทำให้ “สมองเสื่อม” ได้

อย่าลืมหน้ากาก! “PM 2.5” ทำให้ “สมองเสื่อม” ได้

ผลวิจัยล่าสุดชี้ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ “PM2.5 สามารถทำให้เกิด “ภาวะสมองเสื่อม” ได้ ยิ่งสัมผัสเยอะ ยิ่งมีโอกาสสมองเสื่อมสูง

แม้ว่าจะเข้าสู่เดือนเม.ย. แล้วก็ตาม แต่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ “PM 2.5” ยังคงปกคลุมประเทศไทย โดยเฉพาะในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ เป็นที่รู้กันดีว่าการสูดดมฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมเข้าไป ล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ตั้งแต่เกิดการระคายเคือง แสบจมูก ไอ จาม มีเสมหะ ซึ่งหากสะสมเข้าร่างกายเป็นระยะเวลานานสามารถเป็นหอบหืด หัวใจวายเฉียบพลัน หลอดเลือดสมองตีบ และร้ายแรงที่สุดถึงขั้นเป็นมะเร็งปอด

แต่ดูเหมือนว่า PM 2.5 ไม่ได้ทำลายแค่เพียงระบบทางเดินหายใจเท่านั้น จากผลวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า การหายใจเอาสารมลพิษทางอากาศขนาดเล็กมากเข้าไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด “ภาวะสมองเสื่อม” อีกด้วย

การวิเคราะห์อภิมาน (Meta-analysis) วิจัยชิ้นล่าสุดของมาร์ค ไวส์สคอฟ และคณะ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์อังกฤษ (BMJ) เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566 ด้วยการตรวจสอบการศึกษาเชิงสังเกต 16 ชิ้น และพบหลักฐานที่สอดคล้องกับความสัมพันธ์ระหว่าง PM 2.5 กับภาวะสมองเสื่อม แม้ว่าจะสัมผัสกับฝุ่นด้วยปริมาณไม่เกิน 12 ไมโครกรัมต่ออากาศหนึ่งลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นค่ากำหนดมาตรฐานเฉลี่ยรายปีที่สหรัฐกำหนดก็ตาม

“การสูดดม PM 2.5 ไม่สามารถทำให้เกิดอาการสมองเสื่อมได้ในหนึ่งปี แต่เกิดจากการสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน” ไวสส์คอฟกล่าว

งานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนมี.ค. 2565 ในวารสาร The Lancet Planetary Health ระบุว่า ในปัจจุบัน 90% ของประชากรโลกสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 ที่มีความเข้มข้นต่อปีสูงกว่า 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือได้ว่าอยู่ในระดับที่ไม่ดีต่อสุขภาพตามที่องค์การอนามัยโลกระบุ

  • PM 2.5 ยิ่งสูง ยิ่งสมองเสื่อม

ในการศึกษาของมาร์ค ไวส์สคอฟ และคณะ ยังระบุอีกว่า ความเสี่ยงการเกิดภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 17% เมื่อมีการสัมผัส PM 2.5 เพิ่มขึ้น 2 ไมโครกรัมที่ต่ออากาศหนึ่งลูกบาศก์เมตร ต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับความเสี่ยงเกิดขึ้นจากการสูดดมเอาไนโตรเจนออกไซด์และไนโตรเจนไดออกไซด์ สารพิษที่เกิดขึ้นจากท่อไอเสียรถยนต์

ขณะที่ รีเบกกา เอเดลเมเยอร์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการมีส่วนร่วมทางวิทยาศาสตร์ของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's Association) กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามลพิษทางอากาศทำให้สมองเสื่อมได้อย่างไร

“มีสมมติฐานว่า เมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกายและแทรกซึมไปยังระบบไหลเวียนโลหิต และอาจไปกระตุ้นบางส่วนของสมอง”

นักวิทยาศาสตร์บางส่วน สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับการอักเสบเรื้อรังในร่างกาย หรือมีการสะสมของบีตา แอมีลอยด์ (Amyloid beta)ในสมอง เนื่องจากสมองของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มักมีระดับของบีตา แอมีลอยด์ผิดปกติ จับตัวกันเป็นก้อนทำลายเซลล์ประสาทและการทำงานของเซลล์

"ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ตลอดชีวิตของเราต้องพบกับปัจจัยหลายอย่าง รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อม" เอเดลเมเยอร์กล่าว

ฝุ่น PM 2.5 มักมาจากสถานที่ก่อสร้าง ถนนที่ไม่ได้ลาดยาง ปล่องควัน และไฟป่า หรือปฏิกิริยาทางเคมีที่ซับซ้อนจากสารมลพิษที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม รถยนต์ และรถบรรทุก

"ประชาชนไม่สามารถควบคุมคุณภาพอากาศที่ใช้หายใจได้ด้วยตนเอง ทุกคนต้องทนใช้อากาศที่เป็นพิษ และต้องเสี่ยงกับภาวะสมองเสื่อม ทั้ง ๆ ที่ใช้ชีวิตอย่างดี และดูแลสุขภาพ" คริสตินา พราเธอร์ ผู้อำนวยการคลินิกของสถาบันสุขภาพสมองและภาวะสมองเสื่อมแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ The Washington Post

ยิ่งไปกว่านั้น สารมลพิษเหล่านี้ยังทำร้ายประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคหัวใจหรือโรคปอด ตลอดจนย่านที่มีรายได้น้อยและชุมชนผิวสี ซึ่งมักอยู่ในเขตอุตสาหกรรมก่อมลพิษทางอากาศ

“ความเหลื่อมล้ำ คุณภาพชีวิต และภาวะสมองเสื่อม เป็นสิ่งที่เกี่ยวโยงกันอย่างแน่นอน” พราเธอร์กล่าวสรุป

 

  • โรคอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกับมลพิษทางอากาศ

ตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาวิกฤติค่าฝุ่น PM 2.5 กลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ทำให้เหล่านักวิจัยต่างทำการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดขึ้นจากมลพิษทางอากาศ จากรายงานเดือนมิ.ย. 2565 จาก Health Effects สถาบัน​​วิจัยผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ พบว่าละอองฝุ่นขนาดเล็กมีความเชื่อมโยงกับโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ปัญหาระบบไหลเวียนโลหิต การเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้น โรคหอบหืดในเด็กแย่ลง และ โรคเบาหวาน 

ขณะที่ เด็กเล็กต้องเผชิญกับปัญหาทางสุขภาพมากมาย ทั้งน้ำหนักแรกเกิดลดลง มีความบกพร่องทางสติปัญญา ความพิการแต่กำเนิด และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

เมื่อเราไม่สามารถแก้ไขสภาพอากาศที่ย่ำแย่ได้ด้วยตัวเราเอง จะหวังพึ่งให้ใครมาช่วยแก้ปัญหาในเร็ววันนี้ก็คงเป็นเรื่องยาก เพราะต้องอาศัยความร่วมมือของคนทั้งโรค ดังนั้นอะไรที่เราสามารถทำได้ก็ควรทำไปก่อน เริ่มง่าย ๆ ด้วยการงดออกนอกบ้าน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง อาทิ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว หากจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ให้สวมหน้ากากอนามัย N95 หรือ หน้ากากที่กรองละอองฝุ่น PM 2.5 ได้ หรือหากไม่มี สามารถใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ใส่ซ้อน 2 ชั้น ซึ่งแม้ไม่ได้คุณภาพเทียบเท่าแต่พอทดแทนได้ เพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของตัวเราเอง

 

ที่มา: Washington Post, Weather