WHO เผย "PM 2.5 - โลกร้อน - โรคร่วม" ทำผู้ป่วยโรคหืด กลับมามีอาการหอบรุนแรง

WHO เผย "PM 2.5 - โลกร้อน - โรคร่วม" ทำผู้ป่วยโรคหืด กลับมามีอาการหอบรุนแรง

WHO เผย "PM 2.5 - โลกร้อน - โรคร่วม" ทำผู้ป่วยโรคหืด กลับมามีอาการหอบรุนแรง ยอดหามส่งโรงพยาบาลพุ่ง แนะนอกจากใช้ยาอย่างถูกวิธีแล้ว ต้องเช็กคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน เลี่ยงปัจจัยกระตุ้นร่วมด้วย

24 มีนาคม 2566 งานแถลงข่าวสถานการณ์ โรคหืด ในงานประชุมวิชาการประจำปี 2566 สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีนายแพทย์สุรชัย โชคครรชิตไชย ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาโรคไม่ติดต่อ เป็นประธานในพิธี และศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิง อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับ

ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิง อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ล่าสุดในปี 2020 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากอาการของโรคหืด 4,182 รายต่อปี คิดเป็นวันละ 11-12 ราย หรืออัตรา 3.93 ต่อประชากร 1 แสนคน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการไม่ได้พ่นยาควบคุมการรักษาอย่างต่อเนื่อง และเวลามีอาการกำเริบก็จะพ่นยาไม่ทันหรือไม่ถูกวิธี ประกอบกับ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ ภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ละอองเกสรและเชื้อราเพิ่มขึ้น และยังส่งผลให้เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี มีอาการหอบเร็วขึ้นและนอนโรงพยาบาลพุ่งขึ้นถึง 15% อีกทั้งยังพบทุกๆ ค่า PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรจะเพิ่มการหอบกำเริบ 0.2 ครั้ง ดังนั้นในผู้ป่วยโรคหืด นอกจากพ่นยาสม่ำเสมอแล้ว การตรวจวัดดัชนีคุณภาพอากาศทุกวันในผู้ป่วยโรคหืดก่อนออกจากบ้านถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ทำให้ในปีนี้ทางสมาคมฯ ร่วมมือกับทีมผู้ดูแลโรคระบบทางเดินหายใจในบริการปฐมภูมิ ภายใต้ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ตามแนวทางการรักษาโรคหืดสำหรับผู้ใหญ่ ผนึกกำลังในการรับมือกับสถานการณ์โรคหืดที่รุนแรงขึ้นในไทย

WHO เผย \"PM 2.5 - โลกร้อน - โรคร่วม\" ทำผู้ป่วยโรคหืด กลับมามีอาการหอบรุนแรง

"สมาคมสภาองค์กรโรคหืดฯ ถือเป็นผู้นำในระดับแนวหน้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านการสนับสนุนและพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วย โรคหืด และพัฒนาแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคหืดสำหรับผู้ใหญ่ในประเทศไทยต่อเนื่องทุกปี ถือเป็นไกด์ไลน์ที่มีเนื้อหาสั้น กระชับ ทำให้แพทย์ทั่วไปก็สามารถนำไปเป็นแนวทางเวชปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยได้จริง ซึ่งสามารถนำแนวทางการรักษาดังกล่าวไปใช้ในการพิจารณาดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดในผู้ใหญ่ได้ง่ายและทันกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศและมลภาวะในปัจจุบัน และยังได้รับการยอมรับจากวารสารทางการแพทย์ระดับนานาชาติในปีที่ผ่านมา" ศ.ดร.อรพรรณ กล่าว

อาจารย์นายแพทย์ธิติวัฒน์ ศรีประสาธน์ ประธานวิจัยฯ สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการมีส่วนร่วมในงานวิจัยนานาชาติล่าสุด ด้วยความร่วมมือระหว่าง 7 สถาบันทางการแพทย์ เตรียมนำเสนอผลงานวิจัยที่งานประชุมนานาชาติ American Thoracic Society ณ เมือง Washington DC ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเดือนพฤษภาคม 2566 นี้ พบกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคหืดจำนวน 600 ราย มีกว่า 458 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 80 มีอาการของโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบในผู้ป่วยโรคหืด และพบด้วยว่า ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบ ซึ่งโรคดังกล่าวถือเป็นสาเหตุที่สำคัญต่อการไม่สามารถควบคุมโรคหืดได้ และยังมีภาวะโรคร่วมอื่นๆ ที่สามารถพบได้บ่อย เช่น โรคภาวะกรดไหลย้อน ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ และภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย

WHO เผย \"PM 2.5 - โลกร้อน - โรคร่วม\" ทำผู้ป่วยโรคหืด กลับมามีอาการหอบรุนแรง

อาจารย์นายแพทย์ธเนศ แก่นสาร ตัวแทนกลุ่มทีมผู้ดูแลโรคระบบทางเดินหายใจในบริการปฐมภูมิ ภายใต้ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย เผยข้อมูลรายงานผลการจัดตั้งเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังกว่า 14 ปี ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยต้องมานอนที่โรงพยาบาลลงกว่า 17,585 ครั้ง หรือร้อยละ 25.9 แต่ยังมีปัญหาผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ชี้เป็นความท้าทายใหม่ที่ต้องช่วยทำให้อีกร้อยละ 70 เข้าถึงการรักษาให้ได้ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายควบคุม โรคหืด ได้และมีอัตราเข้ารักษาในโรงพยาบาลเข้าใกล้ศูนย์ กลุ่มทีมผู้ดูแลโรคระบบทางเดินหายใจในบริการปฐมภูมิได้กำหนดทิศทางของทีม เพื่อกระจายให้องค์ความรู้แก่แพทย์ทั่วไปและทีมสหสาขาวิชาชีพ ให้สามารถให้บริการการรักษาให้ได้มาตรฐานและจัดอบรมให้ความรู้ในรูปแบบออนไลน์ หวังจะเป็นภาคีเครือข่ายเพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคหืดที่รุนแรงขึ้นในประเทศไทย ท่ามกลางภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและมลภาวะในปัจจุบัน

WHO เผย \"PM 2.5 - โลกร้อน - โรคร่วม\" ทำผู้ป่วยโรคหืด กลับมามีอาการหอบรุนแรง